ประวัติ "ชรินทร์ นันทนาคร" ครูเพลงลูกกรุง ศิลปินแห่งชาติ
ประวัติ ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติครูเพลงลูกกรุง เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคชรา สิริอายุ 91 ปี
ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินนักร้อง นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เมื่อปี 2541 ชื่อของ ชรินทร์ นันทนาคร ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง
ประวัติ ชรินทร์ นันทนาคร
ชรินทร์ นันทนาคร ชื่อเดิม อาฉึ่ง เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของ นายบุญเกิด และนางจันทร์ดี งามเมือง เมื่อครั้งเป็นวัยเยาว์เป็นเด็กป่วยบ่อย ครอบครัวจึงเปลี่ยนชื่อให้เป็น ชรินทร์
ด้านการศึกษา ชรินทร์ นันทนาคร เรียนจยระดับประถมที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย จากนั้นเรียนต่อระดับมัธยมการศึกษาจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ กรุงเทพมหานคร
ผลงานด้านวงการเพลง และวงการเพลงลูกกรุง
จุดเริ่มต้นของการเป็นนักร้อง ชรินทร์ นันทนาคร เริ่มฝึกหัดร้องเพลงกับ ไสล ไกรเลิศ และเริ่มร้องเพลงสลับละครเวทีเรื่อง นางไพร เมื่อ พ.ศ. 2492 ด้วยเพลงดวงใจในฝัน และเริ่มบันทึกแผ่นเสียงจำหน่ายเป็นครั้งแรก และตามด้วยเพลงอิเหนารำพัน เมื่อ พ.ศ. 2494 จากนั้นย้ายกลับไปเชียงใหม่ ทำงานที่บริษัทกมล-สุโกศล สาขาเชียงใหม่ แล้วสำนักงานใหญ่เรียกมาทำงานที่กรุงเทพฯ ทำตำแหน่งแผนกบัญชี แผนกต่างประเทศ ไปจนถึงแผนกแผ่นเสียง จากนั้นทำงานเป็นเลขานุกรมที่องค์การยูซ่อม
ชรินทร์ นันทนาคร เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์เพลง สดุดีมหาราชา ซึ่งส่งผลให้ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ สังข์เงิน สาขาใช้ศิลป์สร้างสรรค์ให้เกิดความรักชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ และชื่อของเขายังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ขับร้องเพลงไทยสากลผสมผสานกับเพลงไทยเดิม มีท่วงทำนองสูงต่ำเอื้อนด้วยน้ำเสียงที่มีเสน่ห์ชวนฟัง ออกเสียงอักขระได้ชัดเจน มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงประมาณ 1,500 เพลง
ผลงานของ ชรินทร์ นันทนาคร ที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่นิยมสูงสุด ได้แก่ เพลงเรือนแพ, มนต์รักดอกคำใต้, หยาดเพชร, อาลัยรัก, ทาษเทวี, เด็ดดอกรัก, ผู้ชนะสิบทิศ, ที่รัก, นกเขาคูรัก, แสนแสบ, ท่าฉลอม, สักขีแม่ปิง, ทุยจ๋าทุย, เพราะขอบฟ้ากั้น ฯลฯ ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำจากเพลง อาลัยรัก ก่อนจะผันไปเป็นผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ. 2508 มีผลงานในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งหมดกว่า 19 เรื่อง โดยมีภาพยนตร์เรื่อง รักข้ามคลอง ที่ทำรายได้สูงที่สุด และภาพยนตร์ แผ่นดินแม่ ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของประเทศไทยที่สร้างในระบบ 70 มม. แต่หลังจากนั้นก็เลิกทำหนังไปเหตุเพราะวงการหนังที่เปลี่ยนไปจึงเกิดความเบื่อ
ชรินทร์ นันทนาคร ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า นันทนาคร" ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้ให้ความรื่นรมย์แก่ชาวเมือง" ชรินทร์ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล - ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2541
ด้านชีวิตส่วนตัว
ชรินทร์ นันทนาคร สมรสครั้งแรกกับ สปัน เธียรประสิทธิ์ มีบุตรสาวสองคนคือ ปัญญ์ชลี (สมรสกับ เศรณี เพ็ญชาติ เป็นมารดาของ ปวริศา เพ็ญชาติ) และ ปัญชนิตย์ เธียรประสิทธิ์ (สมรสกับชาวต่างชาติ เป็นมารดาของ ปัญญริสา เธียรประสิทธิ์)
ต่อมา ชรินทร์ นันทนาคร ได้จดทะเบียนหย่าและได้สมรสใหม่กับ เพชรา เชาวราษฎร์ อดีตนางเอกภาพยนตร์ชื่อดัง มีบุตรด้วยกัน 1 คน แต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก