"พระปิดตา" ทำไมต้องปิดตา? เผยตำนานสมัยพุทธกาล ก่อนมาเป็นพระเครื่องยอดนิยม

"พระปิดตา" ทำไมต้องปิดตา? เผยตำนานสมัยพุทธกาล ก่อนมาเป็นพระเครื่องยอดนิยม

"พระปิดตา" ทำไมต้องปิดตา? เผยตำนานสมัยพุทธกาล ก่อนมาเป็นพระเครื่องยอดนิยม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระปิดตา เป็นพระที่เชื่อว่ามีพุทธคุณในเรื่องของเมตตา มหานิยม หากมีการปลุกเสกจากเกจิอาจารย์ดังๆ บางท่านก็สามารถช่วยป้องกัน แคล้วคลาดจากเรื่องร้ายๆ ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศกัมพูชา ก่อนขยายอิทธิพลเข้าสู่วงการการสร้างพระเครื่องของไทย ในยุคแรกๆ พระปิดตาสร้างจากเนื้อโลหะ 

พระปิดตาเนื้อโลหะยุคแรกๆ ได้แก่ พระปิดตากรุวัดท้ายย่าน อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ต่อมาจึงมีการสร้างพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักและพระปิดตาอื่น ๆ เช่น พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จังหวัดชลบุรี จนได้รับความนิยมแพร่หลายช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น พระปิดตาวัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) พระปิดตาวัดหนัง พระปิดตาวัดทอง พระปิดตาหลวงปู่ศุข พระปิดตาแร่บางไผ่ และ พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม เป็นต้น

พระปิดตาท้ายย่าน เนื้อสัมฤทธิ์ สมาคมนักสะสมพระกรุ พระเก่าและผู้ค้าวัตถุโบราณแห่งประเทศไทย พระปิดตาท้ายย่าน เนื้อสัมฤทธิ์

ทำไมต้องปิดตา?

ความหมายเบื้องต้นแห่งการปิดตาก็คือการปิด "ทวาร" หรือทางเข้าทางออกแห่งอาสวะกิเลสทั้งหลายซึ่ง เราชื่อกันว่าร่างกายของมนุษย์ (หรือสัตว์) มี "ทวาร" หมายถึง ประตูแห่งการเข้าออก 9 ทาง ได้แก่ ตา 2 จมูก 2 หู 2 ปาก 1 รวมทั้ง ช่องทางขับถ่ายด้านหน้าและด้านหลังอีก 2 รวมเป็น ทวารทั้ง 9 

นอกจากนี้พระปิดตายังเป็นพระเครื่องสะท้อนถึงการสงบของจิตใจด้วยการ "ปิดตา" แง่ปริศนาธรรม การปิดตา หมายถึง ไม่รับรู้เรื่องวุ่นวายต่างๆ การสำรวมใจจากกิเลสและสิ่งยั่วยวนต่างๆ อย่างเวลาเวลาเราจะฝึกนั่งสมาธิ เพื่อความสงบของจิต เราก็ต้องหลับตา 

พระปิดตาจะมีทั้งหมด 3 ประเภท

1.พระปิดตามหาอุด ชนิดปิดตานั่งยอง หรือ พระปิดตากุมารในพระครรภ์  ตามความหมายเดิมคือ โพธิสัตว์เจ้าในพระครรภ์ เป็นพระปิดทวารทั้งเก้าเต็มภาค ปราศจากกิเลสเหมือนทารกในครรภ์ มีพุทธคุณด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ป้องกันอันตรายต่าง ๆ ภัยไม่มี บารมีบังเกิด

พิมพ์นั่งยองเนื้อสำริด พระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี อินทโชติ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยพิมพ์นั่งยองเนื้อสำริด พระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี อินทโชติ
2.พระปิดตานั่งขัดสมาธิ ยกหัตถ์ปิดทวารทั้งเก้า “ภควัม” ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานหมายความถึง พระปิดทวารทั้งเก้า ปิดตา คว่ำพระพักตร์ มีพุทธคุณด้านการป้องกันอันตรายต่าง ๆ

ส่องพระ
3.พระปิดตานั่งขัดสมาธิ ยกหัตถ์ทั้งสองขึ้นปิดพระพักตร์ เว้นส่วนอื่น เป็นพระเมตตามหานิยมและลาภผล เรียกว่า “ พระควัมปติ” หรือ "พระควัมบดี"

พระปิดตาหลวงพ่อดำ เนื้อโลหะผสม พ.ศ.2537 วัดใหม่นภาราม จ.นราธิวาสสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยพระปิดตาหลวงพ่อดำ เนื้อโลหะผสม พ.ศ.2537 วัดใหม่นภาราม จ.นราธิวาส

ตำนานและประวัติของ พระปิดตา เรื่องที่ 1

พระควัมปติ คือ พระมหากัจจายนะ 

พระควัมบดี หรือ พระควัมปติ คือนามหนึ่งของพระมหากัจจายนะ หนึ่งในพระอรหันต์สมัยพุทธกาล ท่านเป็นบุตรของพราหมณ์ตระกูลกัจจายนะ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี นอกจากท่านจะมีความเฉลียวฉลาด สามารถศึกษาอะไรได้รวดเร็วแล้ว ท่านยังมีรูปกายที่งดงาม มีผิวพรรณดั่งทองคำอีกด้วย

ต่อมาท่านได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจนเกิดความเลื่อมใสและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงได้อุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุสัมปทา (พระพุทธเจ้าทำการบวชให้) และพระพุทธเจ้าทรงยกย่องให้เป็นเอตทัคคะในทางอธิบายความย่อให้พิสดาร คือมีความสามารถเป็นเลิศในการย่อพระธรรมให้สั้นและเข้าใจง่าย 

ด้วยความที่ท่านมีรูปงามมาก ทำให้หลายคนมักเข้าใจผิดว่าท่านคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเชื่อกันว่า "พระภควัมปติ" ที่ผู้คนเรียกขานท่านนั้น มีความหมายว่า "ผู้มีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า" นั่นเอง นอกจากคนจะเข้าใจผิดแล้ว บางคนยังหลงใหลในรูปของท่านจนก่อกรรมโดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อเห็นโทษเช่นนี้แล้ว พระมหากัจจายนะจึงทรุดองค์ลงนั่งคู้บัลลังก์ ยกหัตถ์ขึ้นปิดพระพักตร์ แล้วอธิษฐานจิตเนรมิตให้ร่างกลายเป็นอ้วน เตี้ย เป็นพระภิกษุอ้วนท้วนจะได้ไม่งาม แต่ก็หาได้ลดความเป็นผู้ทรงคุณธรรมลงไม่ 

ตอนที่พระภควัมปติท่านกำลังเข้านิโรธสมบัติ ทวารทั้งเก้าก็จะปิดสนิท ไม่ยินดียินร้ายกับกิเลสทั้งหลาย เป็นความดับสนิท ของอาสวะกิเลสต่าง ๆ ที่ไม่อาจจะมาแผ้วพานได้เลย อันเป็นการป้องกันสรรพภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง

ตำนานและประวัติของ พระปิดตา เรื่องที่ 2

อีกความเชื่อหนึ่งก็คือ พระปิดตา ก็คือ พระควัมปติเถระ ผู้เป็นหนึ่งในพระอสีติมหาสาวก 80 องค์ (พระสาวกผู้ยิ่งใหญ่ สำคัญ และเป็นภิกษุผู้บรรลุธรรมขั้นสูงสุด คือพระอรหัตผล) เดิมท่านเป็นบุตรในตระกูลเศรษฐี และเป็นสหายกับยสมานพ ต่อมาเมื่อได้บรรพชาเป็นพระภิกษุสงฆ์และได้ฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนบรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมกับสหายท่านอื่นๆ 

นอกจากนี้พระควัมปติเถระท่านยังมีฤทธิ์มาก โดยความในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปยังเมืองสาเกต แล้วประทับอยู่ในพระวิหารอัญชนวัน ปรากฏว่าเสนาสนะมีไม่เพียงพอ ภิกษุจำนวนมากจึงต้องพักอยู่ที่เนินทรายริมแม่น้ำสรภู ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพระวิหาร แต่ทว่าในคืนนั้นเอง ก็เกิดเหตุน้ำหลากในยามวิกาล ทำให้สามเณรส่งเสียงร้องด้วยความตกใจ พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุแล้วจึงตรัสให้พระควัมปติเถระหยุดกระแสน้ำนั้นไว้ ซึ่งพระควัมปติเถระก็สามารถใช้กำลังของฤทธิ์หยุดกระแสน้ำนั้นไว้ได้เป็นที่อัศจรรย์

พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญพระควัมปติเถระเพื่อประกาศคุณว่า ให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนอบน้อมพระควัมปติ ผู้ห้ามแม่น้ำสรภูให้หยุดไหลได้ด้วยฤทธิ์ ไม่ติดอยู่ในกิเลสและตัณหา ไม่หวั่นไหวต่ออะไรทั้งสิ้น เป็นผู้ผ่านพ้นเครื่องข้องทั้งปวง เป็นมหามุนี เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook