รู้จัก “ปลากะพงขาว” นักล่าปลาหมอคางดำ อีกหนึ่งหนทางกำจัดเอเลี่ยนสปีชีส์
ยังคงเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่องกับประเด็นการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยหลายฝ่ายต่างออกมาตราการ เพื่อควบคุมการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำ และหนึ่งในวิธีที่บางหน่วยงาน นำมาใช้ คือการ “ปล่อยปลากะพงขาว”
อย่างไรก็ตามหลายคนได้ยินอาจเกิดความสงสัยว่าทำไมต้องปลากะพงขาว รวมถึงบางคนก็อาจไม่ทราบว่าปลากะพงขาวมีลักษณะเป็นอย่างไร
วันนี้ Sanook จึงอยากพาทุกคนมารู้จัก “ปลากะพงขาว” นักล่าปลาหมอคางสีดำ ว่ามีลักษณะอย่างไร ทำไมจึงนำมาเป็นตัวกำจัดปลาหมอคางดำและปลาเอเลี่ยนสปีชีส์อื่น ๆ
ปลากะพงขาว คืออะไร?
ปลากะพงขาว หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Lates calcarifer (Bloch) เป็นหนึ่งในประเภทของกะพง ที่มีรสชาติดี ทำให้ได้รับความนิยม และนำมาประกอบอาหารกันอย่างแพร่หลาย โดยสามารถนำมาทำได้หลายเมนู เช่น ปลากะพงขาวทอดน้ำปลา ต้มยำปลากะพงขาว ปลากะพงขาวราดพริก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ปลากะพงขาวจึงมักขายได้ในราคาที่สูง
สำหรับลักษณะของปลากะพงขาว เป็นปลาที่สามารถอยู่ได้ในน้ำจืดและน้ำกร่อย มีรูปร่างลำตัวหนาและด้านข้างแบน หัวโต จะงอยปากค่อนข้างยาวและแหลม พื้นลำตัวสีขาวเงินปนน้ำตาล แนวสันท้องสีขาวเงิน มีขนาดความยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร พบใหญ่สุดถึง 2 เมตร
ด้านนิสัยการกินทั่วไปจะเป็นปลากินเนื้อ โดยจะกินสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่มีขนาดเล็กกว่า โดยเฉพาะปลาขนาดเล็ก (หรือลูกปลา) กุ้ง ปูต่าง ๆ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะเป็นปลากินเนื้อ แต่ก็สามารถให้อาหารเม็ดได้เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นปลาที่กินไม่เลือก ฟาดเรียบหมดเลยก็ว่าได้
ปลากะพงขาวนักล่าเอเลี่ยนสปีชีส์
ด้วยนิสัยที่ไม่เลือกกินของปลากะพงขาว ทำให้หน่วยงานมักปล่อยปลากะพงขาวในแหล่งน้ำ ให้ปลากะพงขาวกินลูกปลาหมอคางดำเป็นอาหาร เพื่อตัดวงจรการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ
ปลากะพงขาวไม่ได้เพิ่งถูกนำมาใช้ เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำเท่านั้น แต่ในสมัยก่อนที่มีปัญหาการกระจายพันธุ์ของปลานิลที่มีมากเกินไป ก็ได้มีการนำปลากะพงขาวมาควบคุมปริมาณลูกปลานิลด้วย
ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการปล่อยปลากะพงขาว เพื่อไปกำจัดปลาชนิดต่าง ๆ ต้องมีการกระตุ้นสัญชาตญาณนักล่าของปลากะพงขาว เนื่องด้วยในปัจจุบันมีการเลี้ยงปลากะพงโดยใช้อาหารเม็ด ทำให้สัญชาตญาณนักล่าอาจหายไป
อ่านมาถึงตรงนี้บางคนอาจสงสัย แล้วอย่างนี้จะไม่ทำให้กลายเป็นจำนวนปลากะพงขาวเยอะเกินไปหรอ สำหรับเรื่องนี้ต้องบอกว่า “ปลากะพงขาว” เป็นที่นิยมจับมารับประทานอยู่แล้ว ซึ่งต่างจาก “ปลาหมอคางดำ” ที่ไม่นิยมมากนัก เพราะมีเนื้อค่อนข้างน้อย จึงทำให้การมีปลากะพงขาวเยอะ อาจส่งผลดีให้แก่ชาวประมงมากกว่า เพราะสามารถจับไปขายในราคาที่ดีกว่าปลาหมอคางดำ
อย่างไรก็ตามการปล่อยกะพงขาวลงแหล่งน้ำ เป็นแค่ส่วนหนึ่งในการแก้ไข โดยจะช่วยควบคุมปริมาณลูกปลาหมอคางดำเท่านั้น หากต้องการที่จะกำจัดไปให้หมดอย่างแท้จริง จะต้องทำประกอบกับการจับปลาหมอคางดำไปรับประทาน และหน่วยงานต้องมีมาตราการอื่น ๆ เช่น รับซื้อปลาหมอคางดำ เพื่อที่จะทำให้จำนวนลดลงได้อย่างแท้จริง