อ.เจษฎา ไขข้อสงสัย "ปลาหมอคางดำ" ทำไมสีสวย? พบที่แหลมผักเบี้ย-เพชรบุรี
เจอ "ปลาหมอคางดำ" สีสวยที่แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี อ.เจษฎา มาช่วยไขข้อสงสัย พร้อมตอบอเมริกา-ฟิลิปปินส์ จัดการยังไงกับการระบาด
ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ลงกลุ่ม siamensis.org ถามว่า "ทำไมปลาหมอสีคางดำตัวนี้ถึงสีสวยคะ เห็นจากโพสต์ของคนทั่วไปหรือภาพจากข่าวจะเห็นเป็นโทนสีดำ ๆ เหมือนปลานิล แต่ตัวนี้มองด้วยตาเปล่าก็เห็นเป็นสีแบบนี้เลยถ่ายวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ที่แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี"
ต่อมา รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้แชร์ภาพดังกล่าว พร้อมไขข้อสงสัยว่าทำไมปลาหมอสีคางดำตัวนี้ถึงสีสวย
โดยระบุว่า "ปลาหมอคางดำ ที่สีสวย ๆ ก็มีนะครับ อย่าคิดแต่ว่าจะต้องดูสีตุ่น ๆ คล้ายปลานิลเท่านั้น เจอแบบนี้ ก็ต้องกำจัดเหมือนกันครับ! ภาพนี้จากสมาชิกกลุ่ม Siamensis.org ถ่ายที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี คาดกันว่าเป็นปลาตัวผู้ ช่วงฤดูผสมพันธุ์ เลยมีสีสันสวยงาม ดึงดูดตัวเมีย
ในประเทศอื่น ๆ ที่มีปลาหมอคางดำระบาด เช่น ในอเมริกา (รัฐฟลอริด้า รัฐฮาวาย) และในฟิลิปปินส์ ก็คาดกันว่า มาจากคนที่ค้าปลาแปลก ๆ สวยงาม แอบเอาเข้าประเทศมากันครับ เลยระบาด (ส่วนของไทย ยังเป็นคำถามกันอยู่ครับ)"
ซึ่งก็มีชาวเน็ตเข้ามาถามต่อว่า แล้วที่อเมริกากับฟิลิปปินส์มีการจัดการกับอย่างไร อาจารย์เจษฎา ตอบว่า "จับกิน จับทำอาหารสัตว์ เป็นหลักครับ และที่ฮาวายมีกรณีโรคระบาดปลาหมอเกิดขึ้นด้วย"