คนไทยโล่งใจ! กกพ.ไม่ปรับเพิ่มค่าไฟ ก.ย.-ธ.ค. หลังมีข่าวหนาหู เช็กเลยคิดหน่วยละกี่บาท
กกพ.เคาะตรึงค่าไฟฟ้า ก.ย.-ธ.ค. เหลือเท่าเดิม 4.18 บาท/หน่วย หลังมีข่าวหนาหูขึ้นค่าไฟใช้หนี้
(1 ส.ค.) ข่าวช่อง 3 รายงานว่า นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ.มีมติตรึงอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั่วประเทศ ที่เรียกเก็บกับประชาชน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) งวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2567 อยู่ที่ระดับ 4.18 บาท/หน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ยังคงเรียกเก็บในอัตรา 3.99 บาท/หน่วยตามเดิม เบื้องต้นมีกำหนดชำระคืนหนี้ต้นทุนเชื้อเพลิงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนหนึ่งประมาณ 3,200 ล้านบาท ยังเหลือหนี้คงค้างที่ต้องทยอยชำระต่อไปอีกประมาณ 95,000 ล้านบาท และหนี้คงค้างส่วนต่างราคาก๊าซที่เกิดขึ้นจริงและราคาก๊าซที่เรียกเก็บ (AF Gas) ที่ยังไม่ได้ชำระคืนให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ประมาณ 15,000 ล้านบาท รวมหนี้คงค้าง ประมาณ 1.15 แสนล้านบาท
ในส่วนของค่าไฟฟ้างวดถัดไปเดือนม.ค.-เม.ย.2568 จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติตลาดโลก ซึ่งหวังว่าเมื่อผ่านพ้นช่วงฤดูหนาวในต่างประเทศแล้ว ความต้องการใช้ก๊าซก็น่าจะมีแนวโน้มลดลง ทำให้สถานการณ์ราคาก๊าซตลาดโลกที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีโอกาสอ่อนตัวลง จากปลายปีนี้ที่ราคาก๊าซจะอยู่ที่ประมาณ 13 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งทาง กกพ. ได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดและคาดว่าจะอยู่ในวิสัยที่ดูแลได้ แต่ก็ต้องติดตามปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างใกล้ชิดด้วย
แต่ทั้งนี้จะสามารถยืนอัตราค่าไฟอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย ได้ตลอดทั้งปี 2568 หรือไม่ ถือเป็นตัวเลขที่ดี เพราะส่วนตัวก็อยากให้เป็นแบบนั้น และหากมีราคาก๊าซที่ถูกลง ก็อาจจะเห็นแนวโน้มค่าไฟที่สามารถยืนระดับค่าไฟอยู่ในระดับ 4.18 บาท/หน่วยหรือลดลงได้ แต่การพิจารณาต้องดูปัจจัยต่างๆ ประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะความเหมาะสมในการชำระหนี้คืนให้ กฟผ. และปตท. ซึ่งยอมรับว่า กฟผ.ช่วยแบกรับภาระส่วนนี้ให้กับประชาชนไว้ระดับหนึ่งแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ กฟผ. ด้วย
- หลายคนก็เพิ่งรู้! กฟภ.เฉลยแล้ว บิลค่าไฟใส่ "ดอกจัน" แทนยอดเงินชำระ หมายความว่าอะไร?
- มีคำตอบแล้ว! เปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้า เป็นแบบดิจิทัล ทำค่าไฟเพิ่มขึ้น 2 เท่าทันที จริงหรือ?
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม กกพ. มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ก.ย - ธ.ค. 2567ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 222.71 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 98,495 ล้านบาท และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.
กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด ค่า Ft ขายปลีก เท่ากับ 86.55 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. กู้เงินมาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 – เมษายน 2567 ออกเป็น 6 งวดๆ ละจำนวน 16,416 ล้านบาท และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 52.25 สตางค์ต่อหน่วย