“Pink Power Up Business Forum” ก้าวแรกของไทยสู่ศูนย์กลาง Pink Economy โลก

“Pink Power Up Business Forum” ก้าวแรกของไทยสู่ศูนย์กลาง Pink Economy โลก

“Pink Power Up Business Forum” ก้าวแรกของไทยสู่ศูนย์กลาง Pink Economy โลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ภาครัฐสามารถสนับสนุน Pink Economy ได้ผ่านการสร้างระบบนิเวศ รวมไปถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับ LGBTQIA2S+ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่คนกลุ่มนี้
  • นอกจากนี้ภาคองค์กรและภาคการศึกษยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนา Pink Economy ให้ไปก้าวหน้าไปได้ ผ่านการสนับสนุน LGBTQIA2S+ ในองค์กรและสถานศึกษา
  • เปิดผลการสำรวจเกี่ยวกับระบบนิเวศ Pink Tech ครั้งแรกในประเทศไทย 
  • เปิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับ Pink Economy ทั้งในด้านครอบครัวและสุขภาพ, ด้านประกันภัยและ PinkFinTech, ด้านการท่องเที่ยวและเทศกาล, ด้านความบันเทิง

 

เมื่อวันที่ 27-28 มิถุนายน ที่ผ่านมา บริษัท Canvas Ventures International บริษัทร่วมลงทุนรุ่นใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยสู่เวทีโลก ได้จัดงาน ‘Pink Power Up Business Forum’ ณ Glowfish Sathorn 

งานนี้เป็นงานประชุมแรกที่เจาะลึกประเด็น ‘Pink Economy’ หรือ ‘เศรษฐกิจสีชมพู’ ภายในงานได้มีกิจกรรมและการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากคนในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งเทคโนโลยี สุขภาพ การท่องเที่ยว การศึกษา และสื่อบันเทิง เรียกได้ว่าจัดเต็มทุกประเด็นเกี่ยวกับ Pink Economy ในตลอดทั้งสองวัน

วันนี้ทีมข่าว Sanook จึงไม่พลาดเก็บภาพบรรยากาศและไฮไลท์ของงานมาฝากทุกคนกัน จะมีประเด็นไหนน่าสนใจบ้าง ไปดูกันเลย

ภาครัฐกับการสนับสนุน Pink Economy

สำหรับงาน ‘Pink Power Up Business Forum’ ในวันแรกได้มีการอภิปรายในหัวข้อ “Beyond Marriage: Public Policy Priorities for LGBTQIA2S+ Economic Empowerment” ซึ่งเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับ “ทิศทางของ Pink Economy หลังสมรสเท่าเทียมผ่านแล้วจะไปทางไหน และรัฐสามารถช่วยผลักดันเศรษฐกิจของชุมชน  LGBTQIA2S+ ได้อย่างไรบ้าง”

ในหัวข้อนี้ได้มีตัวแทนจาก 3 พรรคการเมืองดังเข้าร่วมอภิปราย ได้แก่ ชาย ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล จากพรรคก้าวไกล, เบสท์ ทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล จากพรรคไทยสร้างไทย และกังฟู  วสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคไทยร่วมพลัง

สำหรับแนวทางการพัฒนา PinkTech หรือ ธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน LGBTQIA2S+  ทั้งสามเน้นย้ำว่าการที่ PinkTech ของประเทศไทยจะสามารถก้าวได้เทียบเท่ากับทั่วโลก สิ่งที่รัฐสามารถเข้ามาผลักดันได้คือ “การสร้างรากฐานให้คนในสังคมมีความเข้าใจถึงสิทธิที่ควรได้รับของ LGBTQIA2S+ รวมไปถึงควรมีนโยบายที่ผลักดันความเท่าเทียมให้แก่กลุ่มหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่โบกธงสีรุ้ง ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ LGBTQIA2S+ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถดึงดูดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของชุมชน  LGBTQIA2S+ ได้ต่อไป” 

ดร.ชาย ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล ได้เสริมถึงแนวทางที่รัฐจะสร้างเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ Pink Economy ว่าควรสร้างระบบนิเวศที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน LGBTQIA2S+ โดยแนะนำว่า “ควรทราบว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเขาต้องการอยู่ในสังคมแบบไหน ในทางกายภาพกทม.อาจสร้างย่านที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยผ่านการทำความเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้ต้องการบ้านเมืองแบบไหน รวมไปถึงต้องปรับปรุงทัศนคติของคนในสังคมทั้งผู้ให้บริการไปจนถึงคนในกรุงเทพเอง ให้เข้าใจและเปิดรับ LGBTQIA2S+ ที่จะเข้ามา

นอกจากในการอภิปรายครั้งนี้แล้ว Sanook ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้ก่อตั้ง Canvas Ventures เกี่ยวกับศักยภาพและแนวทางที่รัฐจะสามารถส่งเสริม Pink Economy ได้อย่างไรบ้าง โดยอ.พันธุ์อาจ เห็นสอดคล้องกับตัวแทนพรรคการเมืองทั้งสาม ว่ารัฐควรเข้ามาสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ให้ความรู้และร่วมมือกับทุกภาคส่วน สร้างระบบนิเวศที่ทำให้คนหลากหลายทางเพศได้เติบโตในฐานะคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยต้องไม่ผลักดันเพียงแค่การเดินพาเหรด แต่รัฐควรผลักดันในทุก ๆ มิติไม่ว่าจะด้านการสร้างครอบครัว หรือธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ที่จะมารองรับความต้องการของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ 

“ในประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีความอดทนอดกลั้นสูงในเรื่องของเพศสภาพ ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นเรื่องของครอบครัวของเราเอง เพราะฉะนั้นในมุมหนึ่งมันก็ทำให้ภาพเป็นแบบสังคมที่ยืดหยุ่นสูง จนกรุงเทพก็ถูกมองว่าเป็นเมืองหลวงของ LGBTQ และก็บวกกับ กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เพิ่งผ่านไป มันก็อาจจะทำให้เรารู้สึกว่ามันก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรแล้ว แต่จริง ๆ จะเห็นได้ว่ามิติด้านเศรษฐกิจ เราไม่ค่อยคุยกันเท่าไหร่ การที่มี Pink Economy คือการบอกว่าทุกคนเท่ากันหมด แต่ตอนนี้เหมือนเราทำสินค้าที่เหมาะกับคนกลุ่มนี้แต่ยังไม่ได้เข้าใจถึงความต้องการจริง ๆ ทั้งหมด ทำให้เกิดเป็นที่มาของ Rainbow Washing และหากเมืองไทยทำต่อไปเรื่อย ๆ ไม่สร้างให้เป็นระบบนิเวศที่เราเรียกว่า Pink Economy ไม่ทำธุรกิจสตาร์ทอัพที่รองรับสิ่งนี้ในสเกลที่ใหญ่กว่า กรุงเทพก็จะเสียโอกาสที่จะเป็นเมืองหลวงในการลงทุนและธุรกิจด้าน LGBTQ อย่างเป็นระบบในเอเชียและระดับโลก

อ.พันธุ์อาจ ยังอธิบายต่ออีกว่า พาเหรดเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีชมพู อย่างไรก็ตามถ้าเราทำเรื่องของพาเหรดแต่ไม่ทำระบบนิเวศ ไม่ทำเรื่องธุรกิจ มันจะกลายเป็นว่าเรามีพาเหรดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว หมดเดือนปุ๊บก็ไปทำเรื่องอื่นต่อละ ซึ่งมันไม่ใช่ การพัฒนาเศรษฐกิจต้องเป็นการสร้างระบบนิเวศ เช่น ในเรื่องสังคมวัยวุฒิที่ก็ควรมีการทำเศรษฐกิจสูงวัยสำหรับกลุ่ม LGBTQIA2S+ ด้วย ดังนั้นรัฐควรเปิดโอกาสให้มี Sandbox สร้างความเข้าใจต่อเศรษฐกิจสีชมพูที่เรายังไม่คุ้นเคย โดยต้องไม่นำไปสู่ Rainbow Washing ไม่นำไปสู่การละเมิดสิทธิ และเปิดโอกาสให้เกิดระบบนิเวศจริงๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การเดินพาเหรด

 

ความหลากหลายนำไทยสู่ผู้นำ Pink Economy 

สำหรับการที่จะส่งเสริมให้ Pink Economy ไทยก้าวหน้าไปสู่ระดับโลก ไม่ได้มีเพียงแค่ภาครัฐที่สามารถผลักดันได้ แต่ในกลุ่มองค์กรเองก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน 

ในการอภิปรายหัวข้อ “Capitalizing on Diversity: Bangkok's Rise as a Global Pink Tech Investment Destination” โดยปริม จิตจรุงพร รองเลขาธิการและคณะกรรมการหอการค้าไทย, นฤศันส์ ธันวารชร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Innospace และ คณะกรรมการ TVCA และแชนน่อน กัลยาณมิตร นักลงทุนและอาจารย์เกี่ยวกับธุรกิจเทคโนโลยี   

ทั้งสามได้อธิบายถึงการที่องค์กรมีผู้หลากหลายทางเพศอยู่ในองค์กร จะทำให้องค์กรสามารถผลิตสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน LGBTQIA2S+ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด อีกทั้งยังได้ความเห็นในหลายมุมมองนอกจากความเห็นของ ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ อีกด้วย นี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ไทยสามารถก้าวเป็นผู้นำของ Pink Economy ได้อย่างเต็มตัว 

แล้วเราจะทำอย่างไรให้ดึงดูด LGBTQIA2S+ ที่มีศักยภาพเข้ามาทำงานกับองค์กร สำหรับคำถามนี้แก้ได้ง่าย ๆ เลยก็คือ องค์กรจะต้องมีนโยบายและแนวคิดที่จะส่งเสริมคนกลุ่มนี้ให้ได้รับความเท่าเทียม 

โดยในประเด็นนี้ได้ถูกขยายเพิ่มในหัวข้อการอภิปราย ‘LGBTQIA2S+ Inclusion in Corporate Culture: Best Practices and Challenges (DE&I)’ ซึ่งในหัวข้อนี้จะให้ตัวแทนจากบริษัทชั้นนำ เข้ามาแบ่งปันแนวทางการทำ DE&I ในบริษัทว่ามีลักษณะและเจอความท้าทายอย่างไรบ้าง โดยผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ ไมเคิล สิริกุล จากชายสี่ คอเปอเรชั่น, ธนิชพร วุฒิลักษณ์ จาก LINE MAN Wongnai และศุภลักษณ์ สุภากุล จาก Microsoft (Thailand) Limited

‘DE&I’ หรือที่ย่อมาจาก ‘Diversity, Equity & Inclusion’ เป็นกลยุทธ์บริหารบุคคลในองค์กร โดยมุ่งเน้นการทำความเข้าใจความแตกต่างของคนในองค์กร รวมถึงหาแนวทางในการสร้างนโยบายในองค์กรที่ให้ความเท่าเทียมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องเพศ แต่รวมไปถึงเชื้อชาติและความพิการอีกด้วย

ในการอภิปรายหัวข้อนี้ ตัวแทนจากแต่ละบริษัทได้เล่าถึงนโยบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบริษัทเพื่อเป็นตัวอย่าง โดยมีทั้งให้สิทธิลาผ่าตัดแปลงเพศ อีกทั้งกำหนดว่าไม่ว่าเพศใดก็สามารถลาไปแต่งงานได้ 

นอกจากด้านนโยบาย บริษัทต่าง ๆ ยังมีการสนับสนุนให้คนในองค์กรมีความเข้าใจในความแตกต่างอีกด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือของบริษัท Microsoft ที่จะมีคอร์ส DE&I ให้พนักงานเรียนทุก ๆ 3 เดือน ซึ่งหลังจากการเรียนจะมีการให้พนักงานทำแบบทดสอบว่าเข้าใจและมีความตระหนักรู้ถึงประเด็นนี้จริงหรือไม่ 

ในเรื่องของความท้าทายของ DE&I สำหรับองค์กรต่าง ๆ ทั้ง 3 เห็นตรงกันว่าคือ การที่จะทำอย่างไรให้ DE&I ในองค์กรเกิดขึ้นอย่างถาวร และมีประสิทธิภาพจริงๆ ซึ่งในเรื่องนี้องค์กรจะต้องกำหนดจุดประสงค์ก่อนว่าต้องการอะไร หากต้องการทำ DE&I เพียงเพราะเป็นกระแสคนอื่นเขาทำกัน หรือแค่เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรดูดี แต่ไม่ได้ต้องการทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ก็ไม่ควรทำ เพราะก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

ภาคการศึกษาผลักดัน Pink Economy ได้อย่างไร? 

ไม่เพียงแต่ภาครัฐและองค์กรที่สามารถส่งเสริม Pink Economy ได้ แต่ในสถานศึกษาที่เป็นสังคมแรกของเด็กทุกคน ก็สามารถช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจนี้ได้เช่นเดียวกัน 

ในการอภิปรายหัวข้อ “Navigating the Pink Lotus Paradox: Unleashing the Potential of Thailand's LGBTQ+ Vanguard in Academia, Research, and Entrepreneurship” เปิดให้อาจารย์และนักศึกษาเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า สถานศึกษาจะสามารถผลักดันเศรษฐกิจนี้ได้อย่างไร 

วราวุฑฒิ หมื่นยุทธิ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้เล่าถึงบทบาทของอาจารย์ในการผลักดัน Pink Economy ว่า ที่มหาลัยเองได้มีการจัดค่าย Pride Hackathon ในทุกเดือนมิถุนายน โดยค่ายนี้จะเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของ LGBTQIA2S+ ให้นักศึกษาได้เข้าร่วมสำรวจความต้องการของ LGBTQIA2S+ พร้อมทั้งนำเสนอนวัตกรรมที่จะมาแก้ไขและตอบสนองความต้องการนั้น

นอกจากนี้ในฐานะอาจารย์ก็หวังว่านักศึกษาจะเข้ามาพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวให้มากขึ้นเกี่ยวกับความต้องการในเรื่องต่าง ๆ เพื่อที่จะได้นำไปปรับและพัฒนาให้แก่นักศึกษาได้ 

 ในงานนี้เองก็ได้มีการสนับสนุน Pink Economy ในภาคการศึกษา โดยผู้จัดงาน Pink Power Up Business Forum เปิดโอกาสให้น้อง ๆ มหาลัยที่สนใจทำธุรกิจมา Pitching เสนอไอเดีย ผ่านกิจกรรม “University Pink Tech Challenge” ทั้งนี้เพื่อเป็นประสบการณ์ดี ๆ ให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยได้ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้นักศึกษาได้ต่อยอดกับนักลงทุนต่อไปได้อีกด้วย 

การเปิดผลการสำรวจเกี่ยวกับระบบนิเวศ Pink Economy  ในประเทศไทย

อีกหนึ่งไฮไลท์ของงานนี้คือ การเปิดเผยผลสำรวจความพร้อมของสตาร์ทอัพในประเทศไทยว่ามีความพร้อมสำหรับ Pink Economy หรือไม่ จัดทำขึ้นโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช จากสถาบันเอไอ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในไทยที่ได้มีการทำการสำรวจนี้ 

โดยผลสำรวจนี้เผยว่า ประเทศไทยเองเป็นประเทศที่ที่สังคมมีความค่อยข้างเปิดรับ LGBTQIA2S+ ทำให้มีแนวโน้มที่จะเติบโตในเศรษฐกิจสีชมพูได้ ทำให้มีกระแสในการทำธุรกิจประเภทนี้  

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ประเทศไทยยังขาดอยู่ก็คือ มีแต่คนมองเห็นโอกาสของประเทศไทยกับ Pink Economy แต่ไม่ใครเข้ามาเจาะลึกถึงความต้องการและหาวิธีแก้ปัญหาของ LGBTQIA2S+ อย่างจริงจัง อีกทั้งยังไม่ได้มี Business Model อย่างจริงจังว่าหากทำธุรกิจแบบนี้จะได้ผลตอบรับประมาณไหน จึงทำให้ยังเป็นตัวขัดโอกาสของธุรกิจสตาร์ทอัพที่จะเติบโตใน Pink Economy

4 โอกาสทางธุรกิจกับ Pink Economy

ด้านสุขภาพและครอบครัว

โอกาสในด้านสุขภาพและครอบครัว สำหรับ Pink Economy มีอยู่หลายโอกาสไม่ว่าจะในธุรกิจการผ่าตัดแปลงเพศ การเทคฮอร์โมน หรือการทำบ้านจัดสรรคที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์คู่รักเพศเดียวกัน อย่างไรก็ตามการที่โอกาสดังกล่าวจะสามารถมีได้ ก็ต้องเริ่มที่การมีรากฐานครอบครัวและสังคมที่สนับสนุนและเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงก่อน

ซึ่งงานประชุมครั้งนี้ได้มีการอภิปรายเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ในหัวข้อ “Healthcare & Familyhood: Building a Rainbow Family” ซึ่งมีผู้ร่วมอภิปรายเป็นคนในแวดวงสุขภาพและผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องเพศและครอบครัว ได้แก่ ผศ. ดร. นายแพทย์ปกรัฐ หังสสูต, ชวิศา เฉิน (เหวิน) และ จริญา พึ่งแพง  (แป้ง)

โดยแป้งและเหวิน ได้เน้นย้ำถึงเรื่องนี้ว่า การที่ครอบครัวสร้างรากฐานให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองต่อเพศที่ตัวเองเลือก และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากเด็กเป็นอนาคตของชาติที่จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบนี้ได้ ดังนั้นการสร้างครอบครัวสีรุ้ง หรือครอบครัวของกลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่ต้องโฟกัส

สำหรับภาพรวมของครอบครัวสีรุ้ง หลังสมรสเท่าเทียมจะมีความเปลี่ยนแปลงไหม เหวินได้อธิบายว่า คิดว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเพราะมันขัดกับบรรทัดฐานเดิมที่เคยมี จึงอาจทำให้มีคนที่พร้อมเปลี่ยนและไม่พร้อมเปลี่ยน อย่างไรก็ตามเธอเชื่อว่าเวลาและให้ความรู้จะสามารถทำให้สังคมยอมรับครอบครัว LGBTQ ได้อย่างแท้จริง 

ด้านประกันภัยและ PinkFinTech

ในหัวข้อ “Pink Insurance : Bangkok as a Rising Pink Economy: Finance, Investment, and Insurance Opportunities for the LGBTQ+ Community” โดยพญ.นวพร นะลิตา ผู้ก่อตั้ง Crypto City Connext, ธนะชัย กุลสมบูรณ์สินธ์  ผู้ร่วมก่อตั้ง Canvas Ventures Internationa และพิชาญเดช เข็มเพ็ชรผู้บริหารทีมพัฒนาศักยภาพที่ปรึกษาการเงิน เมืองไทยประกันชีวิต

เมื่อพูดถึงประกันกับคู่รัก LGBTQ ก่อนที่จะมีสมรสเท่าเทียมประกันภัยถือเป็นตัวที่มาอุดช่องโหว่งในเรื่องของสิทธิที่คู่รัก LGBTQ ไม่ได้รับ เช่น สามารถระบุให้คู่ชีวิตว่าได้เงินประกัน หากเสียชีวิต เป็นต้น เพราะในทางกฎหมายเมื่อก่อน หากเสียชีวิต และไม่มีพินัยกรรมคนที่จะได้รับทรัพย์สินไปจะเป็นครอบครัวหรือคู่สมรสเท่านั้น 

หลังจากที่สมรสเท่าเทียมผ่านแล้วชาญเดชเผยว่าภาพรวมของประกันชีวิตกับชุมชน LGBTQ จะชัดเจนขึ้น โดยจะมีเงื่อนไขการประกันเทียบเท่ากับคู่รักชายหญิง

นอกจากนี้พญ.นวพรยังเสริมว่าในอนาคตหากบริษัทประกันสามารถพัฒนาร่วมมือกับ FinTech ในการสร้าง Block Chain ที่สามารถส่งข้อมูลของผู้เอาประกันให้บริษัทได้ทันที ก็จะทำให้การเรียกขอเงินประกันเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและสะดวกกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น 

ด้านการท่องเที่ยวและเทศกาล

ในการอภิปรายหัวข้อ ‘Festival & Tourism - Pink Travel Power’ ที่มีผู้ร่วมอภิปรายจากแวดวงการท่องเที่ยวและการจัดงานเทศกาล ได้แก่ นาเทศ อันนวัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด, สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Local Alike และธงนครินทร์ สุขวัฒนชัยวงษ์ ผู้จัดงาน PRISM Festival 

สำหรับโอกาสในด้านธุรกิจการท่องเที่ยวและเทศกาลสำหรับประเทศไทยถือว่ามีโอกาสเติบโตได้สูง ด้วยความที่เดิมทีประเทศไทยนั้นมีความเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายทางเพศ อีกทั้งยังมีค่าครองชีพที่ไม่สูงหากเทียบกับประเทศอื่น ๆ จึงทำให้เราดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQIA2S+ ในต่างประเทศได้มาก

และคาดการณ์ว่าหลังจากที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยว LGBTQIA2S+ เข้ามาเที่ยวในบ้านเรามากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามตัวผู้ประกอบการเองต้องมีความเตรียมพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยต้องเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ รวมไปถึงสร้างสภาพแวดล้อมให้ที่ปลอดภัยสำหรับคนกลุ่มนี้อีกด้วย

ด้านความบันเทิง

ในหัวข้อ “Entertainment & Marketplace: The Pink Baht Revolution” อภิปรายโดย ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผอ. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA, มารุต สาโรวาท ผู้กำกับ  และ กัญญาจันทร์ สะสม ประธานและผู้ก่อตั้ง Hippocampus House and GENDERATION

สำหรับโอกาสในด้านความบันเทิงของไทยใน Pink Economy ถือว่ามีโอกาสที่สูงมาก เนื่องจากในประเทศไทยเองมีซีรีย์วายที่ค่อนข้างโด่งดังทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ผู้ลงทุนต่างหันมาสนใจในการทำซีรีย์วายมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามมีหนึ่งสิ่งที่กัญญาจันทร์ อยากฝากไว้ในฐานะของที่เป็นสื่อและเป็นคนในชุมชน LGBTQIA2S+ ด้วยว่า อยากให้นายทุน ผู้จัดและนักแสดงซีรีย์วาย ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้แก่ชุมชน LGBTQIA2S+ ขับเคลื่อนให้เกิดความเท่าเทียม และต้องไม่ลดทอนความหลากหลายทางเพศให้เป็นเพียงแค่คอนเทนต์ หรือเพียงแค่การตลาดเท่านั้น เนื่องจากในบางครั้งซีรีย์วายเองก็ส่งต่อความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQIA2S+ ให้กับคนในสังคมเห็น เช่น รุกต้องเป็นคนที่ตัวใหญ่กว่า หรือรับต้องตัวเล็กน่ารัก ซึ่งสิ่งนี้เองอาจสร้างความเจ็บปวดและเกิดความสงสัยในตัวเองให้แก่กลุ่ม LGBTQIA2S+ 

สรุป

หลังจากที่ได้เข้าร่วมงาน ‘Pink Power Up Business Forum’ ทำให้ได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ ของ Pink Economy ในหลากหลายมิติ ที่ไม่ได้คำนึงถึงแค่ผู้บริโภค LGBTQIA2S+ แต่ต้องใส่ใจถึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในองค์กรที่ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตสินค้าและบริการในเศรษฐกิจนี้

นอกจากนี้ได้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตในมิติที่ใหญ่กว่านี้ อย่างไรก็ตามยังขาดการสร้างให้เป็นระบบนิเวศ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมต้องมีช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น ผ่านการทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของ LGBTQIA2S+ และโอบรับหลากหลายทางเพศอย่างจริงใจ 

สำหรับใครที่มีความสนใจในเรื่อง Pink Economy สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ หรือ กดติดตาม Linkedin ของ Canvas Ventures International ไว้ เพื่อที่จะได้ไม่พลาดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้

อัลบั้มภาพ 32 ภาพ

อัลบั้มภาพ 32 ภาพ ของ “Pink Power Up Business Forum” ก้าวแรกของไทยสู่ศูนย์กลาง Pink Economy โลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook