วันยุงโลก อย.แนะวิธี "ทายากันยุง" ให้ปลอดภัย ผปค.เช็กให้ดี เด็กอายุเท่าไหร่ไม่ควรใช้!

วันยุงโลก อย.แนะวิธี "ทายากันยุง" ให้ปลอดภัย ผปค.เช็กให้ดี เด็กอายุเท่าไหร่ไม่ควรใช้!

วันยุงโลก อย.แนะวิธี "ทายากันยุง" ให้ปลอดภัย ผปค.เช็กให้ดี เด็กอายุเท่าไหร่ไม่ควรใช้!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"วันยุงโลก" อย.แนะวิธีเลือกใช้ "ผลิตภัณฑ์ทาผิวหนังไล่ยุง" อย่างปลอดภัย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลาก เพื่อห่างไกลจากโรคร้ายที่มาจากยุง

วันที่ 20 สิงหาคมของทุกปีตรงกับ “วันยุงโลก” (World Mosquito Day) ซึ่งยุงเป็นพาหะนำโรคต่าง ๆ ทั้งโรคไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบเจอี ไข้ซิกา ไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนย่า หรือแม้แต่โรคเท้าช้าง เป็นต้น เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ห่วงใยสุขภาพประชาชนจึงขอแนะวิธีการป้องกันยุงเบื้องต้น คือ ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด หลีกเลี่ยงแหล่งที่มียุงชุม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุง หรือใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวหนังไล่ยุง โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 แบบตามสารออกฤทธิ์ คือ

1. มีสารเคมีเป็นสารออกฤทธิ์ เช่น ดีอีอีที (DEET) เอทิลบิวทิลอะซีทิลอะมิโนโพรไพโอเนต (Ethyl butylacetyl aminopropionate) และอิคาริดิน (Icaridin) ซึ่งต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. ดังนั้น ต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ฉลากแสดงเลขทะเบียน อย. วอส. ในกรอบเครื่องหมาย อย.

2. มีน้ำมันตะไคร้หอม หรือ Citronella oil เป็นสารออกฤทธิ์ ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่อ อย. จึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ฉลากแสดงเลขที่รับแจ้ง (xxx/yyyy)

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวหนังไล่ยุง ส่วนใหญ่ห้ามใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี จึงควรดูข้อจำกัดของอายุเด็กในการใช้ผลิตภัณฑ์บนฉลาก ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และห้ามนำไปใช้ทาแทนแป้งหรือโลชั่นทั่วไป ก่อนใช้ควรทดสอบการแพ้ โดยการทาหรือพ่นที่บริเวณข้อพับหรือท้องแขน ถ้าไม่เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองจึงใช้บริเวณอื่น อย่าทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณใกล้ตา ริมฝีปาก เปลือกตา รักแร้ หรือทาบริเวณแผล ล้างมือทุกครั้งหลังใช้ผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ หากไม่ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line @FDAThai Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

 

ข้อแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงในเด็ก

ทุกวันนี้ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหนหรือนั่งตรงไหน จะมืดหรือสว่างก็มักจะมียุงตามมากัดจนน่ารำคาญ ซ้ำร้ายก็อาจจะทำให้เราต้องเจ็บป่วยเพราะยุงเป็นพาหะก่อให้เกิดโรคหลายโรค เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรคชิคุนกุนย่า ดังนั้น การป้องกันยุงกัดจึงเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ในบทความนี้จึงขอแนะนำผลิตภัณฑ์กันยุงสำหรับเด็กเล็กเพื่อเป็นทางเลือกให้กับคุณพ่อคุณแม่กัน 

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักสารออกฤทธิ์ในสเปรย์หรือยาทากันยุงกันก่อน ซึ่งโดยทั่วไปครีม โลชัน หรือสเปรย์กันยุงนั้นจะใช้สารออกฤทธิ์ที่ไม่แตกต่างกัน อาทิ ดีอีอีที (DEET), อิคาริดิน (Icaridin), เอทิลบิวทิลอะซีทิลอะมิโนโพรไพโอเนต (Ethyl butylacetyl aminopropionate) หรืออีกชื่อคือ ไออาร์ 3535 (IR 3535) ซึ่งสารออกฤทธิ์แต่ละชนิดจะมีข้อแนะนำการใช้ในเด็กที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก ชนิด และความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ ดังนี้

- ดีอีอีที (DEET) ให้ใช้ในเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป 

- อิคาริดิน (Icaridin)ให้ใช้ในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป 

- ไออาร์ 3535 (IR 3535)ให้ใช้ในเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป 

- น้ำมันตะไคร้หอม (Citronella oil) ให้ใช้ในเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป 

- น้ำมันยูคาลิปตัส (Eucalyptus oil) ให้ใช้ในเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป

สำหรับผลิตภัณฑ์กันยุงที่มีน้ำมันหอมระเหย หรือสารสกัดจากธรรมชาติ เป็นสารออกฤทธิ์ไล่ยุงนั้น ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย. เช่น น้ำมันยูคาลิปตัส (ยกเว้นผลิตภัณฑ์กันยุงที่มีน้ำมันตะไคร้หอม หรือ Citronella oil เป็นสารออกฤทธิ์) ดังนั้นในการเลือกผลิตภัณฑ์กันยุงที่มีน้ำมันตะไคร้หอมเป็นสารออกฤทธิ์ ควรเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ฉลากแสดงเลขที่รับแจ้ง และสำหรับผลิตภัณฑ์กันยุงที่มีสารดีอีอีที, อิคาริดิน, ไออาร์ 3535 เป็นสารออกฤทธิ์ไล่ยุง ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ฉลากแสดงเลขทะเบียน อย. วอส. ในกรอบเครื่องหมาย อย. และควรอ่านฉลากก่อนใช้ รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากอย่างเคร่งครัด 

อย่างไรก็ตาม การใช้ผลิตภัณฑ์กันยุง ควรใช้ในกรณีที่ความจำเป็นเท่านั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นประจำ และไม่ควรใช้ในปริมาณมาก สำหรับการใช้ในเด็กให้ดูที่คำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์ว่าห้ามใช้ในเด็กอายุเท่าใด ทั้งนี้ ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงในเด็กทารก แต่ควรใช้วิธีป้องกันยุงด้วยวิธีอื่น เช่น สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใส่ถุงเท้า กางมุ้ง แต่หากจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงกับเด็ก ผู้ใหญ่ควรดูแลการใช้ผลิตภัณฑ์กันยุง ไม่ควรให้เด็กทาหรือพ่นสเปรย์กันยุงเอง ที่สำคัญหลังจากใช้งานเสร็จ หรือกลับมาอยู่ในห้องแล้วควรล้างผิวบริเวณที่ใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook