รู้จักวิถีชาวประมง ‘ดูหลำ’ แค่ฟังเสียงก็จับปลาได้
“ดูหลำ” ดำน้ำฟังเสียงปลา อาชีพที่เก่าแก่ของภาคใต้สืบทอดมาหลายต่อหลายปี แต่เพราะความทันสมัยของเครื่องมือประมง ทำให้ปัจจุบันค่อย ๆ หายไป
วันนี้จึงอยากพาทุกคนมารู้จัก “ดูหลำ” ว่าคืออะไร มีความน่าทึ่งอย่างไร? ผ่านประสบการณ์กว่า 40 ปีของ อับดุลรอเซะ อาแว ดูหลำรุ่นที่ 3 จากตระกูลดูหลำแห่งปะนาเระ จ.ปัตตานี
“ดูหลำ” คืออะไร?
“ดูหลำ” เป็นศาสตร์โบราณเกี่ยวกับการดำน้ำฟังเสียงปลา โดยคนที่ดำจะทราบว่าปลาอยู่ในทิศทางไหน และสามารถแยกได้ว่าปลาชนิดไหน มีเสียงอย่างไร เมื่อได้ยินเสียงก็จะให้คนนำอวนไปจับปลา
ดูหลำ ใช้แยกปลาชนิดไหนได้บ้าง?
อับดุลรอเซะ อาแว อธิบายว่า มักใช้ดูหลำในการแยกปลาจวดแต่ละชนิด รวมถึงปลาทู ปลาไส้ตัน ปลาลัง และปลาอื่น ๆ อีกหลายชนิด
อยากเป็นดูหลำ ต้องทำอย่างไร?
อับดุลรอเซะ อาแว เล่าว่า การที่จะเป็นดูหลำนั้นต้องอาศัยเวลา โดยในครั้งแรกก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย แต่เมื่อผ่านการฝึกฝนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชำนาญและเป็นดูหลำได้อย่างสมบูรณ์แบบ
โดยเขากล่าวอีกว่าศาสตร์ดูหลำ “ไม่ใช่เรารู้มากกว่าปลา แต่เสียงปลานั่นแหละ ที่สอนให้เรารู้ ความรู้อยู่ที่ปลา”