รู้จัก “พระนางพญา” ราชินีแห่งพระเครื่อง หนึ่งในพระเบญจภาคี สร้างโดยสตรีผู้ยิ่งใหญ่
รู้จัก “พระนางพญา” ราชินีแห่งพระเครื่อง สร้างโดยสตรีผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินสองแคว หนึ่งในพระชุดเบญจภาคี
พระนางพญา หรือที่เรียกกันว่า ราชินีแห่งพระเครื่อง ป็นพระเครื่องเนื้อดินที่พบในกรุเจดีย์ วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้รับการทะนุบำรุง และปฏิสังขรณ์โดยพระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักพรรดิ และสมเด็จพระสุริโยทัย พระมเหสีในพระมหาธรรมราชา และพระชนนีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ สำหรับ วัดนางพญานั้น สันนิษฐานว่า พระวิสุทธิกษัตรีย์ ได้สร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาอุทิศแด่พระมารดา คือ สมเด็จพระสุริโยทัยในคราวที่สิ้นพระชนม์ในการสู้รบกับกองทัพพม่า โดยแยกอาณาเขตมาจากวัดราชบูรณะ
พระนางพญาในยุคแรก ที่จัดสร้างโดยพระวิสุทธิกษัตรีย์ เป็นพระพุทธประติมากรรมขนาดเล็ก พระพิมพ์เนื้อดินประทับปางมารวิชัย รูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วอย่างทรงเรขาคณิต ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระนางพญา พระนางพญาเป็นพระเนื้อดินผสมว่าน และเกสรดอกไม้ ปรากฎแร่กรวดทราย ผสมผสานคลุกเคล้า กดเป็นองค์พระแล้วเสร็จจึงนำไปเผา จำนวนพระที่สร้าง คือ 84,000 องค์ ครบถ้วนตามจำนวนพระธรรมขันธ์ ผ่านพิธีกรรมพุทธาภิเษกเป็นอย่างดี
ส่วนพระนางพญาในยุคหลัง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง รูปทรงขององค์พระสวยงามมากขึ้นกว่าเดิม พระนางพญาทั้งสองยุคนี้จัดว่า มีอายุการสร้างใกล้เคียงกัน มีพุทธคุณเหมือนกันคือเน้นหนักในเรื่องแคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม พิธีปลุกเสกใช้วิธีอัญเชิญเทพฯ เทวดา ฤาษีพระสงฆ์ผู้ทรงศีลและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในเมืองพิษณุโลกร่วมกันปลุกเสกกันที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
กรุแตก
พระนางพญาแตกกรุประมาณ พ.ศ. 2444 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองพิษณุโลกเพื่อทรงทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชจำลอง ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยวัดนางพญาซึ่งอยู่ใกล้กันได้มีการปรับที่ดินเพื่อรับเสด็จ ทำให้พบกรุพระเครื่องนางพญา เป็นพระนางพญาเนื้อดินประทับนั่งปางมารวิชัย มีรูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วอย่างทรงเลขาคณิตหลายพิมพ์ด้วยกันและมีประมาณ 84,000 องค์ ตามคตินิยมของท่านคณาจารย์ในยุคโบราณ[2] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปวัดนางพญา ก็ได้มีการนำพระนางพญาส่วนหนึ่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ครานั้นพระองค์ทรงแจกจ่ายแก่ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จกันโดยถ้วนหน้า ดังนั้นพระนางพญาส่วนหนึ่งจึงมีการนำกลับยังกรุงเทพมหานคร
ประมาณ พ.ศ. 2512 ที่จังหวัดพิษณุโลกได้ขุดพบกรุพระนางพญาอีก 1 กรุอยู่ห่างจากบริเวณวัดนางพญาไปประมาณ 4–5 กิโลเมตร องค์พระถูกน้ำกัดสึกกร่อนจนเห็นเม็ดกรวดทรายชัดเจนพระบางองค์ จะปรากฏคราบรารักติดอยู่เต็มองค์บ้าง บางองค์มีรารักสีดำติดอยู่เป็นจุด ๆ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2530 ขุดพบบริเวณเจดีย์นอกวัดนางพญาที่สร้างติดกับถนนทางหลวง เป็นพระที่ค่อนข้างสมบูรณ์มากและงดงามมีพระนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่
เมื่อ พ.ศ. 2553 มีการขุดพบพระนางพญาที่วัดบ่อทองคำ จังหวัดพิษณุโลก
พุทธลักษณะ
พระนางพญาเป็นพระดินเผาที่มีเนื้อหยาบที่สุดในบรรดาพระเนื้อดินของชุดเบญจภาคี มีเนื้อสีอิฐแดงเหลือง เนื้อเขียวเนื้อต่ำ มีทั้งมวลดินมงคลมวลเม็ดทรายแทรกปนอยู่ในเนื้อมากเรียกกันว่าเม็ดแร่ มีทั่วองค์พระมีส่วนผสมมวลสารเหล็กไหลเหล็ก น้ำพี้พระธาตุมีสีขาวขุ่นพระธาตุสีชมพูผงถ่านใบลานเกสรดอกไม้ 108 ว่าน น้ำมนต์ทิพย์
พุทธลักษณะอันโดดเด่นอันเป็นเหตุที่ทำให้เรียกว่า "พระนางพญา" เพราะมีความงดงามสง่า โดยจะเน้นบริเวณอกที่ตั้งนูนเด่นและลำแขนทอดอ่อนช้อยคล้ายกับอิสสตรี จึงได้รับสมญาว่า "ราชินีแห่งพระเครื่อง" ส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่วองค์ขนาดปานกลาง ไม่เล็กหรือใหญ่มาก ฐานกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร สูงประมาณ 2.8 เซนติเมตร
พื้นผิวด้านข้างไม่เรียบนัก ด้านหลังบางองค์จะมีลายนิ้วมือของพระหรือครูบาอาจารย์ มักมีเม็ดผดปรากฏนูนขึ้นมาจนกระทั่งสัมผัสได้มีหลายสี ได้แก่ สีดำ สีมันปู สีแดง สีดอกจำปี สีดอกพิกุลแห้ง สีหัวไพลแห้ง สีขมิ้นชัน สีเขียวใบไม้ สีเขียวมะกอกดิบ สีเขียวครกหิน สีตับเป็ด สีสวาด สีอิฐ บางองค์ที่แม้มีสภาพสมบูรณ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังเพียงแต่มีคราบไคลขี้กรุฝังอยู่ในเนื้อขององค์พระเท่านั้น
พระนางพญาจำแนกได้หลายพิมพ์ ได้แก่พระนางพญาพิมพ์ใหญ่คือ พระนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่ พระนางพญาพิมพ์เข่าโค้ง
พระนางพญาพิมพ์เข่าตรง ซึ่งแยกออกเป็น 2 พิมพ์ คือ พระนางพญาพิมพ์เข่าตรงธรรมดา พระนางพญาพิมพ์เข่าตรงพิมพ์มือตกเข่า
ส่วนพระนางพญาขนาดเล็กที่เป็นที่นิยมที่สุดก็คือพระนางพญาพิมพ์สังฆาฏิ
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ