ทรัมป์ไม่ใช่คนแรก ย้อนประวัติศาสตร์ "ลอบสังหาร" ปธน.สหรัฐฯ ครั้งแรกเกิดขึ้นในยุคใคร?
ทรัมป์ไม่ใช่คนแรก ย้อนประวัติศาสตร์ "ลอบสังหาร" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งแรกเกิดขึ้นในยุคใคร และเกิดขึ้นมาแล้วกี่ครั้ง...?
ก่อนเกิดเหตุความพยายามลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเย็นวันเสาร์ สหรัฐฯ ได้เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นกับประธานาธิบดี อดีตประธานาธิบดีและแคนดิเดตชิงตำแหน่งเก้าอี้ผู้นำประเทศจากพรรคการเมืองใหญ่มาหลายครั้งแล้ว
สำนักข่าวเอพี รวบรวมข้อมูลเหตุการณ์เหล่านี้ที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ตั้งแต่เมื่อสหรัฐฯ ก่อตั้งประเทศในปี 1776
เอบราฮัม ลินคอล์น – ประธานาธิบดีคนที่ 16
เอบราฮัม ลินคอล์น คือ ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่ถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 14 เมษายน ปี ค.ศ. 1865 โดย จอห์น วิลค์ส บูธ ขณะที่ ผู้นำคนที่ 16 และ แมรี ทอดด์ ลินคอลน์ ผู้เป็นภริยา กำลังร่วมชมละครเวทีเรื่อง “Our American Cousin” ที่โรงละครฟอร์ด ในกรุงวอชิงตันอยู่
ลินคอล์นถูกพาตัวไปยังบ้านที่อยู่ตรงข้ามกับโรงละครเพื่อรับการรักษาหลังถูกยิงที่ด้านหลังศีรษะ ก่อนจะเสียชีวิตในเช้าวันต่อมา ในส่วนของเหตุจูงใจของการลอบสังหารครั้งนั้น เชื่อกันว่า เป็นเพราะจุดยืนของลินคอล์นที่สนับสนุนสิทธิ์ของคนดำในประเทศ
ในช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ หรือ 2 ปีก่อนที่จะเกิดการลอบสังหารนี้ ลินคอลน์ออกประกาศเลิกทาสเพื่อให้อิสรภาพแก่ทาสทุกคนที่อยู่ฝั่งสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederacy) ซึ่งเป็นฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยทาศ
หลังการถึงแก่อสัญกรรมของลินคอลน์ ผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปคือ อดีตรองประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน
สำหรับ บูธ มือปืนที่ลอบสังหารลินคอล์นนั้น เขาถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 26 เมษายน ปี ค.ศ.1865 หลังมีผู้พบตัวซ่อนอยู่ในโรงนาใกล้ ๆ เมืองโบว์ลิงกรีน รัฐเวอร์จิเนีย
เจมส์ การ์ฟิลด์ – ประธานาธิบดีคนที่ 20
เจมส์ การ์ฟิลด์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 2 ที่ถูกลอบสังหาร โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียง 6 เดือนหลังการ์ฟิลด์รับตำแหน่งได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น ขณะที่ เขากำลังเดินผ่านสถานีรถไฟในกรุงวอชิงตันอยู่ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1881 เพื่อไปขึ้นรถไฟไปภูมิภาคนิวอิงแลนด์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ก่อนจะถูกยิงเสียชีวิตโดย ชาลส์ กิโต
หลังเกิดเหตุ อเล็กซานเดอร์ แกรห์ม เบลล์ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นโทรศัพท์ พยายามที่จะใช้อุปกรณ์ที่ตนออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อใช้หาลูกกระสุนที่ฝังอยู่ในอกของ การ์ฟิลด์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ประธานาธิบดีการ์ฟิลด์นอนเจ็บจากแผลที่ถูกยิงที่ทำเนียบขาวเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนจะสิ้นลมในเดือนกันยายน และรองประธานาธิบดีเชสเตอร์ อาร์เธอร์ ขึ้นรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลต่อ
ส่วนกิโต มือปืนผู้ก่อเหตุนั้นถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกประหารชีวิตในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1882
วิลเลียม แมคคินลีย์ – ประธานาธิบดีคนที่ 25
ประธานาธิบดีวิลเลียม แมคคินลีย์ ถูกลอบยิง หลังขึ้นกล่าวปราศรัยที่เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 6 กันยายน ปี ค.ศ. 1901 และเดินลงมาพบผู้สนับสนุนพร้อม ๆ กับจับมือกับผู้คนอยู่ โดยมือปืนยิงเข้าที่อก 2 นัดในระยะประชิดตัว
ขณะที่ แพทย์คาดว่า แมคคินลีย์ น่าจะฟื้นตัวได้ดี แต่ก็เกิดอาการเนื้อตายที่รอบ ๆ แผลที่ถูกยิง และประธานาธิบดีคนที่ 25 ของสหรัฐฯ เสียชีวิตในวันที่ 14 กันยายน ปี ค.ศ. 1901 หรือ 6 เดือนหลังเข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 2
ผู้ที่ขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำต่อในเวลานั้นคือ รองประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลท์
ลีออน เอฟ. โชลกอซ ซึ่งเป็นชาวเมืองดีทรอยต์ วัย 28 ปี ยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือยิง ก่อนจะถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดและถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1901
แฟรงคลิน ดี. โรสเวลท์ – ประธานาธิบดีคนที่ 32
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1933 มีเสียงปืนดังขึ้นหลัง แฟรงคลิน โรสเวลท์ ซึ่งยังเป็นว่าที่ประธานาธิบดีอยู่ เพิ่งขึ้นกล่าวปราศรัยบนหลังรถ ที่นครไมอามี รัฐฟลอริดา
ในเหตุการณ์ครั้งนั้น โรสเวลท์ ไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ แต่มีผู้เสียชีวิต 1 คน นั่นก็คือ นายกเทศมนตรีนครชิคาโก อันทอน เซอร์มัก
จูเซปเป ซันการา มือปืนผู้ก่อเหตุ ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกลงโทษประหารชีวิตในเวลาต่อมา
แฮร์รี เอส. ทรูแมน – ประธานาธิบดีคนที่ 33
การลอบสังหารผู้นำสหรัฐฯ ครั้งต่อมาเกิดขึ้นกับ ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1950
เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขณะที่ ทรูแมน พำนักอยู่ที่ แบลร์ เฮาส์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับทำเนียบขาว และมือปืน 2 คนบุกเข้ามาเพื่อก่อเหตุ
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีคนที่ 33 ของสหรัฐฯ ไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำทำเนียบขาว 1 นายและมือปืน 1 คนเสียชีวิตจากการยิงต่อสู้กัน ขณะที่ เจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาวอีก 2 นายได้รับบาดเจ็บ
มือปืนอีกคน ซึ่งก็คือ ออสการ์ คัลลาโซ ถูกจับกุมและลงโทษประหารชีวิต แต่ประธานาธิบดีทรูแมนประกาศลดโทษให้ในปี 1952 เหลือเพียงการจำคุกตลอดชีวิต ก่อนที่ ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ จะประกาศอภัยโทษให้ และคัลลาโซ ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระจากเรือนจำในปี ค.ศ. 1976
จอห์น เอฟ. เคนเนดี – ประธานาธิบดีคนที่ 35
ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ถูกยิงเสียชีวิตโดยผู้ลอบสังหารที่หลบซ่อนอยู่และมีอาวุธเป็นปืนไรเฟิลกำลังแรงสูง ขณะเยือนนครดัลลัส รัฐเท็กซัส ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1963 พร้อมกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง แจ็กเกอร์ลีน เคนเนดี
ในเหตุการณ์ครั้งนั้น เสียงปืนดังขึ้นในช่วงที่ขบวนรถของเคนเนดีกำลังเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ดีลีย์พลาซ่า ใจกลางนครดัลลัสอยู่
ไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุม ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ผู้ต้องสงสัยเป็นมือปืน หลังพบแท่นวางของมือปืนที่อาคาร Texas School Book Depository ซึ่งอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ
สองวันต่อมา ขณะที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจพาตัวออสวอลด์จากกองบัญชาการตำรวจไปยังเรือนจำประจำเคาน์ตี้ แจ็ค รูบี้ เจ้าของไนท์คลับแห่งหนึ่ง ปราดเข้ายิงมือปืนรายนี้จนเสียชีวิต
หลังการถึงแก่อสัญกรรมของประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐฯ รองประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งที่ห้องประชุมของเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันทันที และจนถึงปัจจุบัน จอห์นสัน คือ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนเดียวที่ทำพิธีสาบานตนขณะอยู่บนเครื่องบิน
เจอรัลด์ ฟอร์ด – ประธานาธิบดีคนที่ 38
ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ถูกลอบสังหารที่ 2 ครั้งภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ในปี ค.ศ. 1975 แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ เลยจากทั้ง 2 เหตุการณ์
ในเหตุลอบสังหารครั้งแรก ฟอร์ด กำลังเดินทางไปประชุมกับผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียที่เมืองซาคราเมนโต และ ลีเนตต์ “สควีกกี้” ฟรอมม์ ซึ่งเป็นสาวกของลัทธิ ชาลส์ แมนสัน อาชญากรและฆาตรกรหลายศพ เดินบุกฝูงชนบนถนนเข้ามาพร้อม ๆ กับชักปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติและจ่อจะยิง แต่ไม่ทันได้ยิงเพราะถูกหน่วยอารักขาประธานาธิบดีรวบตัวไว้ได้ก่อน
ฟรอมม์ ถูกลงโทษจำคุกก่อนจะถูกปล่อยตัวเป็นอิสระในปี 2009
แต่หลังความพยายามลอบสังหารของฟรอมม์เพียง 17 วันก็เกิดเหตุแบบเดียวกันขึ้นอีก โดย ซารา เจน มัวร์ คือ ผู้ที่ถือปืนมายืนอยู่หน้าประธานาธิบดีฟอร์ดที่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่งในนครซานฟรานซิสโกและยิงปืนออกมา 1 นัดแต่พลาด ก่อนที่ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งจะเข้าคว้าแขนเธอไว้ขณะพยายามยิงนัดที่สองอยู่
มัวร์ ถูกตัดสินลงโทษจำคุกก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในปี ค.ศ. 2007
โรนัลด์ เรแกน – ประธานาธิบดีคนที่ 40
โรนัลด์ เรแกน ถูก จอห์น ฮิงค์ลีย์ จูเนียร์ ที่ยืนอยู่ในฝูงชนยิงเข้าใส่ ขณะที่ ประธานาธิบดีคนที่ 40 กำลังเดินกลับมาที่รถ หลังเสร็จสิ้นการกล่าวปราศรัยที่กรุงวอชิงตัน ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1981
นอกจากเรแกนแล้ว ยังมีผู้ถูกยิงในเหตุการณ์นี้อีก 3 คนโดยหนึ่งในนั้นคือ เจมส์ เบรดี โฆษกประธานาธิบดี ที่กลายมาเป็นอัมพาตบางส่วนเพราะเหตุลอบยิงครั้งนั้น
ฮิงค์ลีย์ ถูกจับกุมและนำไปคุมตัวที่โรงพยาบาลจิตเวช หลังคณะลูกขุนตัดสินว่า เขาไม่มีความผิดในเหตุการณ์ยิงเรแกน เนื่องจากมีภาวะวิกลจริต โดยศาลสั่งปล่อยตัวเขาในปี ค.ศ. 2022 หลังผู้พิพากษาตัดสินว่า ฮิงค์ลีย์ “ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น” อีกต่อไป
จอร์จ ดับเบิลยู. บุช – ประธานาธิบดีคนที่ 43
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ตกเป็นเป้าการลอบสังหาร ขณะเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมกับประธานาธิบดีจอร์เจีย มิคาอิล ซาคาชวิลี ที่กรุงทบิลิซิ ในปี ค.ศ. 2005 หลังมีผู้โยนระเบิดมือเข้าใส่
ผู้นำทั้งสองยืนอยู่หลังกระจกกันกระสุน ขณะที่ ระเบิดมือที่ถูกห่อผ้าไว้ตกลงห่างจากจุดที่ทั้งคู่ยืนอยู่เพียง 100 ฟุต แต่ระเบิดก็ไม่ได้ระเบิดขึ้นและไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
ส่วนผู้ก่อเหตุซึ่งก็คือ วลาดิเมียร์ อรุตยูเนียน ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
ธีโอดอร์ โรสเวลท์ – แคนดิเดตเลือกตั้งประธานาธิบดี
อดีตประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลท์ ถูกยิงขณะเดินทางหาเสียงเลือกตั้งสมัยที่ 3 ที่เมืองมิลวอกี ในปี ค.ศ. 1912
ก่อนหน้านั้น โรสเวลท์ เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว 2 สมัยและกำลังลงหาชิงเก้าอี้ผู้นำอีกรอบในฐานะแคนดิเดตของพรรคการเมืองที่ 3
การสืบสวนพบว่า กระดาษที่พับไว้และกล่องโลหะติดกระจกที่อยู่ในกระเป๋าเสื้อของโรสเวลท์ช่วยลดแรงกระแทกจากกระสุนไว้ทำให้ไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง
ในเหตุการณ์ครั้งนั้น จอห์น แชรงก์ ถูกจับกุมและนำไปคุมตัวไว้ที่โรงพยาบาลจิตเวชตลอดชีวิต
โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี – แคนดิเดตเลือกตั้งประธานาธิบดี
โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี ซึ่งเป็นน้องชายของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี และเป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐนิวยอร์ก กำลังสมัครรับเลือกเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อยู่ ขณะเสียชีวิตที่โรงแรมลอสแอนเจลิส หลังเพิ่งขึ้นกล่าวปราศรัยรับชัยชนะการเลือกตั้งขั้นต้นของรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี ค.ศ. 1968
ในครั้งนั้น มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 5 คนด้วย มือปืนที่ก่อเหตุซึ่งก็คือ ซิราน ซิราน ถูกตัดสินว่า มีความผิดในข้อหาทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตโดยเจตนาและมีการวางแผนก่อนล่วงหน้า (first-degree murder) และถูกลงโทษประหารชีวิต ก่อนจะได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต โดยคำอุทธรณ์ขอให้ได้รับการปล่อยตัวครั้งล่าสุดถูกศาลปฏิเสธเมื่อปีที่แล้ว
จอร์จ ซี. วอลเลซ – แคนดิเดตเลือกตั้งประธานาธิบดี
จอร์จ ซี. วอลเลซ กำลังลงชิงตำแหน่งเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และถูกลอบยิง ขณะแวะหาเสียงที่รัฐแมรีแลนด์ในปี ค.ศ. 1972 โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงเอวลงมา
อดีตผู้ว่าการรัฐแอละแบมาผู้นี้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้มีมุมมองสนับสนุนการแบ่งแยกพลเมืองต่างสีผิวออกจากกัน แม้เจ้าตัวจะออกมาประกาศไม่ยอมรับแนวคิดในเวลาต่อมาก็ตาม
อาร์เธอร์ เบรเมอร์ ผู้ก่อเหตุถูกตัดสินมีความผิดและถูกลงโทษจำคุก ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในปี ค.ศ. 2007