รู้จัก "พระรอด" ชื่อนี้มีที่มายังไง ตำนานพระเครื่องแห่งหริภุญชัย ของแท้อายุนับพันปี
รู้จัก "พระรอด" ชื่อนี้มีที่มายังไง ตำนานพระเครื่องเก่าแก่แห่งหริภุญชัย ของแท้อายุนับพันปี
"พระรอด" หนึ่งในพระเครื่องชุดเบญจภาคี ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุด ถูกค้นพบในบริเวณวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นเมืองเก่าของอาณาจักรหริภุญชัยในสมัยโบราณ นับได้ว่าเป็นพระเครื่องคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำพูนที่มีอายุการสร้างกว่าพันปี
วัดมหาวัน เป็นหนึ่งในสี่พระอารามหลวงที่สำคัญยิ่ง โดย "พระนางจามเทวี" ผู้ครองนครหริภุญชัยได้โปรดให้สร้างขึ้นไว้เมื่อ พ.ศ.1223 ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองลำพูน นับเป็นพระอารามแห่งเดียวที่มีการขุดพบพระรอด
ที่มาของชื่อ "พระรอด"
-
มาจากนามผู้สร้าง พระฤๅษีนารอด
ข้อมูลจาก สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ระบุว่า พระรอด เป็นพระเครื่องที่มีอายุนับพันปี นับเป็นหนึ่งในพระเครื่องที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย พระรอด สร้างโดยพระนางจามเทวี เมื่อครั้งเสด็จจากเมืองละโว้มาเสวยราชย์ที่หริภุญไชย (จังหวัดลำพูน) ในพ.ศ. 1223 พระนางได้ทรงสถาปนาพระอารามประจำทวารทั้งสี่ของนครขึ้น เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระนคร เรียกว่า จตุรพุทธปราการ โดยพระฤาษีทั้งสี่ได้ร่วมโดยเสด็จพระราชกุศล โดยสร้างพระเครื่องของตนขึ้น และบรรจุในกรุของแต่ละวัดใน 4 มุมเมือง เพื่อต่ออายุพระศาสนา และเพิ่มเกณฑ์ชะตาพระนคร
วัดมหาวัน เป็นหนึ่งในพระอารามทั้งสี่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดลำพูน ภายในวัดมหาวันมีพระเจดีย์ใหญ่ ภายในพระเจดีย์ใหญ่ บรรจุพระรอด ที่พระสุมณนารทะฤาษี เป็นผู้สร้าง พระสุมณนารทะฤาษี เป็นพระคณาจารย์มาจากทิศตะวันตกของพระนคร คือจากชุหบรรพต (ดอยอินทนนท์) สานุมหาพน (มหาวัน)
พระรอด มาจาก รอท หรือ นารทะ อันเป็นนามของพระฤาษีนารอท หรือพระนารทะฤาษี ความหมายว่า ความแคล้วคลาดและปลอดภัย พระรอดที่ขุดพบที่วัดมหาวัน พุทธศิลป์อยู่ในยุคกลางของสมัยกรุงหริภุญไชย ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 13-14 หลังสมัยทวาราวดี รูปแบบของพระรอด คือ พระพุทธรูปประทับพระบาทสมาธิเพชร (ท่านั่งขัดเพชร) ซึ่งเป็นแบบอย่างเฉพาะของพระพุทธรูปอินเดียฝ่ายเหนือ (มหายาน)
ภายในวิหารวัดมหาวัน มีพระพุทธรูปศิลาประดิษฐานอยู่ คือ “พระรอดหลวง” ในตำนานว่า คือ พระพุทธสิขีปฏิมา ที่พระนางจามเทวี อันเชิญมาจากกรุงละโว้ พระรอดหลวงเป็นพระพุทธรูปนูนสูงสมัยทวารวดี ทำจากหินสีดำต่อมาปิดทอง สูงประมาณ 2 ฟุต ซึ่งชาวลำพูนเชื่อว่า นี่คือต้นแบบให้แก่การสร้างพระเครื่อง “พระรอด” ชาวบ้านจึงเรียกพระรอดหลวงอีกชื่อหนึ่งว่า “แม่พระรอด”
-
"รอด" มาจากรอดพ้นอันตราย
ข้อมูลจาก หนังสือ "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา จังหวัดลำพูน" พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2544 ระบุว่า จากหลักฐานทางเอกสารได้กล่าวถึง พระสุเทวฤาษี และพระสุกกทันตฤาษี ได้สร้างเมืองหริภุญชัย และได้เชิญพระนางจามเทวี พระราชธิดาพระเจ้ากรุงละโว้ขึ้นมาเป็นปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย และได้มีการกล่าวถึงการสร้างพระรอดไว้ว่า พระฤๅษีทั้งสองเห็นว่าพระนางเป็นสตรีอาจจะมีศึกเกิดขึ้นได้ จึงได้จัดของไว้เป็นเครื่องป้องกันรักษา ผูกอาถรรพ์ไว้ตรงกลางใจเมือง
แล้วจัดหาดินลำพูนทั้งสี่ทิศ พร้อมด้วยว่านพันชนิด และเกสรดอกไม้ มาผสมกันด้วยเวทมนตร์คาถาคลุกเคล้ากัน แล้วนำมาพิมพ์พระสองชนิดคือ พระคง เพื่อความมั่นคง และ พระรอด เพื่อให้รอดพ้นจากภยันอันตรายทั้ง เมื่อสร้างเสร็จก็ส่งไฟด้วยไม้ป่า รกฟ้า แล้วนำพระคงบรรจุในเจดีย์ทั้งสี่ทิศเพื่อผูกอาถรรพ์ และนำพระรอดบรรจุไว้ที่วัดมหาวนาราม หรือ วัดมหาวันในปัจจุบันนี้
พุทธคุณ
พระอานุภาพของพระรอด มีความเชื่อกันว่า พระรอด มีความศักดิ์สิทธิ์ หรือความขลังในด้านแคล้วคลาด ปราศจากภัยอันตราย และความวิบัติต่างๆ มีเสน่ห์เมตตามหานิยม ได้ลาภผล และคงกระพันชาตรี
พระรอดมีพิมพ์นิยม 5 พิมพ์ ดังนี้
-
พระรอดพิมพ์ใหญ่
-
พระรอดพิมพ์กลาง
-
พระรอดพิมพ์เล็ก
-
พระรอดพิมพ์ตื้น
-
พระรอดพิมพ์ต้อ
รู้จัก สุดยอดพระเครื่อง "เบญจภาคี" เหตุผลที่ต้องเป็น 5 องค์นี้ ใครกำหนด?
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ