ประวัติ "หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ" พระเถราจารย์วัดสะแก ผู้รจนาบทสวดคาถามหาจักรพรรดิ

ประวัติ "หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ" พระเถราจารย์วัดสะแก ผู้รจนาบทสวดคาถามหาจักรพรรดิ

ประวัติ "หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ" พระเถราจารย์วัดสะแก ผู้รจนาบทสวดคาถามหาจักรพรรดิ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประวัติ "หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ" แห่งวัดสะแก จ.อยุธยา ผู้รจนาบทสวดคาถามหาจักรพรรดิ ท่านไม่เคยออกจากวัดตลอด 33 ปี จนละสังขาร

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เป็นพระภิกษุชาวไทยผู้ทรงคุณธรรมสูงส่ง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป ท่านเป็นที่รู้จักในด้านการปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น และการสอนวิปัสสนากรรมฐานอย่างละเอียดลออ ท่านจำพรรษาอยู่ที่ วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดชีวิตจนละสังขาร

หลวงปู่ดู่ เป็นที่รู้จักว่าเป็นพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในด้านการสอนวิปัสนากรรมฐานให้แก่ศิษย์ที่เข้าไปกราบไหว้ท่าน อย่างมีเมตตาเสมอกันทุกคนไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ และอีกความพิเศษนึงที่เป็นเอกลักษณ์ของท่านคือ ท่านจะมีการแจกพระถอดพิมพ์เนื้อปูนพิมพ์ต่างๆ สําหรับเป็นอุบายไว้กําระหว่างปฏิบัติภาวนานั่งสมาธิ และมีวัตถุมงคลอันเลื่องชื่อคือ พระเหนือพรหม

ท่านได้เมตตาอบรมสั่งสอนศิษย์ในด้านการปฏิบัติภาวนาเสมอมา โดยที่ท่านไม่เคยออกนอกวัดสะแกเลยตั้งปี พ.ศ.2500 เหตุเพราะกลัวคนที่เดินทางมากราบไหว้ท่านเมื่อมาถึงแล้วหากไม่เจอจะเกิดเสียกําลังใจขึ้นมา แม้กระทั่งธาตุขันธ์ของท่านจะทรุดโทรมลงในช่วงบั้นปลายจนได้รับทุกขเวทนา ท่านก็ยังจะไม่คิดออกไปรักษานอกวัดสะแกเลย เพราะคํานึงถึงผู้ที่เดินทางมากราบไหว้จะไม่ได้พบเจอ นับเป็นปฏิปทาที่มีขันติ และความเมตตาอย่างยิ่งยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน ท่านกระทําแบบนี้มาตลอดตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ถือเป็นพระสุปฏิปันโนที่กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ

กำพร้าแต่ยังเป็นทารก

พระคุณเจ้าหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มีชาติกำเนิดในสกุล “หนูศรี” เดิม ชื่อ ดู่ เกิดเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2447 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา ณ บ้านข้าวเม่า ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มารดาของท่านได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเป็นทารกอยู่ ต่อมาบิดาของท่านก็จากไปอีกขณะท่านมีอายุได้เพียง ๔ ขวบเท่านั้น ท่านจึงต้องกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กจำความไม่ได้ ท่านได้อาศัยอยู่กับยายโดยมีโยมพี่สาวที่ชื่อ สุ่ม เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่ และท่านก็ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

เมื่อท่านอายุได้ 21 ปี ก็ได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2468  ตรงกับวันอาทิตย์แรม 4 ค่ำ เดือน 6 ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีหลวงพ่อกลั่น เจ้าอาวาสวัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ มีหลวงพ่อแด่ เจ้าอาวาสวัดสะแก ขณะนั้นเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีหลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ได้รับฉายาว่า “พรหมปัญโญ”

ประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖ ออกพรรษาแล้วท่านก็เริ่ม ออกเดินธุดงค์จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีเป้าหมายที่ป่าเขาทางแถบจังหวัดกาญจนบุรี และแวะนมัสการสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธฉายและ รอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จากนั้นท่านก็เดินธุดงค์ไปยังจังหวัดสิงห์บุรี สุพรรณบุรี จนถึงจังหวัดกาญจนบุรี จึงเข้าพักปฏิบัติตามป่าเขาและถ้ำต่างๆ     

หลวงปู่ดู่ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าเริ่มแรกที่ท่านขวนขวายศึกษาและปฏิบัตินั้น แท้จริงมิได้มุ่งเน้นมรรคผลนิพพานหากแต่ต้องการเรียนรู้ให้ได้วิชาต่างๆ เป็นต้นว่าวิชาคงกระพันชาตรี ก็เพื่อที่จะสึกออกไปแก้แค้นพวกโจรที่ปล้นบ้าน โยมพ่อโยมแม่ท่านถึง ๒ ครั้ง แต่เดชะบุญ แม้ท่านจะสำเร็จวิชาต่าง ๆ ตามที่ตั้งใจไว้ท่านกลับได้คิด นึกสลดสังเวชใจตัวเองที่ปล่อยให้อารมณ์อาฆาตแค้นทำร้าย จิตใจ ตนเองอยู่เป็นเวลานับสิบ ๆ ปี ในที่สุดท่านก็ได้ตั้งจิตอโหสิกรรมให้แก่โจรเหล่านั้น แล้ว มุ่งปฏิบัติฝึกฝน อบรมตน ตามทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญา อย่างแท้จริง  

หลวงปู่ดู่ท่านยังเป็นแบบอย่างของผู้มักน้อยสันโดษใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่นิยมความหรูหราฟุ่มเฟือย แม้แต่การสรงน้ำ ท่านก็ยังไม่เคยใช้สบู่เลย แต่ก็น่าอัศจรรย์ เมื่อได้ทราบจากพระอุปัฏฐากว่าไม่พบว่า ท่านมีกลิ่นตัว แม้ในห้องที่ท่านจำวัด  

สิ่งที่ท่านถือปฏิบัติสม่ำเสมอในเรื่องลาภสักการะ ก็คือการยกให้เป็นของ สงฆ์ส่วนรวม แม้ปัจจัยที่มีผู้ถวายให้กับท่านเป็นส่วนตัวสำหรับค่ารักษาพยาบาลท่านก็สมทบเข้าในกองทุนสำหรับจัดสรรไปในกิจสาธารณประโยชน์ต่างๆ ทั้งโรงเรียน และโรงพยาบาล

หลวงปู่ดู่ท่านมิได้ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ การที่ท่านสร้างหรืออนุญาตให้สร้างพระเครื่องหรือพระบูชา ก็เพราะเห็นประโยชน์ เพราะบุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ท่านมิได้จำกัดศิษย์อยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นคณะศิษย์ของท่านจึงมีกว้างขวางออกไป ทั้งที่ใฝ่ใจธรรมล้วนๆ หรือที่ยังต้องอิงกับวัตถุมงคล ท่านเคยพูดว่า “ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าที่จะให้ไปติดวัตถุอัปมงคล”  ทั้งนี้ ท่านย่อมใช้ดุลยพินิจพิจารณาตามความเหมาะควรแก่ผู้ที่ไปหาท่าน

ละสังขาร

ในตอนบ่ายของวันก่อนหน้าที่ท่านจะมรณภาพ ขณะที่ท่านกำลังเอนกายพักผ่อนอยู่นั้น ก็มีนายทหารอากาศผู้หนึ่งมากราบนมัสการท่าน ซึ่งเป็นการมาครั้งแรก หลวงปู่ดู่ได้ลุกขึ้นนั่งต้อนรับด้วยใบหน้าที่สดใส ราศีเปล่งปลั่งเป็นพิเศษ กระ ทั่งบรรดาศิษย์ ณ ที่นั่นเห็นผิดสังเกต หลวงปู่แสดงอาการยินดีเหมือนรอคอย บุคคลผู้นี้มานาน ท่านว่า “ต่อไปนี้ข้าจะได้หายเจ็บหายไข้เสียที” ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าท่านกำลังโปรดลูกศิษย์คนสุดท้ายของท่าน หลวงปู่ดู่ท่านได้ย้ำในตอนท้ายว่า “ข้าขอฝากให้แกไปปฏิบัติต่อ”               

ในคืนนั้นก็ได้มีคณะศิษย์มากราบนมัสการท่านซึ่งการมาในครั้งนี้ไม่มีใคร คาดคิดมาก่อนเช่นกันว่าจะเป็นการมาพบกับสังขารธรรมของท่าน เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว หลวงปู่ดู่ได้เล่าให้ศิษย์คณะนี้ฟังด้วยสีหน้าปรกติว่า “ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดในร่างกายข้าที่ไม่เจ็บปวดเลย ถ้าเป็นคนอื่นคงเข้าห้องไอซียูไปนานแล้ว” พร้อมทั้งพูดหนักแน่นว่า “ข้าจะไปแล้วนะ” ท้ายที่สุดท่านก็เมตตากล่าวย้ำให้ทุกคนตั้งอยู่ใน ความไม่ประมาท “ถึงอย่างไรก็ขออย่าได้ทิ้งการปฏิบัติ ก็เหมือนนักมวยขึ้นเวทีแล้วต้องชกอย่ามัวแต่ตั้งท่าเงอะๆงะๆ” นี้ดุจเป็นปัจฉิมโอวาทแห่งผู้เป็นพระบรม ครูของผู้เป็นศิษย์ทุกคน อันจะไม่สามารถลืมเลือนได้เลย

หลวงปู่ดู่ได้ละสังขารไปด้วยอาการอันสงบด้วยโรคหัวใจในกุฏิท่าน เมื่อเวลาประมาณ 5 นาฬิกาของวันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2533 อายุ 85 ปี 8 เดือน อายุพรรษา 65 พรรษา สังขารธรรมของท่านได้ตั้งบำเพ็ญกุศลโดยมีเจ้าภาพ สวดอภิธรรมเรื่อยมาทุกวันมิได้ขาด ตลอดระยะเวลา 459 วัน จนกระทั่งได้รับพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ในวันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2534

คาถามหาจักรพรรดิ

บทสวดมหาจักรพรรดิ หรือ บทสวดบูชาพระ เป็นบทสวดมนต์ที่มีพุทธคุณครอบจักรวาล เชื่อว่าสามารถสวดเพื่อแผ่เมตตา เปลี่ยนภพภูมิให้เจ้ากรรมนายเวร เสริมบารมี และเปลี่ยนเรื่องร้ายกลายเป็นดีได้ บทสวดนี้ได้รับการรจนาขึ้นโดย หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ แห่งวัดสะแก จ.อยุธยา และ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก “ชมพูปติสูตร” ซึ่งเป็นชาดกที่พระพุทธเจ้าทรงเนรมิตพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเพื่อกำราบความโอหังและก่อนจะแสดงธรรมแก่พญาชมพูบดี พระมหากษัตริย์ผู้มากอิทธิฤทธิ์แห่งเมืองปัญจลราษฐ์ บทสวดมหาจักรพรรดิ เป็นคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์มาก สามารถช่วยเรื่องร้ายให้กลายเป็นดีได้ สามารถเสริมดวงชะตาและเปลี่ยนชีวิตไปในทิศทางที่ดีขึ้น

คาถามหาจักรพรรดิ นั้นเป็นคาถาที่รวมพุทธคุณครอบจักรวาลที่มีพลานุภาพมาก ช่วยปรับในเรื่องต่างๆ จากร้ายให้กลับกลายมาเป็นดี หรือจากเรื่องที่ดีอยู่แล้วก็จะยิ่งทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เป็นการสวดแผ่เมตตาให้ดวงจิตวิญญาณและเจ้ากรรมนายเวรทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลายที่อยู่รอบๆ ตัวเรา เพื่อปรับภพภูมิต่างๆ ให้เขาสูงขึ้นไม่ต้องทนทุกข์ทรมานไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตามในบริเวณบ้าน ตามถนน ตลาด หรือที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆก็สามารถทำให้เขาเหล่านั้นได้ทั้งสิ้น

หากเราไปอยู่ ณ ที่แห่งใดก็ตาม หากต้องการเชื่อมบุญเพื่อการปรับภพปรับภูมิส่งวิญญาณแก้ภพภูมิในบริเวณนั้น ก็ให้กำหนดจิตแล้วสวดบทคาถาพระจักรพรรดิแล้วน้อมแผ่ออกไปจะเป็นการส่งวิญญาณภพภูมิแถวนั้น โดยวิชานี้เราสามารถจะทำได้ แม้ยังเราจะยังไม่มีตาทิพย์ดังเช่นพระอริยสงฆ์ ไม่อาจเห็นรูปกายของ เหล่าโอปปาติกะที่อยู่ต่างภพภูมิก็ตาม ขอเพียงแค่จิตเรามีความใสสะอาดมากพอ และน้อมจิตนั้นไปด้วยความเป็นบุญเมตตาและหวังดีต่อเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย

การแผ่บุญครอบบุญนี้สามารถใช้กับคนที่เรามีความปรารถนาหวังดีได้ด้วยหรือแม้กระทั่งกับศัตรู ที่เราจะเปลี่ยนให้เขาเปลี่ยนกลับกลายมาเป็นมิตรก็ได้เช่นกัน ขอให้นึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าไว้เป็นการทำใจให้ทรงอยู่ในคุณงาม ความดี มีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุติทา อุเบกขา เป็นที่พึ่งการไม่ถือโกรธผู้ใดมีแต่ความหวังดีเป็นการทำใจให้สว่างเมื่อใจเราสว่างฉันใดย่อมกลบความมืดได้ฉันนั้น 

บทสวดคาถามหาจักรพรรดิ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (ท่องนะโม 3 จบ)

นะโมพุทธายะ พระพุทธะ ไตรรัตนะญาณ
มณีนพรัตน์ สีสะหัสสะ สุธรรมา
พุทโธ ธัมโม สังโฆ ยะธาพุทโมนะ
พุทธะบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา
อัคคีทานัง วะรังคันธัง สีวลี จะมหาเถรัง
อะหังวันทามิ ทูระโต อะหังวันทามิ ธาตุโย
อะหังวันทามิ สัพพะโส พุทธะ ธัมมะ สังฆะ ปูเชมิ

(สวดตามกำลังของแต่ละวัน อาทิตย์ 6 จันทร์ 15 อังคาร 8 พุธ 17 พฤหัส 19 ศุกร์ 21 เสาร์ 10)

บทสวดบูชาหลวงปู่ดู่

นะโม โพธิสัตโต พรหมะปัญโญ
นะโม โพธิสัตโต พรหมะปัญโญ
นะโม โพธิสัตโต พรหมะปัญโญ

 

 

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ประวัติ "หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ" พระเถราจารย์วัดสะแก ผู้รจนาบทสวดคาถามหาจักรพรรดิ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook