ไขข้อสงสัย "เอ็มพ็อกซ์" คืออะไร ระบาดจากที่ไหน และแพร่กระจายอย่างไร

ไขข้อสงสัย "เอ็มพ็อกซ์" คืออะไร ระบาดจากที่ไหน และแพร่กระจายอย่างไร

ไขข้อสงสัย "เอ็มพ็อกซ์" คืออะไร ระบาดจากที่ไหน และแพร่กระจายอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

องค์การอนามัยโลก (WHO) เพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การระบาดของเชื้อ "เอ็มพ็อกซ์" หรือที่เคยรู้จักในชื่อ "ฝีดาษลิง" หรือ "ฝีดาษวานร" ที่เพิ่มขึ้นในแอฟริกา คือ ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขโลก ซึ่งเป็นคำเตือนที่บอกว่า ไวรัสนี้อาจแพร่กระจายข้ามแดนไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ในที่สุด

การประกาศดังกล่าวมีออกมา หลัง เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เสร็จสิ้นการประชุมฉุกเฉินเรื่องนี้ และเกือบสัปดาห์หลังจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) ของแอฟริกาประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในทวีปแอฟริกาเมื่อวันอังคารที่แล้ว

WHO เปิดผยว่า พบผู้ติดเชื้อนี้แล้วกว่า 14,000 คนและมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 524 คนในแอฟริกาในปีนี้ โดยตัวเลขทั้งหมดนี้สูงกว่าสถิติของปีที่แล้วด้วย

เท่าที่ผ่านมา กว่า 96% ของทั้งผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมาจากประเทศ ๆ เดียว ซึ่งก็คือ คองโก และนักวิทยาศาสตร์ก็มีความกังวลว่าจะเกิดการระบาดเป็นวงกว้างของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ที่อาจติดต่อได้ง่ายยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา

เอ็มพ็อกซ์ คืออะไร?

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเชื้อ เอ็มพ็อกซ์ หรือที่ ฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1958 หลังเกิดการระบาดของโรคที่มี “ลักษณะคล้ายฝีดาษ” ในฝูงลิง โดยตั้งแต่นั้นมา การติดเชื้อไวรัสนี้ในคนเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในประชากรของภูมิภาคแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตกที่ใช้ชีวิตใกล้กับสัตว์ที่ติดเชื้อมาก่อน

ในปี 2022 มีการยืนยันเป็นครั้งแรกว่าไวรัสนี้แพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธุ์ และทำเกิดการระบาดไปในกว่า 70 ประเทศทั่วโลกที่ไม่เคยพบไวรัสดังกล่าวมาก่อน

ไวรัส 'เอ็มพ็อกซ์' เป็นเชื้อสายพันธุ์เดียวกับฝีดาษหรือไข้ทรพิษแต่รุนแรงน้อยกว่า เพราะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการอ่อน ๆ เช่น รู้สึกมีไข้ หนาวสั้น หรือปวดตามตัว แต่ในกรณีของผู้ป่วยหนักก็อาจมีผื่นหรือตุ่มเกิดขึ้นบนใบหน้า มือ หน้าอก หรืออวัยวะเพศ ได้

เกิดอะไรขึ้นที่แอฟริกาจนทำให้เกิดความกังวลหนักเช่นนี้?

ตัวเลขผู้ติดเชื้อ “เอ็มพ็อกซ์” พุ่งสูงอย่างมากเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ศูนย์ CDC ของแอฟริการายงานว่า มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อนี้อย่างน้อยใน 13 ประเทศในทวีปแอฟริกา โดยจำนวนผู้ติดเชื้อในปีนี้พุ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 160% ขณะที่ ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 19%

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์รายงานการตรวจพบเชื้อไวรัส “เอ็มพ็อกซ์” แบบใหม่ที่เมืองซึ่งมีชื่อด้านการทำเหมืองแห่งหนึ่งในประเทศคองโก โดยไวรัสนี้สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้ถึง 10% และอาจแพร่ระบาดรวดเร็วกว่าไวรัสเวอร์ชั่นก่อนด้วย

และสิ่งที่ทำให้การระบาดครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน ๆ ก็คือ การเกิดผื่นหรือตุ่มนั้นขยายจากหน้าอก มือและเท้าไปยังบริเวณอวัยวะเพศ ทั้งยังทำให้เกิดอาการป่วยอ่อน ๆ ด้วย

ด้วยเหตุนี้เองทำให้การตรวจสอบการติดเชื้อเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะผู้ป่วยอาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ตามความเห็นของนายแพทย์พลาซีด เอ็มบาลา-คินเกเบนิ นักวิจัยชาวคองโกที่เป็นผู้นำการศึกษารูปแบบใหม่ของ “เอ็มพ็อกซ์”

WHO กล่าวด้วยว่า เพิ่งมีการตรวจพบ “เอ็มพ็อกซ์” เป็นครั้งแรกเมื่อเร็ว ๆ นี้ใน 4 ประเทศแอฟริกาตะวันออก ได้แก่ บุรุนดี เคนยา รวันดาและยูกันดา โดยการระบาดในประเทศเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในคองโกด้วย ขณะที่ เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า มีความกังวลกันแล้วว่า โรคนี้จะแพร่กระจายไปทั่วทวีปแอฟริกาและทวีปอื่น ๆ ต่อไป

และที่สาธารณรัฐโกตดิวัวร์และแอฟริกาใต้ ทางการสาธารณสุขรายงานการระบาดของเชื้อ “เอ็มพ็อกซ์” เวอร์ชั่นที่ต่างกันและมีอันตรายน้อยกว่าซึ่งเคยระบาดไปทั่วโลกเมื่อปี 2022 และทำให้มีผู้ติดเชื้อเกือบ 100,000 คน

ส่วนอื่น ๆ ของโลกต้องระวังภัยอย่างไรบ้าง?

เช่นเดียวกับภาวะระบาดอื่น ๆ เชื้อ “เอ็มพ็อกซ์” ที่ตรวจพบเจอในคองโกอาจแพร่ข้ามพรมแดนไปยังประเทศอื่นได้ไม่ยาก ดังที่มีรายงานการตรวจพบในประเทศแอฟริกาตะวันออก 4 ประเทศไปแล้ว

และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หน่วยงานสาธารณสุขของสวีเดนเพิ่งยืนยันการตรวจพบผู้ติดเชื้อ “เอ็มพ็อกซ์” สายพันธุ์ใหม่รายแรกซึ่งเป็นผู้ที่เพิ่งเดินทางไปแอฟริกาเมื่อไม่นานมานี้

ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ความเสี่ยงต่อสาธารณชนโดยรวมนั้นยังถือว่า “ต่ำมาก” แม้จะมีการคาดว่า จะเกิดการระบาดแบบประปรายในประเทศอื่น ๆ ตามมาก็ตาม

ทั้งนี้ แคว้นคามิตูกาของคองโกซึ่งเป็นจุดที่มีการตรวจพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นที่แรก คือจุดผ่านการเดินทางที่สำคัญของผู้คนทั้งในแอฟริกาและจากจุดต่าง ๆ ทั่วโลก

แต่เมื่อพิจารณาทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศร่ำรวยต่าง ๆ ซึ่งสามารถใช้สกัดการระบาดของ “เอ็มพ็อกซ์” ได้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า จะมีการหยุดการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีการตรวจพบการระบาดของเชื้อจากคองโก

ยิ่งไปกว่านั้น เชื้อ “เอ็มพ็อกซ์” ไม่ได้แพร่กระจายทางอากาศเหมือนกับกรณีของโควิด-19 หรือโรคหัด ทั้งยังต้องเป็นกรณีการสัมผัสทางผิวหนังแบบใกล้ชิดถึงจะแพร่ระบาดได้ด้วย

การประกาศภาวะฉุกเฉินส่งสารอะไรออกมา?

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลกนั้นมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประเทศต่าง ๆ ลงมือดำเนินการทั้งหลาย

นายแพทย์ฌอง คาเซยา ผู้อำนวยการใหญ่ศูนย์ CDC ของแอฟริกา กล่าวว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินนี้มุ่งหวังให้มีการ “ผลักดันองค์กรสถาบันต่าง ๆ และการทำงานร่วมกันของพวกเรา และทรัพยากรของเราให้มีการดำเนินการอย่างรวดเร็วและทันท่วงที” พร้อมเรียกร้องให้หุ้นส่วนระหว่างประเทศของแอฟริกายื่นมือมาช่วยด้วย โดยระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงในแอฟริกานั้นเป็นปัญหาที่ถูกมองข้ามอย่างมาก

ส่วนแพทย์หญิงโบกูมา ติตันจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยเอมอรี กล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับ “เอ็มพ็อกซ์” ในครั้งก่อนของ WHO “แทบไม่ได้ช่วยผลักดันการดำเนินการใด ๆ เลย” ในการจัดหาสิ่งจำเป็นเช่น ชุดตรวจอาการ ยารักษาและวัคซีน ให้กับแอฟริกา

การระบาดในแอฟริกาครั้งนี้ต่างจากการระบาดในปี 2022 อย่างไร?

ในการระบาดของ “เอ็มพ็อกซ์” เมื่อปี 2022 ชายรักเพศเดียวกันและชายที่มีเพศสัมพันธ์กับทั้งชายและหญิงคือ คนส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อ โดยการระบาดนั้นเกิดขึ้นจากการสัมผัสทางกายอย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมความถึงการมีเพศสัมพันธุ์ด้วย

แต่ในครั้งนี้ แม้รูปแบบการระบาดในแอฟริกาจะคล้าย ๆ กับคราวที่แล้ว เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีกลับคิดเป็นกว่า 70% ของผู้ติดเชื้อ “เอ็มพ็อกซ์” และราว 85% ของผู้เสียชีวิต

เกรก แรมน์ ผู้อำนวยการองค์กร Save the Children's Congo กล่าวว่า ทางองค์กรมีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในพื้นที่ภาคตะวันออกของคองโก โดยระบุว่า มีเด็กอยู่ถึง 345,000 คนที่ “แออัดยัดเยียดกันอยู่ในเต็นท์ที่มีสภาพไม่ถูกสุขอนามัย” พร้อมกล่าวด้วยว่า ระบบดูแลสุขภาพของคองโกเองก็ “ล้มสลาย” ไปแล้ว เพราะภาวะทุพโภชนาการ โรคหัดและอหิวาตกโรค

ส่วนแพทย์หญิงโบกูมา ติตันจิ จากมหาวิทยาลัยเอมอรี กล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่า ทำไมเด็ก ๆ ถึงกลายเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อ “เอ็มพ็อกซ์” หนักกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในคองโก โดยตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นไปได้ว่า เด็ก ๆ อยู่ในภาวะที่รับเชื้อได้ง่ายกว่าจากปัจจัยทางสังคมต่าง ๆ เช่น สภาพความเป็นอยู่ที่หนาแน่นแออัดและการมีผู้ปกครองที่ติดเชื้อมา เป็นต้น

จะหยุดยั้งการระบาดของ “เอ็มพ็อกซ์” ได้อย่างไร?

การระบาดของ “เอ็มพ็อกซ์” ในปี 2022 ในหลายสิบประเทศนั้นยุติลงด้วยการแจกจ่ายวัคซีนและการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพในประเทศร่ำรวย รวมทั้ง ความพยายามโน้มน้าวให้ผู้คนหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทั้งหลาย

แต่ในครั้งนี้ ยังไม่มีวี่แววของวัคซีนหรือยารักษาใดในแอฟริกาเลย

ผู้เชี่ยวชาญจาก London School of Hygiene and Tropical Medicine กล่าวว่า การสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งรวมถึง การฉีดยาป้องกันไข้ทรพิษและไวรัสอื่น ๆ นั้นจะช่วยหยุดยั้งการระบาดได้ พร้อมชี้ว่า ต้องมีการจัดหาวัคซีนปริมาณมาก ๆ เพื่อจะใช้ในการฉีดใส่ประชากรที่มีความเสี่ยงมากที่สุดซึ่งก็คือ ผู้ขายบริการทางเพศ เด็กและผู้ใหญ่ในพื้นที่ที่มีการระบาด

คริส คาซิตา โอซาโก ผู้ประสานงานของคณะกรรมการรับมือ “เอ็มพ็อกซ์” ของคองโก กล่าวว่า ทางการคองโกได้ทำเรื่องของวัคซีน 4 ล้านโดสที่จะฉีดให้กับเด็ก ๆ แล้ว แต่ยังไม่ได้รับมาเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook