เฉลย ทำไมสั่งจับตาย "นกยูงอินเดีย-นกยูงพันธุ์ผสม" ในป่าห้วยขาแข้ง โหดร้ายไปไหม?

เฉลย ทำไมสั่งจับตาย "นกยูงอินเดีย-นกยูงพันธุ์ผสม" ในป่าห้วยขาแข้ง โหดร้ายไปไหม?

เฉลย ทำไมสั่งจับตาย "นกยูงอินเดีย-นกยูงพันธุ์ผสม" ในป่าห้วยขาแข้ง โหดร้ายไปไหม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เฉลย ทำไมต้องฆ่า "นกยูงอินเดีย-นกยูงพันธุ์ผสม" ในป่าห้วยขาแข้ง โหดร้ายไปไหม ล่าสุดพบซากขน คาดถูกสัตว์อื่นล่า

จากกรณีมีช่างภาพถ่ายภาพนกยูงอินเดียสีขาว และนกยูงพันธุ์ผสม เดินอยู่ในพื้นที่ป่าบริเวณหอดูสัตว์หอนกยูงบริเวณโป่งช้างเผือกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงสั่งการให้ นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จับนกยูงดังกล่าวออกมาให้หมด ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2567

เพราะหากไปผสมพันธุ์กับนกยูงไทยในป่าห้วยขาแข้งแล้ว จะทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ หรือเป็นนกยูงไฮบริด ที่จะมียีนด้อย สุขภาพไม่ดี และอายุสั้น เมื่อขยายพันธุ์ออกไปมากๆ จะทำให้นกยูงพันธุ์ไทยในห้วยขาแข้ง ที่มีน้อยอยู่แล้วสูญพันธุ์ไปในที่สุด ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

ทางด้าน นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ นักดูนก นักอนุรักษ์ และนักสื่อสารเรื่องราวจากธรรมชาติ ได้เขียนอธิบายเรื่องนี้ว่า

เรื่องนกยูงอินเดีย นกยูงเผือก หลุดเข้าไปอาศัยปะปนกับประชากร นกยูงไทยแท้ ที่ห้วยขาแข้งอันจะเป็นเหตุให้ มีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมจนนกยูงไทยแท้เสี่ยงสูญพันธุ์

คนไทยบางคน ยังบอกว่า "มันเป็นเรื่องธรรมชาติ” “ไม่ต่างกับชาวต่างชาติ มาเมืองไทยแต่งงานกับคนไทย มีลูกครึ่ง”

เฮ้อ คุณครับ ตอนเรียนชีวะ นี่ไม่สนใจเรียน กันหรือเปล่า คนน่ะ ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน ก็คือ Homo sapiens มันคือ species เดียวกัน

ส่วนนกยูงไทย Pavo muticus กับ นกยูงอินเดีย Pavo cristatus มันคนละ species กัน ประชากรของบรรพบุรุษนกยูงทั้งสองชนิด ต่างคนต่างอยู่ ถิ่นอาศัยแยกจากกันด้วยปราการทางธรรมชาติ เวลาผ่านไปนานหลายล้านปี จึงแยกสายวิวัฒนาการกัน จนเกิดเป็นพันธุ์ใหม่ 2 ชนิด เพื่อเหมาะสม กับถิ่นอาศัย ระบบนิเวศที่แตกต่างกัน การแยกสายพันธุ์ของมัน มีเหตุผล มีที่มาที่ไป

และถ้าจะเถียงว่า สมัยโบราณ Homo neanderthalensis  ก็เคยผสมข้ามพันธุ์กับ Homo sapiens (เอาจริงๆ มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล นี้ก็อาจเพียง subspecies ของ H.sapiens)

ปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นตามการเคลื่อนตัว อพยพของประชากร ที่ขอบเขตการกระจายของประชากร ทั้งสอง ไม่ใช่มีคนเอาอีกพันธุ์มาหย่อนใจกลางประชากร แบบที่มนุษย์เราทำกับ สัตว์ alien หลายชนิด จนเกิดความวุ่นวายทางนิเวศ โดยมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย

ปัจจุบัน นกยูงไทย มีสถานภาพระดับโลก ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ในขณะที่นกยูงอินเดีย ประชากรยังมีอยู่ดาษดื่น ยังไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด เราจะปล่อยให้ สถานการณ์นกยูงไทย ย่ำแย่ไปกว่านี้อีกเหรอครับ

ปล. ขอขอบคุณทาง จนท. กรมอุทยานฯ ที่ตระหนักความสำคัญของปัญหานี้ตั้งแต่ทราบข่าว และพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่

เจอซากขนนกยูงอินเดียสีขาว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ก.ค.67 นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เปิดเผยว่ากรณีช่างภาพถ่ายภาพนกยูงอินเดียและนกยูงพันธุ์ผสมได้ที่บริเวณหอดูสัตว์หอนกยูงบริเวณโป่งช้างเผือกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นการรายงานต่อเนื่องนั้น

ตามที่ ขสป.ห้วยขาแข้งได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการป่าไม้และสัตว์ป่าจำนวน 4 คน และเจ้าหน้าที่จุดสกัดที่ 006 โป่งช้างเผือกจำนวน 2 คน เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนหน่วยพิทักษ์ป่าวังไผ่ เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนหน่วยพิทักษ์ป่ายางแดง เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รวมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจำนวน 20 คน ดำเนินการค้นหานกยูงดังกล่าวพร้อมทั้งโรยอาหารบริเวณเส้นทางหากินและวางกรงดักเพื่อดักจับ นั้น

จากการซุ่มสังเกตการณ์บนหอดูสัตว์หอนกยูงบริเวณโป่งช้างเผือก พบว่า

1.ไม่พบนกยูงตัวสีเขียวที่คาดว่าเป็นพันธุ์ผสมตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2567
2. ไม่พบนกยูงอินเดียสีขาวตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2567
3. เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนได้เดินสำรวจบริเวณใกล้เคียงเพื่อค้นหานกยูงทั้ง 2 ตัว ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนพบเศษขนของนกยูงอินเดียสีขาวพร้อมทั้งมีรอยเลือดแต่ไม่พบซากนกยูงตัวดังกล่าว คาดว่าอาจถูกทำร้ายหรือกินโดยสัตว์ผู้ล่าไม่ทราบชนิด เนื่องจากขณะที่เจ้าหน้าที่สังเกตเห็นนกยูงอินเดียตัวสีขาวนั้น มีลักษณะไม่ค่อยระวังตัวเท่านกยูงไทยจึงอาจตกเป็นเหยื่อของสัตว์ผู้ล่าได้ง่าย

ส่วนแผนการดำเนินงานต่อจากนี้

1.เจ้าหน้าที่จะทำการเก็บกรงดักเนื่องจากพบว่ามีโขลงช้างป่าเข้ามาหากินใกล้เคียงพื้นที่ตั้งกรง
2.ในส่วนของนกยูงที่คาดว่าเป็นลูกผสมนั้นจะดำเนินการเพิ่มจุดตั้งกล้องดักถ่ายภาพให้มากขึ้นรวมถึงการเดินเท้าเพื่อตรวจสอบและค้นหาต่อไป

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เรื่องนี้มีความสำคัญในแง่การเปลี่ยนแปลงทางด้านระบบนิเวศอย่างใหญ่หลวงมาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้มีการเสนอมาว่า หากจับไม่ได้ ก็ควรทำการการุณยฆาต หรือฆ่าทิ้งไปเสียเลย ซึ่งในหลายประเทศก็ทำกันเช่นนี้ แม้ไม่ได้อยากทำแต่ต้องคิดถึงผลเสียที่จะตามมาก่อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook