อินฟลูฯ สาววัย 29 เตือนภัยครีมอันตราย ก่อนถูกคุกคามในโซเชียล ไม่คาดคิดจุดจบสุดเศร้า
อินฟลูฯ สาววัย 29 โพสต์เตือนภัยครีมอันตราย ก่อนถูกคุกคามในโซเชียล ขู่ฆ่า-ข่มขืน ไม่คาดคิดจุดจบสุดเศร้า
อินฟลูเอนเซอร์สาววัย 29 ปี ราเจสวารี อาปาฮู หรือชื่อในโซเชียลของเธอคือ Esha ก่อเหตุจบชีวิตของตัวเองในอพาร์ตเมนต์ของเธอ โดยก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน เธอเพิ่งแจ้งความที่สถานีตำรวจในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ว่ามีบุคคลใช้วาจาหยาบคาย หมิ่นประมาท ข่มขู่จะทำร้ายร่างกาย ข่มขืนและฆ่าเธอ
ฟาห์มี ฟาดซิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารมาเลเซีย เข้าร่วมพิธีศพของ Esha และพูดคุยกับครอบครัวของเธอ ก่อนที่จะโพสต์ข้อความใน X ว่า “หัวใจของแม่แตกสลายเมื่อเธอเห็นร่างที่ไร้ชีวิตของลูก ราเจสวารี อาปาฮู วัย 29 ปี ฆ่าตัวตายหลังจากที่เชื่อว่าเธอมีอาการซึมเศร้าเนื่องจากถูกกลั่นแกล้งโดยบุคคลที่แสดงความคิดเห็นที่น่ารังเกียจบน TikTok ฉันผิดหวังและโกรธมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้ที่เป็นสาเหตุของเหตุการณ์นี้จะต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม”
นอกจากนี้เขายังแจ้งให้ทราบด้วยว่าเขาได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม รวมทั้ง โกบินด์ ซิงห์ ดิโอ รัฐมนตรีดิจิทัล และ ดาโต๊ะ เสรี อาซาลินา โอทมาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (การปฏิรูปกฎหมายและสถาบัน) เกี่ยวกับประเด็นนี้ ในเร็วๆ นี้
หลังจากนั้น ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องสงสัยที่อาจเกี่ยวข้องกับการคุกคาม Esha ในข้อหาหมิ่นประมาทและการข่มขู่ ซึ่งเหยื่อต้องเผชิญก่อนที่เธอจะเสียชีวิต โดยมีการพบบัญชี TikTok จำนวน 2 บัญชีที่ใช้รูปภาพของ Esha เป็นภาพพื้นหลังในวิดีโอที่มีเนื้อหาข่มขู่ ใช้คำที่ไม่เหมาะสมและอนาจาร ก่อนที่บัญชีทั้ง 2 จะถูกลบไปในภายหลัง
หลายคนกำลังสงสัยว่าอะไรนำไปสู่การกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตครั้งนี้ ที่ทำร้ายหญิงสาวคนหนึ่งจนต้องจบชีวิต แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงยังคงถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ แต่สื่อและโซเชียลในมาเลเซียต่างก็เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่ Esha ที่ออกมาทำคลิปเตือนภัยเกี่ยวกับอันตรายจากเครื่องสำอาง หลายคนที่ได้ยินข่าวการจากไปของเธอต่างพากันคอมเมนต์แสดงความเสียใจเป็นจำนวนมาก
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา Esha ใช้บัญชี TikTok ของตัวเองที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก โพสต์คลิปเพื่อเตือนประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับเครื่องสำอางประเภทครีมทาหน้า ที่สงสัยว่าอาจมีส่วนผสมของสารอันตราย และบอกว่าเธอได้ยื่นรายงานต่อกระทรวงสาธารณสุข (KKM) เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ซึ่งตัวเธอเองมีผลข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่เห็นได้ชัดว่าผลิตในประเทศไทยและบรรจุใหม่ในมาเลเซีย ถูกโฆษณาให้หลงเชื่อว่าผลิตในฝรั่งเศสและสวีเดน
ในเดือนมีนาคม กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศแบนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างเป็นทางการเนื่องจากตรวจพบว่ามีสารปรอท ซึ่งหลังจากนั้นเธอก็ถูกคุกคามขู่ฆ่า จนกระทั่งตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองในที่สุด