ไม่ใช่แค่มนุษย์! นักวิทย์พบ "มด" สามารถผ่าตัดช่วยชีวิตมดตัวอื่นได้ด้วย
นักวิจัยพบ "มด" บางสายพันธุ์รู้จัก "การผ่าตัด" ช่วยชีวิตมดตัวอื่น นับเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ไม่ใช่มนุษย์ที่รู้จักการรักษาแบบนี้
"การผ่าตัด" หรือ "ตัดอวัยวะ" เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากมนุษย์แล้ว ยังมีสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งที่รู้จักการรักษาด้วยการผ่าตัดและตัดอวัยวะ นั่นคือ "มด"
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า มดช่างไม้ฟลอริดา (Camponotus floridanus) มีพฤติกรรมการผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนฝูง ทำให้พวกมันเป็นสัตว์ชนิดที่สองในโลกที่รู้จักวิธีการรักษาแบบนี้
นักวิจัยพบว่า มดช่างไม้ฟลอริดา สามารถระบุบาดแผลที่แขนขาของเพื่อนร่วมรัง จากนั้นจึงรักษาด้วยการทำความสะอาดแผลหรือตัดขาออก
เอริก แฟรงก์ นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรม มหาวิทยาลัยวูร์ซบวร์กในเยอรมนี หนึ่งในทีมวิจัยผู้ค้นพบเรื่องนี้ กล่าวว่า "เมื่อเราพูดถึงพฤติกรรมการตัดแขนขา นี่เป็นกรณีเดียวเท่านั้นที่เราพบการตัดแขนขาที่ซับซ้อนและเป็นระบบโดยสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นในอาณาจักรสัตว์"
ในปี 2023 ทีมวิจัยของ แฟรงก์ เคยค้นพบว่า มดมาตาเบเล (Megaponera analis) ในแอฟริกา สามารถรักษาบาดแผลที่ติดเชื้อให้เพื่อนได้ ด้วยการสร้างสารต้านจุลชีพในต่อมของพวกมัน
แต่ มดช่างไม้ฟลอริดา ไม่มีต่อมแบบเดียวกันนั้น ทีมวิจัยจึงต้องการค้นหาว่า มดชนิดนี้จัดการกับบาดแผลของสมาชิกในอาณานิคมได้อย่างไร? โดยนักวิจัยได้ศึกษาบาดแผลที่ขา 2 ประเภท ได้แก่ บาดแผลที่กระดูกโคนขา (ต้นขา) และบาดแผลที่ส่วนล่างของกระดูกหน้าแข้ง
ในการทดลอง พวกเขาสังเกตเห็นว่า มดช่างไม้ฟลอริดา รักษาอาการบาดเจ็บที่โคนขาของเพื่อนด้วยการทำความสะอาดบาดแผลด้วยปาก ก่อนที่จะตัดขาด้วยการกัดซ้ำๆ ส่วนบาดแผลกระดูกหน้าแข้งได้รับการรักษาด้วยการทำความสะอาดเพียงอย่างเดียว
การผ่าตัดด้วยการตัดขาส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตของมดที่เจ็บสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราการรอดชีวิตของมดซึ่งบาดเจ็บที่โคนขาเพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 40% เป็น 90-95% เมื่อทำการตัดขา ขณะที่อัตราการรอดชีวิตจากการบาดเจ็บที่กระดูกหน้าแข้งเพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 75% หลังการทำความสะอาด
นักวิทยาศาสตร์พบว่า มดช่างไม้ฟลอริดา จะรักษาด้วยการตัดขาเฉพาะเมื่อมีอาการบาดเจ็บที่โคนขาเท่านั้น ส่วนอาการบาดเจ็บที่ขาส่วนอื่นจะไม่มีการผ่าตัด ทั้งนี้ การตัดขามดต้องใช้เวลาอย่างน้อย 40 นาทีจึงจะเสร็จสมบูรณ์
หลังจากศึกษาการสแกนมดแบบ micro-CT นักวิจัยคาดการณ์ว่า การบาดเจ็บที่โคนขาทำให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อสูบฉีดเลือด ทำให้การไหลเวียนโลหิตช้าลง ซึ่งหมายความว่าเลือดที่เต็มไปด้วยแบคทีเรียจะใช้เวลาในการเข้าสู่ร่างกายนานขึ้น ทำให้มดมีเวลาพอที่จะตัดขาออกได้ทัน
ในขณะเดียวกัน กระดูกหน้าแข้งของมดมีเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อค่อนข้างน้อย ดังนั้น การติดเชื้อจึงสามารถแพร่กระจายได้เร็วขึ้น ซึ่งหมายความว่าการตัดขาอาจใช้เวลานานเกินไปสำหรับมดที่จะหยุดการแพร่กระจายของแบคทีเรียที่เป็นอันตราย มดจึงมุ่งเน้นไปที่การทำความสะอาดแผลแทน
"มดสามารถวินิจฉัยบาดแผล ดูว่ามันติดเชื้อหรือไม่ และรักษาตามลักษณะที่พบ ถือเป็นระบบการแพทย์ที่สามารถแข่งขันกับมนุษย์ได้" แฟรงก์ กล่าว
นักวิจัยกล่าวว่า ความสามารถของมดในการระบุและรักษาบาดแผลตามผลการวินิจฉัยนั้นมีมาแต่กำเนิด และยังไม่พบหลักฐานว่าพวกมันเรียนรู้เรื่องนี้มาจากไหน
ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์กำลังขยายการวิจัยไปยังมดสายพันธุ์อื่นๆที่ไม่มีต่อมต้านจุลชีพพิเศษ เพื่อดูว่ามดเหล่านั้นมีความสามารถในการผ่าตัดช่วยชีวิตหรือไม่