ทึ่ง! หมึกยักษ์ปรับเปลี่ยนสีได้

ทึ่ง! หมึกยักษ์ปรับเปลี่ยนสีได้

ทึ่ง! หมึกยักษ์ปรับเปลี่ยนสีได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ด้วยความยาวตลอดลำตัวถึงปลายหนวดราว ๒๓ เมตร หมึกยักษ์ หรือ อาร์ทิชิวทิส (Architeuthis) นับเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มันยังได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ลึกลับ เพราะไม่มีใครเคยพบหมึกยักษ์ในทะเลลึกตามธรรมชาติ ที่ผ่านมาหลายคนคาดเดาว่าสัตว์ยักษ์ชนิดนี้อาจมีอายุยืนยาวหลายสิบหรือนับร้อยปี และอาศัยในทะเลลึกหลายร้อยเมตร

มาดูหมึกยักษ์ปรับเปลี่ยนสีตามสภาพแวดล้อมได้อย่างน่าทึ่ง วันนี้เลยพบเจอเนื้อหาสาระดี ๆ จาก http://www.oknation.net/blog/19/2010/07/14/entry-2 เป็นคลิปวิดีโอที่น่าสนใจ เลยนำมาฝากกัน

 

 

อัศจรรย์การเติบโต "หมึกยักษ์"

ตำนานความลึกลับของหมึกยักษ์กำลังรอวันถูกเปิดเผย ด้วยเพราะการวิจัยในสัตว์ชนิดนี้น่าทึ่ง และอัศจรรย์ เพราะจากข้อมูลของ ดร. นีล แลนด์แมน แห่ง American Museum of Natural History และทีมวิจัยศึกษาซากหมึกยักษ์ Architeuthis sanctipauli วิเคราะห์ ศึกษาจนได้ผลงานวิจัย ซึ่งพบว่า หมึกยักษ์อาศัยในทะเลลึก ๑๘๐-๓๐๐ เมตร และมีอายุยืนประมาณ ๑๔ ปี และเชื่อว่า หมึกยักษ์ อาร์ทิชิวทิส มีอัตราเจริญเติบโตเท่ากับหมึกทั่วไป นั่นคือใช้เวลาเจริญเติบโตเต็มรวดเร็วมาก

ย้อนความลึกลับ "หมึก"

หมึก หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาไทยว่า ปลาหมึก แต่แท้จริงแล้วหมึกไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีขนาดใหญ่ เคลื่อนที่ได้รวดเร็ว และว่องไว มีหนวดรอบปาก 4-5 คู่ บนหนวดมีปุ่มดูดเรียงเป็นแถว มีหน้าที่จับเหยื่อป้อนเข้าปาก

ชั้นย่อย หมึก (Coleoidea) เป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในชั้นเซฟาโลพอดซึ่งเป็นชั้นของสัตว์ที่มีลำตัวอ่อนนิ่ม ต่างจากกลุ่มสัตว์ที่ใกล้เคียงกันคือ Nautiloidea ซึ่งมีเปลือกแข็งห่อหุ้มภายนอกร่างกาย แต่หมึกส่วนใหญ่กลับมีกระดูกหรือเปลือกอยู่ภายในเพื่อใช้ประโยชน์ในการเป็น ทุ่นหรือพยุงร่างกาย ซึ่งเรียกว่า ลิ้นทะเล ยังมีบางชนิดที่ไม่มีกระดูก แต่มีกระดูกอ่อนทดแทนเพื่อใช้ในการพยุงโครงสร้างร่างกาย

คำว่า Cephalopoda ซึ่งเป็นชื่อชั้นที่ใช้เรียกหมึก มาจากภาษากรีกแปลรวมกันว่า "สัตว์หัว-เท้า" (head-footed animals) เนื่องจากหมึกเป็นสัตว์ที่ไม่มีแขนขา เพียงแต่มีระยางค์ยื่นออกจากจากรอบ ๆ บริเวณปากเรียกว่า หนวด เท่านั้นเอง

หมึกวิวัฒนาการมาจากมอลลัสคา ในปลายยุคแคมเบรียน หรือราว 500 ล้านปีก่อน แต่กระนั้นหมึกและหอยในยุคปัจจุบันนี้ ก็ยังมีระบบทางร่างกายหลายอย่างเหมือนกัน กล่าวคือ ระบบทางเดินอาหาร, ปาก, ฟัน และกล้ามเนื้อแบบแมนเทิล

ปัจจุบัน ได้มีการค้นพบหมึกแล้วว่า 1,000 ชนิด ชนิดที่ใหญ่ที่สุด คือ หมึกมหึมา (Mesonychoteuthis hamiltoni) ซึ่งเป็นหมึกในอันดับหมึกกล้วย อาศัยอยู่ในห้วงน้ำลึกของมหาสมุทรแอตแลนติก อาจยาวได้ถึง 14 เมตร นับเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย และเล็กที่สุดมีขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตรด้วยซ้ำ เช่น หมึกในวงศ์ Idiosepiidae เป็นต้น

สำหรับหมึกที่พบในน่านน้ำไทย ได้แก่ หมึกกระดองลายเสือ (Sepia pharaonis), หมึกกล้วย (Photololigo duvauceli), หมึกหอม (Sepioteuthis lessoniana), หมึกสายราชา (Octopus rex) เป็นต้น

สีสันแห่งการ "พรางตัว" อย่างน่าทึ่ง

หมึกเป็นสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดในโลก ที่สามารถพรางตัวได้ด้วยการเปลี่ยนสีลำตัวได้อย่างรวดเร็วคล้ายกับสีของหลอดนีออน เนื่องจากเซลล์บนผิวหนังของหมึกที่เรียกว่า Chromatophore ซึ่งอยู่ด้านบนลำตัวมากกว่าด้านข้าง ด้านในมีเม็ดสี เมื่อกล้ามเนื้อหด ตัวจะดึงผนังของเซลล์เหล่านี้ให้ขยายใหญ่ขึ้น จึงทำให้สีสันของหมึกสามารถแปรเปลี่ยนไปมาได้ ซึ่งการเปลี่ยนสีของหมึกนั้นไม่ได้ไปเป็นเพื่อการพรางตัวอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังแสดงออกถึงอารมณ์ได้อีกด้วย ในกลุ่มหมึกกระดองในเวลากลางวัน อาจจะซุกซ่อนตัวเพื่อพักผ่อน ด้วยการใช้ท่อพ่นน้ำที่เรียกว่า Funnel พ่นพื้นทรายให้เป็นแอ่ง แล้วซุกซ่อนตัวไว้ใต้ทรายนั้น

นอกจากนี้แล้ว หมึกยังมีสารเคมีพิเศษ ที่ไม่เหมือนกับสัตว์ชนิดไหนในโลกอีกด้วย นั่นคือ น้ำหมึก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อในภาษาไทยด้วย น้ำหมึกในหมึกมีไว้เพื่อการป้องกันตัวและหลบหนีจากศัตรู เช่น ปลาขนาดใหญ่และสัตว์ทะเลกินเนื้อชนิดอื่น ๆ เช่น แมวน้ำหรือโลมา ที่กินหมึกเป็นอาหาร น้ำหมึกของหมึกนั้น แท้จริงแล้วเป็นเมือกอย่างหนึ่ง ที่มีสารแขวนลอยสีดำเป็นจำนวนมาก และมีลักษณะเป็นของเหลวฟุ้งกระจายในน้ำได้เป็นอย่างดี ซึ่งในน้ำหมึกนั้นมีสารเคมีที่ออกฤทธิ์เป็นด่างซึ่ง จะทำให้ปลาที่ล่าหมึกนั้นเกิดอาการมึนชาไปได้ชั่วขณะ ประกอบกับหมึกใช้เป็นม่านควันกำบังตัวหนีไปได้ด้วย หมึกนั้นจะพ่นน้ำหมึกออกมาจากท่อเดียวกับที่ใช้พ่นน้ำ

ข้อมูลสร้างสรรค์ : http://th.wikipedia.org/wiki/หมึก_(สัตว์)

 

 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ ทึ่ง! หมึกยักษ์ปรับเปลี่ยนสีได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook