เช็กก่อนเที่ยว! ญี่ปุ่นเปิดราคา "ค่าธรรมเนียม" ขึ้นภูเขาไฟฟูจิ หวังจำกัดจำนวน นทท.
เริ่มแล้ว! เตรียมเงินให้พร้อม ญี่ปุ่นเก็บค่าธรรมเนียมขึ้นภูเขาไฟฟูจิ หวังจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว
เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลพื้นที่ภูเขาไฟฟูจิ ของญี่ปุ่น เริ่มเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการปืนเขาอันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่รู้จักไปทั่วโลกในปีนี้ เพื่อหวังจำกัดจำนวนนักปืนเขาไม่ให้เกิดภาวะนักท่องเที่ยวล้นหลามเกินเหตุ
เมื่อ 03.00 น. ของวันที่ 1 กรกฏาคม 2567 ตามเวลาในญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่เปิดประตูทางขึ้นยอดภูเขาไฟฟูจิที่สถานีพักที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดกึ่งกลางของเส้นทางขึ้นเขาที่มีความสูง 3,776 เมตรนี้ ก่อนที่พระอาทิตย์แรกของฤดูกาลปืนเขาประจำปีจะปรากฎขึ้นที่ขอบฟ้าเมื่อเวลา 04.29 น.
พร้อม ๆ กันนี้ นักท่องเที่ยวที่มุ่งหน้ามาปีนภูเขาไฟชื่อดังลูกนี้ต้องควักเงินจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นจำนวน 2,000 เยน (ราว 12 ดอลลาร์) เป็นครั้งแรกที่มาพร้อมกับนโยบายควบคุมจำนวนนักปีนเขาไม่ให้เกิน 4,000 คนต่อวัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะล้น มลพิษต่าง ๆ และความหนาแน่นของผู้คนบนเส้นทางขึ้นเขาที่นำมาซึ่งคำร้องเรียนมากมายในปีที่แล้ว
ค่าเงินเยนที่อ่อนตัวถึงระดับต่ำสุดในรอบ 38 ปีทำให้ญี่ปุ่นกลายมาเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวอันยากจะปฏิเสธของนักเดินทางทั่วโลกในเวลานี้
ขณะที่ การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวช่วยเพิ่มรายได้ให้กับญี่ปุ่นสูงจนทำสถิติใหม่ สถานการณ์นี้กลับสร้างภาวะตึงเครียดให้กับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้ง ความเครียดของชาวบ้านตามจุดท่องเที่ยวทั้งหลายด้วย
- รู้หรือไม่? ทำไมที่พักในญี่ปุ่น ทุกห้องต้องมี “ไฟฉาย” อยู่ในตำแหน่งที่สะดุดตาเสมอ
- คนไทยก็ควรทำ! คนญี่ปุ่นไขข้อข้องใจ เรียงขวดน้ำหน้าบ้าน ทำเพื่อป้องกันอะไร?
ก่อนหน้านี้ หน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ภูเขาไฟฟูจิเพิ่งติดตั้งแผงกั้นสูงเหนือร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมมาแวะถ่ายภาพภูเขาไฟลูกนี้จนเกิดความหนาแน่นวุ่นวายของการจราจรในพื้นที่อย่างหนัก เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเบ็ดเสร็จ
ในปีนี้ ฤดูกาลปีนภูเขาไฟฟูจิซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดยามานาชิและจังหวัดชิซูโอกะ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมไปจนถึงวันที่ 10 กันยายน ก่อนที่สภาพอากาศบนเขาจะหนาวและเริ่มมีหิมะตก
กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นเปิดเผยว่า จำนวนนักปีนเขาในปีที่แล้วกลับคืนสู่ระดับเดียวกับเมื่อก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แล้ว ซึ่งก็คือราว 300,000 คนต่อปี