รำลึกประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ผู้ค้นพบบทสวดล้ำค่า "คาถาชินบัญชร"

รำลึกประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ผู้ค้นพบบทสวดล้ำค่า "คาถาชินบัญชร"

รำลึกประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ผู้ค้นพบบทสวดล้ำค่า "คาถาชินบัญชร"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รำลึกประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ผู้ค้นพบคัมภีร์ล้ำค่า "คาถาชินบัญชร" นำมาดัดแปลงจนเป็นบทสวดในทุกวันนี้

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือ หลวงปู่โต หรือนามที่นิยมเรียก "สมเด็จโต" "หลวงปู่โต" หรือ "สมเด็จวัดระฆัง" ภิกษุมหานิกาย เป็นพระมหาเถระรูปสำคัญที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทย ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ 4-5

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นับเป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปมาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชน และนอกจากจริยาวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นของท่านแล้ว ท่านยังทรงคุณทางด้านวิชชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล "พระสมเด็จ" ที่ท่านได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ได้ถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล 1 ใน 5 ของประเทศไทย และมีราคาซื้อขายในปัจจุบันต่อองค์เป็นราคานับล้านบาท  ด้วยปฏิปทาจริยาวัตรและคุณวิเศษอัศจรรย์ของท่าน ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือว่าท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย และมีผู้นับถือจำนวนมากในปัจจุบัน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว 7 ปี เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต (ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331) ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บรรพชา

มารดาบิดาของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด มีผู้กล่าวประวัติของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายฉบับ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2343 ต่อมาปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า "พฺรหฺมรํสี" เนื่องจากเป็นเปรียญธรรมจึงเรียกว่า "พระมหาโต" มานับแต่นั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รับพระมหาโตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

ท่านมีอุปนิสัยทำสิ่งใดตามความพอใจของตน ไม่ถือเอาความนิยมของผู้อื่นเป็นหลัก และไม่ปรารถนายศศักดิ์หรือลาภสักการะใด ๆ แม้ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ก็ไม่ยอมเข้าสอบเปรียญธรรม ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงตั้งท่านเป็นพระราชาคณะ แต่ท่านไม่ยอมรับ จึงคงเป็นพระมหาโตมาตลอดรัชกาล

ต่อมากล่าวกันว่า พระมหาโตได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ และได้สร้างปูชนียสถานในที่ต่าง ๆ กัน เช่น สร้างพระพุทธไสยาศน์ไว้ที่วัดสะตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น ซึ่งปูชนียสถานทุกแห่งที่ท่านสร้างจะมีขนาดใหญ่โตสมกับชื่อของท่านอยู่เสมอ การจะสร้างปูชนียสถานขนาดใหญ่เช่นนี้ล้วนแต่ต้องใช้ทุนทรัพย์และแรงงานจำนวนมากในการก่อสร้างจึงจะทำได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความศรัทธาและบารมีของท่าน ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนในย่านที่ท่านได้ธุดงค์ผ่านไปอย่างชัดเจน

สมณศักดิ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดปรานพระมหาโตเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2395 พระองค์จึงได้พระราชทานตั้งสมณศักดิ์พระมหาโตเป็นครั้งแรก เป็นพระราชาคณะที่ "พระธรรมกิติ" และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี โดยปกติแล้วพระมหาโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด อีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2397) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ "พระเทพกระวี" หลังจากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ ในราชทินนามที่ "สมเด็จพระพุฒาจารย์" คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า "สมเด็จโต" หรือ "สมเด็จวัดระฆัง" ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่านเรียกท่านว่า "ขรัวโต"

มรณภาพ

ราวปี พ.ศ. 2410 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่วัดอินทรวิหาร (ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน) ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่ทันสำเร็จ โดยขณะนั้นก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก เวลาเที่ยง ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี

พระคาถาชินบัญชร

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้ค้นพบพระคาถาชินบัญชรจากคัมภีร์โบราณ และได้ศึกษาค้นคว้าจนเข้าใจในอานุภาพของพระคาถานี้เป็นอย่างดี ท่านจึงได้นำมาเผยแพร่ให้พุทธศาสนิกชนได้สวดภาวนากันอย่างแพร่หลาย และเพื่อให้พระคาถาชินบัญชรเหมาะสมกับการสวดภาวนาในปัจจุบัน หลวงปู่โตได้ทำการดัดแปลงและปรับปรุงพระคาถาให้สั้นลงและเข้าใจง่ายขึ้น ทำให้พระคาถาชินบัญชรเป็นที่นิยมสวดภาวนากันอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยเหตุที่คัมภีร์ฉบับนั้นไม่ระบุนามผู้รจนา สมเด็จพระพุฒาจารย์โต จึงมิอาจอ้างอิงชื่อผู้ประพันธ์ให้รัชกาลที่ 4 ทรงทราบได้ เมื่อกาลเวลาผ่านผัน คนทั่วไปไม่รู้ที่มาที่ไป ก็ยิ่งคิดกันเอาเองว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์โตคือผู้แต่งพระคาถาชินบัญชรนั้น

พระคาถาชินบัญชรที่หลวงปู่โตได้นำมาเผยแพร่นั้น ถือเป็นมรดกทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ และเป็นที่นิยมสวดภาวนากันอย่างแพร่หลายในหมู่พุทธศาสนิกชน การสวดพระคาถาชินบัญชรอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้จิตใจสงบและมีความสุข รวมทั้งยังช่วยเสริมสร้างกำลังใจและคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ได้อีกด้วย

คาถาชินบัญชร สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook