รู้จัก “10 ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์” หายนะของระบบนิเวศ ห้ามนำเข้าไทย ไม่ได้มีแค่ปลาหมอคางสีดำ!
นอกจากปลาหมอคางสีดำ มีปลาอะไรอีกที่เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ รวมถึงเปิดความหมายเอเลี่ยนสปีชีส์ คืออะไร มีผลเสียอย่างไร ทำไมถึงห้ามนำเข้าไทย?
ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินชื่อ “ปลาหมอสีคางดำ”อยู่บ่อยครั้ง โดยปลาชนิดนี้ถูกระบุว่าเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” ซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้แก่ชาวประมงในหลายจังหวัด ทั้งทำลายระบบนิเวศทางน้ำ ขยายพันธุ์จนปลาท้องถิ่นหายไปจนหมด
ด้วยเหตุนี้ภาครัฐในหลายส่วน จึงได้มีการคิดมาตราการกำจัดปลาหมอคางสีดำ เช่น ห้ามไม่ให้นำเข้า หรือหากพบให้รีบแจ้งทางการทันที เป็นต้น
อย่างไรก็ตามทุกคนทราบหรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วในไทยไม่ได้มีแค่ปลาหมอคางสีดำ ที่รุกรานระบบนิเวศไทยนะ แต่ยังมีปลาจากต่างถิ่นอีกหลายชนิดที่ถูกเรียกให้เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ และห้ามไม่ให้นำเข้าอีกด้วย
วันนี้ Sanook จึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จัก “เอเลี่ยนสปีชีส์” ให้มากขึ้น ว่าคืออะไร มีผลเสียอย่างไร รวมไปถึงเปิดลิสปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ที่ห้ามนำเข้าในไทยอีกด้วย
เอเลี่ยนสปีชีส์ คืออะไร?
เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) เป็นคำที่ใช้เรียก สิ่งมีชีวิตที่มาจากต่างถิ่น ที่ถูกนำเข้ามาในถิ่นใหม่ ซึ่งเกิดการแพร่พันธุ์จำนวนมาก จนทำให้สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นนั้นกลายเป็น “ชนิดพันธุ์เด่น” ในสภาพแวดล้อมนั้น ซึ่งอาจสร้างความเสียหายและรุกรานสัตว์ในระบบนิเวศเดิมอย่างมาก
สำหรับเอเลี่ยนสปีชีส์ไม่ได้ใช้เรียกแค่ “ปลาที่มาจากต่างถิ่น” เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ปีก รวมไปถึงพืชบางชนิดอีกด้วย
เอเลี่ยนสปีชีส์ ทำลายระบบนิเวศอย่างไร?
ต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น “ทุกชนิด” จะสร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศเสมอไป บางชนิดก็สามารถอยู่รวมกับระบบนิเวศได้
อย่างไรก็ตาม “ส่วนใหญ่” เอเลี่ยนสปีชีส์ มักสร้างความปัญหาให้กับระบบนิเวศมากกว่าสร้างประโยชน์ โดยการเข้ามาของเอเลี่ยนสปีชีส์ทำให้สิ่งมีชีวิตในสภาพแวดล้อมเดิมลดลงไป เนื่องจากการเพิ่มของประชากรเอเลี่ยนสปีชีส์ และนิสัยโดยทั่วไปที่ไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อม
ยกตัวอย่างเช่น “ปลาหมอคางดำ” ที่สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว มีนิสัยกินจุ ความอยากอาหารตลอดเวลา อีกทั้งยังดุร้าย เมื่อปลาหมอคางดำมีจำนวนเยอะขึ้นก็ส่งผลให้ปลาเดิมถูกกินจนสูญพันธุ์ไป
นอกจากนี้การรุกรานของเอเลี่ยนสปีชีส์ ยังส่งผลต่อสุขอานามัย โดยเป็นพาหะนำโรคสู่สัตว์หรือมนุษย์ด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพของชาวประมงด้วย
เอเลี่ยนสปีชีส์ เข้ามาเผยแพร่ในไทยได้อย่างไร?
ส่วนใหญ่เอเลี่ยนสปีชีส์ มักถูกนำมาเผยแพร่โดยฝีมือมนุษย์ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อหวังจะใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การนำเข้าเพื่อการประมงหรือการเกษตร หรือเพื่อทดลอง
อย่างไรก็ตามในบางครั้งอาจนำเข้ามาโดยความไม่ได้ตั้งใจของมนุษย์ การติดมากับน้ำอับเฉาเรือ ของ หอยกะพงเทศ
10 ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ ห้ามนำเข้าไทย
ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. 2564 ระบุสายพันธุ์ปลาที่ห้ามนำเข้าประเทศไทย โดยไม่ได้รับอนุญาต มีทั้งหมด 10 สายพันธุ์ ดังนี้
1.ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia)
มีลักษณะคล้ายกับปลาหมอเทศ ต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกา เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพแวดล้อมได้ดี และมีการแพร่พันธุ์ที่รวดเร็ว โดยขยายพันธุ์ได้ทุก ๆ 22 วัน ประกอบกับนิสัยดุร้ายและอยากอาหารตลอดเวลา ทำให้ปลาท้องถิ่นมีจำนวนลดลง
2.ปลาหมอมายัน (Mayan cichlid)
เป็นปลาที่มีแถบสีดำบนตัวจำนวน 7 แถบ มีจุดสีดำอยู่บริเวณคอดหาง มีนิสัยดุร้าย และมีความสามารถในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 บริเวณคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตบางขุนเทียน
3.ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra cichlid)
เป็นปลาที่กินเนื้อและพืช มีแถบสีดำบนตัว 5 แถบ มีความทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในวงกว้าง ต้นกำเนิดอยู่ที่น่านน้ำทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ประเทศกินี-บิสเซา สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน และประเทศไลบีเรีย
4.ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม (Peacock cichlid, Butterfly peacock bass)
ปลาพีคอกแบส หรือที่รู้จักกันว่า ปลากะพงนกยูง มีต้นกำเนิดจากทวีปอเมริกาใต้ นำเข้าไทยมาด้วยจุดประสงค์เลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เนื่องจากปลาชนิดนี้มีลวดลายสวยงาม คล้ายกับรำแพนหางของนกยูง มีนิสัยกินจุ กินได้ไม่เลือก จึงสร้างความเสียหายให้ระบบนิเวศอย่างมาก
5.ปลาเทราท์สายรุ้ง (Rainbow trout)
เป็นปลาชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาแซลมอน มีขนาดใหญ่ สามารถโตได้เต็มทีถึง 1.2 เมตร เช่นเดียวกันกับปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดอื่น ๆ ปลาเทราท์สายรุ้ง ก็มีนิสัยไม่เลือกกิน กินได้ทุกอย่างตั้งแต่ปลาไปจนถึงแมลงน้ำ
นอกจากนี้ปลาชนิดนี้ยังได้รับการถูกจัดอันดับอยู่ใน 5 อันดับแรกจาก 100 ของปลาต่างสายพันธุ์ที่รุกรานสิ่งมีชีวิตพื้นถิ่นให้เสียหายอย่างรุนแรง โดยเป็นการจัดอันดับโดย สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN)
6.ปลาเทราท์สีน้ำตาล (Sea trout)
7.ปลากะพงปากกว้าง (Largemouth black bass)
เป็นปลาที่มีสีเขียวมะกอก มีจุดสีดำหรือสีเข้มเรียงต่อกันเป็นแนวยาวดูขรุขระในแต่ละด้านของลำตัว ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้
8.ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช (Goliath tigerfish, Giant tigerfish)
9.ปลาเก๋าหยก (Jade perch)
ถึงจะชื่อปลาเก๋าแต่ไม่ใช่นะ! ปลาเก๋าหยกจัดอยู่ในวงศ์ปลาข้างตะเภา (Terapontidea) ซึ่งเป็นวงศ์ที่ใกล้ชิดกับปลากะพง พฤติกรรมการกินสามารถเขมือบทุกอย่างที่ขวางหน้าได้ทั้งหมด
ส่วนลักษณะของปลาชนิดนี้ มีหัวขนาดเล็ก หัวและหลังโค้ง ท้องมีขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนกลม มีเกล็ดค่อนข้างละเอียด ครีบหางสั้นและเว้าเล็กน้อย ทั้งสองด้านหรือด้านใดด้านหนึ่งจะมีจุดสีดำรูปวงรี 1-3 จุด หรืออาจมากกว่านั้น
10.ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่ง พันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด
มักเป็นจำพวก “ปลาเรืองแสง” ที่ถูกปรับเปลี่ยนพันธุกรรม เพื่อจุดประสงค์ความสวยงาม โดยนำยีนส์ที่ได้จากแมงกะพรุนหรือดอกไม้ทะเลบางชนิดไปใส่ไว้ใน DNA ของปลา ทำให้ปลาสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเด่นขึ้นมา และเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงไฟ Blacklight ก็จะเกิดการเรืองแสง
ถึงแม้ว่าลักษณะของปลาชนิดนี้จะสวยงามและแปลกตา แต่ก็แต่ขึ้นชื่อว่าถูกการปรับเปลี่ยนพันธุกรรม ก็สร้างความอันตรายให้แก่ปลาในท้องถิ่น และมนุษย์ได้ เนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนที่อันตราย
นอกจากปลา 10 ชนิดนีแล้ว ยังมีสัตว์น้ำอื่น ๆ อีก 3 สายพันธุ์ ที่ห้ามนำเข้าไทย ได้แก่ ปูขนจีน, หอยมุกน้ำจืด และหมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena อีกด้วย
สรุปลักษณะโดยรวมของปลาเอเลี่ยนสปีชีส์
หากศึกษาเกี่ยวกับนิสัยและธรรมชาติของปลาทั้ง 10 ชนิดนี้ พบว่าปลาส่วนใหญ่ที่กล่าวมา มักมีความสามารถในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่สูง ทำให้สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีนิสัยที่ดุร้าย ทำให้ไปแก่งแย่งอาหารและพื้นที่อาศัยของปลาท้องถิ่นในระบบนิเวศ
และในบางสายพันธุ์ ยังเป็นเป็นพาหะนำโรคและปรสิตด้วย เช่น ใน ปลาหมอมายัน พบว่าเป็นพาหะของปรสิต และพยาธิอีก 71 ชนิด เป็นต้น
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ