สรุปให้แล้ว หลัง "เศรษฐา" พ้นเก้าอี้นายก ครม.พ้นตำแหน่งทั้งคณะ แล้วยังไงต่อ?
หลังวันนี้ (14 ส.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัย คดียื่นถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ปมแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ศาลมีมติ 5:4 ให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พร้อมให้คณะรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งทั้งคณะ
ส่งผลให้นายเศรษฐา ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที รวมทั้งรัฐมนตรีทั้งหมดใน ครม.ชุดปัจจุบัน พ้นจากตำแหน่งไปด้วย คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน จะกลายเป็น คณะรัฐมนตรีรักษาการ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจ ยุบสภา
ทางเลือกที่ 1 ยุบสภา เลือกตั้งใหม่
หากมีการยุบสภาก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งใหม่ โดย รักษาการนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้มีอำนาจยุบสภา จากนั้นเมื่อประกาศยุบสภาแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ภายในระยะเวลา 45-60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด
ทางเลือกที่ 2 ไม่ยุบสภา เลือกนายกใหม่
แต่หากไม่ยุบสภา จะอาศัยสภาให้ความเห็นชอบโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่และจัดตั้งรัฐบาลใหม่แทน
พรรคร่วมรัฐบาลอาศัยสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็จะต้องมีการโหวตเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองที่ได้เสียงในสภาไม่น้อยกว่า 25 เสียง เคยแจ้งไว้ต่อ กกต.ในการเลือกตั้งปี 2566 โดยแคนดิเดตที่เหลืออยู่ในตอนนี้จำนวน 5 คน ประกอบด้วย
- น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย
- นายชัยเกษม นิติศิริ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย
- นายอนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคภูมิใจไทย
- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ
- นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แคนดิเดตนายกฯ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ