แพงเวอร์! กดดันศูนย์อาหารในห้างขายจาน 25 บาท
12 ก.ค. นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า และตลาดสด อาทิ บิ๊กซี เทสโก โลตัส คาร์ฟูร์ แม็คโคร เดอะมอลล์ เซ็นทรัล ท็อปส์ ได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหาอาหารปรุงสำเร็จราคาแพง ให้ทุกร้านค้าในศูนย์อาหารจัดอาหารเมนูธงฟ้าราคาประหยัดอย่างน้อย 1 รายการ ราคา 25 บาท และขอความร่วมมือกับร้านอาหารเครือมิตรธงฟ้า 3,891 แห่งทั่วประเทศ ตรึงราคาอาหารสำเร็จรูปไว้จานละ 20-25 บาท จำหน่ายแก่ประชาชน เพื่อเป็นทางเลือกในการเลือกซื้อ และช่วยลดปัญหาค่าครองชีพ โดยเริ่มตั้งแต่ 19 ก.ค.นี้ เป็นต้นไป
เนื่องจากที่ผ่านมา ประชาชนร้องเรียนมาที่กรมการค้าภายในอย่างต่อเนื่องว่า ได้รับความเดือดร้อนจากราคาอาหารปรุงสำเร็จ เครื่องดื่ม น้ำแข็งเปล่า ที่จำหน่ายในร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และตลาดสดมีราคาสูง และจากการลงพื้นที่สำรวจในห้างสรรพสินค้าพบรายการอาหาร ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด ข้าวราดแกง ข้าวหมูแดง ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู มีราคาแพงจริง ตกจานละ 25-50 บาท น้ำเปล่าขวดใส (ขวดเพท) 500 มล. ราคา 10-15 บาท น้ำแข็งเปล่าแก้วละ 1-5 บาท ขณะที่ อาหารจานด่วนในตลาดสดมีราคาสูงเช่นกัน จานละ 20-35 บาท น้ำเปล่าขวดใส 7-10 บาท และน้ำแข็งเปล่า 1-2 บาท
"กรมฯ กำลังเร่งแก้ปัญหาอาหารสำเร็จรูปราคาแพง เพราะตอนนี้ได้รับร้องเรียนเข้ามามาก ต่อจากปัญหาเนื้อหมู ไข่ไก่ น้ำตาลทรายแพง อีกทั้งยังกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมาก เพราะระยะหลังคนไทยหันมาพึ่งพาการบริโภคอาหารนอกบ้านมากขึ้น ดังนั้น การที่อาหารปรุงสำเร็จเครื่องดื่มแพง ย่อมกระทบต่อภาระค่าครองชีพ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือให้ทุกร้านค้าตรึงราคา หรือเพิ่มเมนูทางเลือกราคาประหยัดแก่ผู้บริโภค และต้องเป็นอาหารคุณภาพ ปริมาณเหมาะสม และรสชาติอร่อย รวมถึงขอให้ทุกศูนย์อาหารลดราคาเครื่องดื่ม น้ำแข็งเปล่า และจัดมุมน้ำดื่มฟรีให้บริการด้วย"
นางวัชรีกล่าวต่อว่า ภายใน 2 สัปดาห์นี้จะเรียกผู้ประกอบการน้ำเปล่าบรรจุขวดรายใหญ่และรายเล็ก อาทิ บริษัทเสริมสุข บริษัทไทยน้ำทิพย์ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ บริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) มาหารือแก้ไขปัญหา เพราะที่ผ่านมาได้รับร้องเรียนจากผู้บริโภคมาว่ามีราคาแพง และมีราคาขายไม่เท่ากัน จึงจะขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการทุกรายแจ้งต้นทุนของการผลิต และราคาจำหน่ายเพื่อมาจัดทำเป็นราคาแนะนำแจ้งให้ผู้บริโภครับทราบ
"ที่ผ่านมา กรมไม่ได้เข้าไปดูแลราคาน้ำเปล่าอย่างชัดเจน ทำให้แต่ละร้านค้ามีการขายราคาสูง บางแห่งขายขวดละ 8-10 บาท หรือ สูงถึง 15 บาท ดังนั้น จากนี้ต้องดูแลราคาขายให้ชัดเจน เพราะถือว่าสร้างผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพผู้บริโภคมาก โดยให้ผู้ประกอบการแจ้งต้นทุน ทั้งขวดบรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง น้ำดื่ม เข้ามา เพื่อกำหนดราคาขายแนะนำที่เหมาะสม ซึ่งชนิดขวดเพท หรือ ขวดใส อาจมีราคาสูงสุด เพราะต้นทุนขวดค่อนข้างสูง แต่หากเป็นขวดขุ่นราคาก็ถูกลง หรือ ขวดแก้วก็ลดลงมาอีก เพราะขวดสามารถนำมาใช้หมุนเวียนได้"