รู้ไว้ดีกว่า! อ.เจษฎ์ แนะวิธีแยก “เห็ดระโงก” แบบไหนมีพิษ อันตรายถึงชีวิต

รู้ไว้ดีกว่า! อ.เจษฎ์ แนะวิธีแยก “เห็ดระโงก” แบบไหนมีพิษ อันตรายถึงชีวิต

รู้ไว้ดีกว่า! อ.เจษฎ์ แนะวิธีแยก “เห็ดระโงก” แบบไหนมีพิษ อันตรายถึงชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เตือนภัยหน้าฝน! อ.เจษฎ์ ออกมาแนะนำวิธีแยก "เห็ดระโงกพิษ-เห็ดระโงกขาว" เตือนหากเผลอกินอันตรายถึงชีวิต พร้อมเผยเห็ดพิษ 3 กลุ่มที่ควรระวัง

สืบเนื่องจาก มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งออกมาเตือนภัย หลังซื้อเห็ดระโงกมา แล้วพบว่าเห็ดที่ซื้อมานั้นเป็นเห็ดพิษ จึงเตือนให้ชาวโซเชียลเช็กทุกครั้งก่อนรับประทาน

ภายหลังได้มีคนสอบถามไปยัง รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ อ.เจษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ หากกินเห็ดระโงกเข้าไป จะอันตรายถึงชีวิตเลยหรือ?

อ.เจษฎ์ จึงได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อไขข้อสงสัยนี้ โดยระบุว่า "เป็นเรื่องจริงนะครับ มีเคสเกิดขึ้นทุกปี และก็เตือนไปหลายครั้งแล้วครับ ... อย่างในรูปนี้ จุดสังเกตก็คือ เมื่อผ่าเห็ดตูม แล้วถ้าเนื้อข้างในเป็นสีขาวล้วน อันนั้นเป็นเห็ดพิษ ห้ามกิน !"

นอกจากนี้ยังได้แนะนำวิธีแยกความแตกต่างระหว่าง เห็ดระโงกพิษ และเห็ดระโงกขาว" โดยมีวิธีสังเกต คือ

  • เห็ดระโงกพิษ (ห้ามรับประทาน) มีหมวกขาวล้วน ทั้งแก่และอ่อน มีปุยเล็กน้อย ไม่เรียบมัน ก้านกลวงบ้าง ตันบ้าง 
  • เห็ดระโงกขาว (รับประทานได้) กลางหมวกมีสีเหลืองเล็กน้อยตอนอ่อน ตอนแก่มีสีเหลืองมากขึ้น หมวกเรียบมัน ไม่มีปุย ก้านตัน 

"ชาวบ้านนิยมเก็บช่วงเห็ดอ่อน ซึ่งมีลักษณะดอกเห็ดตูมคล้ายไข่ กลมรี ยากต่อการจำแนก ดังนั้นหากจะเก็บเห็ดระโงกช่วงเห็ดอ่อน ต้องนำมาผ่าเพื่อดูชั้นผิวด้านใน ถ้าผ่าเห็ดตูมแล้วเห็น “สีเหลือง” อยู่ที่เปลือกชั้นที่ 2 จากด้านบนคือ เห็ดระโงกขาวกินได้  แต่หากผ่าแล้วเห็นเป็น “สีขาวล้วน” คือ เห็ดระโงกพิษ” ฉะนั้นต้องผ่าเห็ดทุกครั้ง ก่อนเก็บหรือต้ม"

อ.เจษฎ์ ยังได้กล่าวเน้นย้ำว่า "ถ้าเจอใครที่น่าจะได้รับพิษจากเห็ด ให้พยายามทำให้ผู้ป่วยอาเจียน โดยการล้วงคอ หรือให้ทานไข่ขาว จากนั้น รีบพาส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด"

นอกจากนี้อ.เจษฎ์ ยังได้เผยข้อมูลเห็ดพิษ 3 กลุ่มที่ควรระวัง พบได้ในประเทศไทย พร้อมระบุอาการหากรับประทานเข้าไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้

"กลุ่มที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ (เช่น เห็ดระโงกหิน)

หลังรับประทานเห็ดพิษกลุ่มนี้จะไม่มีอาการในตอนแรก แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อผ่านไปแล้ว 4-6 ชั่วโมงเป็นต้นไป อาการเริ่มต้นคือคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางรายอาจมีอาการเกิดขึ้นช้ามากกว่า 10 ชั่วโมงหรือข้ามวันไปแล้ว หลังจากมีอาการผ่านไป 2-3 วัน การทำงานของตับจะเริ่มแย่ลง เอนไซม์ตับสูงขึ้น มีภาวะตับอักเสบ หากรุนแรงอาจเกิดตับวายและเสียชีวิตได้

กลุ่มที่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ (เช่น เห็ดเหลืองนกขมิ้น เห็ดถ่าน)

อาการเริ่มต้นคือคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย โดยจะมีอาการเร็วภายใน 6 ชั่วโมงหลังรับประทาน จากนั้นจะมีอาการของการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย รวมถึงปัสสาวะมีสีดำหรือสีโค้ก เนื่องจากมีของเสียในกล้ามเนื้อรั่วออกมาปนอยู่ในปัสสาวะ ในรายที่รุนแรงจะมีเกลือโพแทสเซียมที่รั่วออกมาจากกล้ามเนื้อมากจนมีหัวใจเต้นผิดจังหวะเสียชีวิตได้ นอกจากยังมีสารมัยโอโกลบินในกล้ามเนื้อรัวออกมาทำให้เกิดไตวายร่วมด้วย

กลุ่มที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร (เช่น เห็ดแดงน้ำหมาก เห็ดหัวกรวดครีบเขียว) 

หลังรับประทานเกิดความผิดปกติกับระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย โดยจะมีอาการเร็วภายใน 6 ชั่วโมงหลังรับประทาน พิษจากเห็ดกลุ่มนี้จะไม่รบกวนอวัยวะในระบบอื่น ผู้ที่มีอาการรุนแรงสามารถเสียชีวิตได้เหมือนกับอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษที่รุนแรง ทำให้ขาดน้ำรุนแรง เกิดภาวะช็อคหรือความดันตกและเสียชีวิตได้"

 

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook