รู้จัก 5 งูเขียวไม่อันตราย คนเข้าใจผิดว่ามีพิษ แยกดีๆ เขียวไหน อย่าทำร้ายน้อง
เปิดลิสต์ 5 งูเขียวไม่อันตราย เป็นมิตรกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่คนเข้าใจผิดว่ามีพิษ จนทำให้โดนทำร้าย เขียวไหนดูดีๆ อย่าตีน้อง
ประเทศไทยมี "งู" อยู่หลากหลายสายพันธุ์นับร้อยชนิด ซึ่งงูตามธรรมชาตินั้น มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก โดยงูที่มนุษย์พบเจอได้บ่อยคือ "งูเขียว" ซึ่งก็งูเขียวก็มีทั้งมีพิษร้ายแรงและไม่มีพิษเลย หลายชนิดไม่มีพิษแต่ถูกเข้าใจผิดจากรูปลักษณ์ภายนอก ทำให้ผู้คนหวาดกลัวและถูกทำร้ายจนตาย วันนี้ Sanook จะพาไปรู้จัก "งูเขียว" ที่พบได้บ่อย และไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ ถ้าเจอในบ้านก็หาทางนำออกไปไว้ด้านนอกโดยไม่ทำอันตราย อาทิ ใช้ไม้ยาวๆ เขี่ยออกไป ถ้าไม่มั่นใจหรือไม่กล้า สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยจับออกไปจะดีที่สุด
1.งูเขียวพระอินทร์
งูเขียวพระอินทร์ หรือ งูเขียวดอกหมาก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Chrysopelea ornate) เป็นงูลักษณะลำตัวเรียวยาว ปราดเปรียว เกล็ดสีเขียวแกมเหลืองลายดำ สามารถเลื้อยไต่ไปบนกิ่งไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นงูพิษอ่อนไม่มีผลกับมนุษย์ที่สามารถพบได้บ่อยครั้งตามบ้านเรือน จึงได้รับสมญานามว่า "งูสามัญประจำบ้าน
งูเขียวพระอินทร์ มีนิสัยขี้ตื่นกลัว เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีลำตัวเรียวยาวสีเขียวอ่อนลายสีดำตลอดทั้งตัว สามารถพบเจอได้ทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมืองอื่นๆ และในสวน งูเขียวพระอินทร์มีประโยชน์ต่อมนุษย์ในการรักษาระบบนิเวศ โดยช่วยกินสัตว์ไม่พึงประสงค์ เช่น หนู ตุ๊กแก จิ้งจก แมลงต่างๆ และสัตว์อื่นๆ โดยทั่วไปงู ส่วนใหญ่จะออกหากินตอนกลางคืน แต่งูเขียวพระอินทร์จะออกหากินตอนกลางวันตามบ้านและตามต้นไม้ ทำให้มนุษย์มีโอกาสพบได้ง่าย และทำร้ายมัน โดยที่ไม่ทราบว่างูชนิดนี้มีพิษอ่อนที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แถมยังมีประโยชน์ในการช่วยรักษาระบบนิเวศอีกด้วย
งูพิษชิดใกล้ Thailand Snakes : Close Encounters
2. งูเขียวปากแหนบ
งูเขียวปากแหนบ (Long-nosed whip snake, Green vine snake) เป็นงูพิษอ่อนชนิดหนึ่ง เป็นงูที่มีลักษณะคล้ายกับ งูเขียวปากจิ้งจก (Oriental Whip Snake หรือ Ahaetulla prasina) มาก โดยลำตัวเรียวยาวมีพื้นลำตัวส่วนใหญ่เป็นสีเขียว ตามีขนาดใหญ่ ม่านตาอยู่ในแนวนอน หางมีสีเขียวกับลำตัว แต่มีความแตกต่างคือ งูเขียวปากแหนบจะมีจะงอยปากที่เรียวเล็กและแหลมกว่างูเขียวปากจิ้งจก และมีติ่งแหลมยื่นที่ปลายหัว ใช้ชีวิตอาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นส่วนใหญ่ กินอาหารสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก กบ เขียด นก และหนูเป็นอาหาร
พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยพบทั่วทุกภาคยกเว้นภาคใต้ พบในป่าทุกประเภท รวมถึงสวนสาธารณะหรือสวนในบ้านเรือนผู้คนทั่วไปในเมืองใหญ่ด้วย
3.งูเขียวหัวจิ้งจก
งูเขียวหัวจิ้งจก หรือ งูเขียวปากจิ้งจก (Oriental whipsnake หรือ Ahaetulla prasina) เป็นงูที่มีพิษอ่อนมาก มีลักษณะลำตัวเรียวยาว หัวหลิม ปลายปากแหลม ขนาดเมื่อโตเต็มที่ได้ถึง 2 เมตร พื้นลำตัวโดยมากเป็นสีเขียว มักจะมีเส้นสีขาวข้างลำตัวบริเวณแนวต่อระหว่างเกล็ดตัวกับเกล็ดท้อง เส้นขาวยาวตั้งแต่บริเวณคอ จนถึงโคนหาง ท้องขาว ส่วนหางตั้งแต่โคนหางถึงปลายหางจะมีสีน้ำตาลหรือสีชมพู ตามีขนาดใหญ่ ม่านตาอยู่ในแนวนอน อาศัยอยู่ตามต้นไม้ พบทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ในป่าทุกประเภท แม้กระทั่งสวนสาธารณะหรือสวนในบริเวณบ้านเรือนของผู้คนที่อยู่ในเมือง โดยพิษจะสามารถทำอันตรายได้เฉพาะสัตว์เล็กที่เป็นอาหาร เช่น จิ้งจก, กิ้งก่า, นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เป็นต้น
Thai National Parks
งูเขียวปากแหนบ และ งูเขียวปากจิ้งจก มีพิษอ่อนมาก โดยพิษจะสามารถทำอันตรายได้เฉพาะสัตว์เล็กที่เป็นอาหาร เช่น จิ้งจก, กิ้งก่า, นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก บางตัวมีหางสีเขียว สีน้ำตาลหรือน้ำตาลแดง จึงมีคนเข้าใจผิดบ่อยว่าเป็นงูเขียวหางไหม้ที่มีพิษร้ายแรง
4.งูเขียวบอน
งูเขียวบอน,งูเขียวดง (Green Cat Snake หรือ Boiga cyanea) เป็นงูกลุ่มงูเขี้ยวพิษหลัง พิษอ่อนไม่อันตราย จุดสังเกต ตัวสีเขียว ลำตัวยาวเรียว ตากลมโต คอคอดเล็ก เกล็ดเรียบวาว งูเขียวบอนในช่วงวัยเด็กส่วนลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลอมส้มๆ ส่วนหัวสีเขียว พอโตขึ้นจากสีน้ำตาลก็จะกลายเป็นสีเขียวแบบที่เห็นกันทั่วๆไป งูเขียวบอน เป็นงูที่ออกหากินช่วงเวลากลางคืน ส่วนใหญ่มักพบตัวได้ตามต้นไม้ หรืออาจพบตามพื้นได้บางครั้ง บางทีก็หลบซ่อนอาศัยอยู่ตามรูของนก กินอาหารได้หลากหลาย เช่น พวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก หนู กระรอก พวกสัตว์ปีก นก และสามารถกินไข่ได้เช่นกัน
งูเขียวบอน มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นงูเขียวหางไหม้ แต่แท้จริงแล้ว สามารถแยกสองชนิดนี้ออกจากกันได้ตั้งแต่รูปร่างไปจนถึงพฤติกรรมงูเขียวบอนจะมีลำตัวที่ยาวใหญ่ ตาโต และมีหัวเป็นทรงสี่เหลี่ยมขอบมน แตกต่างจากงูเขียวหางไหม้ที่จะลำตัวสั้นกว่ามากและหัวเป็นทรงสามเหลี่ยมชัดเจนเมื่อมองจากด้านบนนอกจากนี้เมื่อถูกคุกคาม งูเขียวบอนจะชูคอและอ้าปากกว้างทำท่าทางดุร้าย แตกต่างจากงูเขียวหางไหม้ที่จะมองอยู่นิ่งๆ และพร้อมที่จะฉกเมื่อศัตรูยังดื้อดึงที่จะเข้ามาใกล้มัน
5. งูเขียวกาบหมาก
งูเขียวกาบหมาก (Gonyosoma oxycephalum) เป็นงูไม่มีพิษขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ ลักษณะที่โดดเด่นคือ นอกจากตัวสีเขียวแล้ว มันยังมีขีดสีดำๆ หลังตาชัดเจน เหมือนเขียนอายไลน์เนอร์และหางเป็นสีน้ำตาลจนทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดคิดว่าเป็นงูเขียวหางไหม้ยักษ์ พบได้ทั้งที่ราบต่ำๆ ตามพื้นที่สูงหรือดอย ไม่ชอบชุมชนเมือง ช่วยทำหน้าที่ควบคุมหนู กระรอกที่เข้ามากัดกินพืชผลได้ดี นิสัยไม่ก้าวร้าว อาจขู่กลับหรือสู้บ้างเมื่อถูกรบกวนมากๆ แต่ก็ไม่เป็นอันตรายต่อใคร ในประเทศไทยมีกระจายทุกภาค ป่าที่มีต้นไม้ยืนต้นใหญ่ๆ ชุมชนที่จะได้เจอกับมันต้องเป็นชุมชนใกล้ป่า
ส่วนงูเขียวมีพิษอันตราย ในประเทศไทยที่พบบ่อย ได้แก่ งูเขียวหางไหม้
งูเขียวหางไหม้ มีรูปร่างโดยรวม คือ มีหัวยาวมนใหญ่เป็นรูปสามเหลี่ยม คอเล็ก ตัวอ้วนสั้น ปลายหางมีสีแดง ลำตัวมีสีเขียวอมเหลืองสด บางตัวมีสีเขียวอมน้ำเงิน หางสีแดงสด บางตัวมีหางสีแดงคล้ำเกือบเป็นสีน้ำตาล อันเป็นที่มาของชื่อ จัดเป็นงูพิษอ่อน ผิดไปจากงูสกุลหรือชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน โดยผู้ที่ถูกกัดจะไม่ถึงกับเสียชีวิต นอกจากเสียแต่ว่ามีโรคหรืออาการอื่นแทรกแซง โดยผู้ที่ถูกกัดจะมีอาการปวดอย่างรุนแรงทันทีที่ถูกกัด แล้วค่อย ๆหายใน 5-6 ชั่วโมง บริเวณที่ถูกกัดจะบวมอย่างรวดเร็วในระยะ 3-4 วันแรก จากนั้นจะค่อย ๆ ยุบบวมในเวลา 5-7 วัน อาจจะมีเลือดออกจากรอยเขี้ยว แต่ไม่มาก หากมีอาการมากกว่านี้ถือว่าเป็นอาการหนัก
งูเขียวหางไหม้ เป็นงูที่เลื้อยช้า ๆ ไม่รวดเร็ว มีนิสัยดุและฉกกัดเมื่อเข้าใกล้ ชอบอาศัยตามซอกชายคา, กองไม้, กระถางต้นไม้, กอหญ้า ออกหากินในเวลากลางคืนทั้งบนต้นไม้ และตามพื้นดินที่มีหญ้ารก ๆ โดยกิน นก, จิ้งจก, ตุ๊กแก, สัตว์ฟันแทะ รวมถึงสัตว์สะเทินบกสะเทินน้ำต่าง ๆ เป็นอาหาร ขณะเกาะนอนบนกิ่งไม้ จะใช้ลำตัวและหางรัดพันยึดกับกิ่งไม้ไว้ โดยปกติ เป็นงูที่ออกลูกเป็นตัวครั้งละประมาณ 8-12 ตัว แต่ก็มีบางชนิดเหมือนกันที่ออกลูกเป็นไข่
- งูเขียวหางไหม้ตาโต (Trimeresurus macrops) งูเขียวหางไหม้ตาโตมีลักษณะหัวโตรูปสามเหลี่ยม คอคอดเล็ก มีร่องตรวจจับอุณหภูมิระหว่างจมูกกับตา (pit organ) เป็นงูที่มีดวงตากลมโตสีเหลือง รูม่านตาเล็กสีดำเป็นแนวตั้ง สีพื้นลำตัวเป็นสีเขียวแก่ ท้องด้านล่างเป็นสีเขียวหรือสีเขียวอมฟ้า หางมีสีน้ำตาลแดง เป็นงูพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบเลือดเป็นหลัก งูเขียวหางไหม้ตาโต ปกติออกหากินในเวลากลางคืนตามพื้น หรือรอเหยื่อตามพุ่มไม้เตี้ยๆ กินอาหารได้หลากหลาย เช่น พวกสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ กบเขียด สัตว์เลื้อยคลาน จิ้งจก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก หนู
Nick Wildlife
- งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง (White-lipped pit viper/rimeresurus albolabris) งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง มีลักษณะหัวโตรูปสามเหลี่ยม คอคอดเล็ก ตัวป้อมๆ ส่วนหัวด้านบนมีสีเขียวเข้ม ด้านล่างของหัวมีสีเขียวอ่อนๆ หรือสีเหลืองๆ ลำตัวมีสีเขียวสดใส บางตัวอาจพบการแปรผันของสี เช่น สีฟ้า หรือเป็นงูเผือกที่มีสีเหลืองสดดวงตาสีแดง ด้านท้องมีสีเขียว สีเหลือง หรือสีขาวๆ ส่วนหางมีสีน้ำตาลแดง งูเขียวหางไหม้ท้องเหลืองเป็นงูพิษอันตราย พิษออกฤทธิ์ส่งผลต่อระบบเลือดเป็นหลัก เป็นงูที่พบได้ทุกภาคในประเทศไทย ออกหากินในเวลากลางคืน ดักรอเหยื่อตามกิ่งไม้เตี้ยๆ กินอาหารได้หลากหลาย เช่น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก หนู
- งูเขียวไผ่หางเขียว (Vogel's Green Pitviper) เป็นงูพิษอ่อนอันตรายอีกชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในสกุลงูเขียวหางไหม้และคล้ายคลึงกันมาก แต่มีลักษณะทั่วไปโตเต็มที่จะใหญ่กว่างูเขียวหางไหม้ มีริมปากจนถึงช่วงท้องสีขาว สีเขียวอ่อนกว่า และมีปลายหางสีเขียว ถึงทำให้ในบางคนไม่สามาถแยกแยะได้ว่างูเขียวชนิดนี้มีพิษหรือไม่ ด้วยลักษณะของงูพิษชนิดนี้ หัวจะโตกลมของเล็ก และมีรูรับความร้อน ม่านตาแนวตั้งฉากเช่นเดียวกับแมว และก็มีพิษที่อันตรายต่อระบบเลือด สามารถทำให้เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อตายได้ สามารถจำแนกเพศของงูเขียวได้ งูในภาพมีแถบสีขาว,แดง พาดยาวข้างลำตัวเป็นลักษณะบ่งบอกว่าเป็นเพศผู้ สำหรับเพศเมียจะเป็นแถบสีเหลือง
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น คำแนะนำจากสภากาชาดไทย
หากถูกงูกัดอย่าพิ่งตกไจ ตั้งสติ ดูลักษณะของงูหรือถ่ายรูปงูเอาไว้ และร้องขอความช่วยเหลือ ไม่แนะนำให้ขันชะเนาะ (tourniquet) เพราะไม่สามารถป้องกันการดูดซึมพิษงูได้ และถ้ารัดแน่นเกินไปอาจทำให้เกิดเนื้อเน่าตายได้ จึงควรรีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด โดยขยับส่วนที่ถูกกัดให้น้อยที่สุด เพื่อลดการดูดซึมพิษงู และหากถูกงูหาพ่นพิษเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก
ผู้ป่วยที่ถูกที่มีพิษต่อระบบประสาทกัด อาจเป็นอัมพาตทั่วตัวคล้ายกับเสียชีวิตแล้ว ไม่ควรหยุดการช่วยเหลือ ให้รีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อช่วยการหายใจโดยเร็วที่สุด
แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจเลือด บางรายยังไม่มีอาการของพิษ เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจึงต้องสังเกตอาการต่อจนกว่าจะพ้นระยะอันตราย การให้เซรุ่มต้านพิษงูมีประโยชน์ แต่ก็เสี่ยงต่อการแพ้ และบางครั้งงูมีพิษกัดแต่ไม่ปล่อยพิษ ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ แพทย์จึงเลือกให้เซรุ่มเฉพาะรายตามความเหมาะสมเซมต้านพิษงูจะช่วยเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรง และเลือดออกให้ดีขึ้นได้ แม้ผู้ป่วยจะได้เซรุ่มแล้ว บางรายอาจยังเกิดเนื้อเน่าตายหรือไตวายต่อมาภายหลังได้ จึงอาจต้องอาศัยการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การผ่าตัดตัดเนื้อตายออก การให้สารน้ำหรือการล้างไต เพื่อป้องกันและรักษาภาวะไตวาย เป็นต้น
งูเหลือม กับ งูหลาม ต่างกันยังไง? เพิ่งรู้มีวิธีสังเกตง่ายมาก ดูแค่ส่วนหัวก็รู้เลย
แยกยังไง? งูทับสมิงคลา-งูปล้องฉนวน แฝดคนละฝา ตัวนึงมีพิษรุนแรง อีกตัวไม่มีพิษเลย