หนังสือด่วนที่สุด แจ้ง 11 จังหวัด เขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำเพิ่ม มี กทม.ด้วย ชาวบ้านเริ่มหวั่น

หนังสือด่วนที่สุด แจ้ง 11 จังหวัด เขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำเพิ่ม มี กทม.ด้วย ชาวบ้านเริ่มหวั่น

หนังสือด่วนที่สุด แจ้ง 11 จังหวัด เขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำเพิ่ม มี กทม.ด้วย ชาวบ้านเริ่มหวั่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาฉบับที่ 5 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กรุงเทพมหานครฯ

โดยจากการติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้นทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 24-30 สิงหาคม 2567

และจากการคาดการณ์ โดยกรมชลประทาน ใน 1-7 วันข้างหน้า โดยในวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขามีปริมาณประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำ 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในอัตรา 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

กรมชลประทาน มีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อน ในอัตรา 900-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีก 0.50 -1.50 เมตร ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผังไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป

สำหรับปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,169 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.51 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 10.96 เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่ง อยู่ที่ 5.38 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 935 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงส่งผลทำให้ที่สถานีวัดน้ำ C.3 บ้านบางพุทรา อ.เมือง จ.สิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 864 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

อย่างไรก็ตาม สำนักงานชลประทานที่ 12 โดยกรมชลประทาน ก็ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำ ทั้ง 11 จังหวัด เฝ้าติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ทางด้านชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำทางด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยเฉพาะ พื้นที่ ต.หาดอาษา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ซึ่งพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และติดกับลำน้ำเจ้าพระยา ต่างกังวลว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะซ้ำรอย ปี 2554 เนื่องจากยังเห็นว่าทางด้านตอนบนของลุ่มน้ำยังมีฝนตกเยอะ และน้ำยังท่วมในหลายพื้นที่


นายขจรเดช จีนหลวง ชาวบ้านในพื้นที่ ม.2 ต.หาดอาษา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า ในปีนี้รู้สึกเป็นกังวลมากหลังจากดูข่าวเห็นว่าทางภาคเหนือมีน้ำป่าท่วมเยอะเลยกลัวน้ำจะท่วม สำหรับตอนนี้ตนได้ทำการซ่อมเรือและเริ่มทยอยเก็บสิ่งของบางอย่างขึ้นสู่ที่สูงเอาไว้แล้ว ซึ่งในปีนี้ตนเองกลัวเหตุการณ์น้ำท่วมจะซ้ำรอยปี 2554

เนื่องจากน้ำทางด้านตอนบนเยอะมาก และตนเองไม่รู้ว่าการระบายน้ำจะเป็นอย่างไร โดยตนเองอย่างจะให้ทางกรมชลประทานช่วยระบายน้ำไปตามคลองสาขาต่างๆเพื่อลดผลกระทบให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้านท้ายน้ำ หากว่าทางเขื่อนเจ้าพระยามีการเพิ่มการระบายน้ำเป็นระบบเชื่อว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาคงเอาอยู่ โดยจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านๆ มา บริเวณ ต.หาดอาษา หากเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำ ประมาณ 1,700 – 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีปริมาณน้ำมากกว่านั้นน้ำก็จะไหลเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน

ด้าน นางศรีสุดา พงศ์เสรีวัฒน์ รองปลัดเทศบาลตำบลหาดอาษา เปิดเผยว่า จากสถิติน้ำท่วมเมื่อปี 2565 ในส่วนของ ต.หาดอาษา หากเขื่อนเจ้าพระยา มีการระบายน้ำอยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มวลน้ำจะเริ่มไหลเอ่อเข้าตามท่อระบายน้ำทางเทศบาลก็จะจัดกำลังเจ้าหน้าที่กรอกกระสอบทรายออกอุดท่อตามจุดต่างๆที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม และหากว่าเขื่อนเจ้าพระยามีการปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็น 2,100-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเมื่อไร น้ำก็จะเริ่มล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน

สำหรับขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่บางรายต่างก็รู้สึกกังวลเนื่องจากทางด้านภาคเหนือยังมีปริมาณน้ำที่เยอะอยู่ โดยทางเทศบาลก็ได้มีการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำและเฝ้าระวัง หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินทางเทศบาลก็จะให้ประชาชนเตรียมยกสิ่งของขึ้นที่สูงเพื่อป้องกันความเสียหายของทรัพย์สิน แต่อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ทางเทศบาลก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ หนังสือด่วนที่สุด แจ้ง 11 จังหวัด เขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำเพิ่ม มี กทม.ด้วย ชาวบ้านเริ่มหวั่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook