รู้จัก พระพุทธรูป 5 ปางแปลกๆ อิริยาบถชวนงง เฉลยความเป็นมาตามพุทธประวัติ

รู้จัก พระพุทธรูป 5 ปางแปลกๆ อิริยาบถชวนงง เฉลยความเป็นมาตามพุทธประวัติ

รู้จัก พระพุทธรูป 5 ปางแปลกๆ อิริยาบถชวนงง เฉลยความเป็นมาตามพุทธประวัติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้จัก พระพุทธรูป 5 ปาง อิริยาบถแปลกๆ ชวนให้งง เฉลยความเป็นมาตามพุทธประวัติ

ปางพระพุทธรูปมีที่มาจากเหตุการณ์ต่างๆ ในพุทธประวัติและคติความเชื่อทางศาสนาพุทธ ปางต่างๆ ถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงอิริยาบถและเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าได้ประสบในช่วงต่างๆ ของพระชนม์ชีพ ปางพระพุทธรูปแต่ละปางจะมีความหมายและความสำคัญที่ต่างกันไป และมักจะถูกนำมาใช้ในวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน นอกจากนี้ ปางพระพุทธรูปยังมีความเชื่อมโยงกับการบูชาตามวันเกิดและการทำบุญต่างๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่ในโลกออนไลน์จะมีการแชร์ภาพพระพุทธรูปในอิริยาบถแปลกๆ ที่ไม่คุ้นตาเหมือนกับปางที่เห็นได้โดยทั่วไปเช่น  ปางสมาธิ ปางมารวิชัย ปางปฐมเทศนา ปางไสยาสน์ เป็นต้น ซึ่งคนไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งก็อาจไม่เคยพบเห็นพระพุทธรูปปางลักษณะนี้ผ่านตามาก่อน 

  • ปางพระเกศธาตุ 

เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นแนบพระเศียร เป็นกิริยาเสยพระเกศา 

ประวัติ : หลังจากที่ตปุสสะและภัทลิกะ ผู้ที่ถวายสัตตูก้อนสัตตูผง (ของกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่เตรียมไว้กินเป็นเสบียง) ได้ขอถึงพระพุทธและพระธรรมว่าเป็นที่พึ่งสูงสุดในชีวิต ถือเป็นปฐมอุบาสกในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้ทูลขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การอภิวาทต่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้บูชา พระพุทธองค์ทรงลูบพระเศียรเกล้าด้วยพระหัตถ์ขวา มีพระเกศา 8 เส้น อยู่บนฝ่าพระหัตถ์ จึงโปรดประทานพระเกศาทั้ง 8 เส้นนั้นแก่พ่อค้าทั้งสอง โดยแบ่งให้คนละครึ่ง เมื่อกราบบังคมลาไปสู่บ้านเมืองของตนแล้ว พ่อค้าทั้งสองได้สร้างพระสถูปบรรจุพระเกศาไว้เป็นที่สักการบูชาแก่มหาชน

พระพุทธรูปปางพระเกศธาตุพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพระพุทธรูปปางพระเกศธาตุ

  • ปางรับผลมะม่วง

เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิพระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาถือผลมะม่วง หงายหลังพระหัตถ์ไว้บนพระชานุ (เข่า)

พระพุทธรูปปางรับผลมะม่วงDr.DDnard Life Compass Meditationพระพุทธรูปปางรับผลมะม่วง

ประวัติ : มีเศรษฐีผู้หนึ่งในเมืองราชคฤห์ นำบาตรไม้จันทน์แดงไปแขวนไว้สูง 60 ศอก พร้อมประกาศว่า ถ้าพระอรหันต์มีจริง ขอให้แสดงฤทธิ์เหาะมาเอาบาตรนี้ไปเถิด หากพ้น 7 วัน แล้วไม่มีผู้ใดกระทำได้ ตนจะถือว่ามิได้มีพระอรหันต์ในโลก พระปิณโฑลภารทวาชะ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ได้เหาะไปนำบาตรมา มหาชนทั้งหลายอยากชมปาฏิหาริย์ จึงติดตามมาจนถึงพระเวฬุวันมหาวิหาร เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเหตุการณ์ จึงตรัสตำหนิพร้อมมีคำสั่งห้ามพระสาวกแสดงปาฏิหาริย์

พวกเดียรถีย์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนาในอินเดียสมัยพุทธกาล) ประกาศว่าพวกตนจะแสดงปาฏิหาริย์ แข่งกับพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงทรงประกาศว่า จะทรงแสดงพระปาฏิหาริย์ ณ คัณฑามพฤกษ์ (ต้นมะม่วง) ณ กรุงสาวัตถี พวกเดียรถีย์ จ้างพวกนักเลงโค่นต้นมะม่วงจนหมดสิ้น 

นายคัณฑะ คนดูแลสวนมะม่วงของพระเจ้าปเสนทิโกศล ถวายผลมะม่วงสุกแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงให้นำเมล็ดมะม่วงไปปลูก ทันใดนั้นต้นมะม่วงก็เติบโตแผกิ่งก้านสาขารวดเร็วอย่างน่าอัศจรรย์

  • ปางสนเข็ม

เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในพระอิริยาบถจับเข็ม พระหัตถ์ขวาจับเส้นด้าย เป็นกิริยาสนเข็ม

ประวัติ : ในครั้งหนึ่งเมื่อพระจีวรของพระอนุรุทธเถระเก่ามาก ท่านจึงแสวงหาผ้าบังสุกุลเพื่อมาทำจีวร พระเถระพบผ้า 3 ผืนที่กองหยากเยื่อจึงเก็บมา ในสมัยโบราณการทำจีวรต้องตัดเย็บและย้อมเอง พระสงฆ์ทั้งหลายจึงมาช่วยกันอย่างพร้อมเพรียงแบ่งหน้าที่กันทำตามความเหมาะสม พระพุทธเจ้าทรงช่วยร้อยด้ายเข้าในบ่วงเข็ม (สนเข็ม) เมื่อพระรูปใดด้ายหมดก็ส่งเข็มถวาย พระพุทธองค์ก็ทรงสนเข็มประทาน จนการเย็บจีวรสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี

พระพุทธรูปปางสนเข็มDr.DDnard Life Compass Meditationพระพุทธรูปปางสนเข็ม

  • ปางสดับพิณสามสาย

พระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย วางแนบที่พระอุระ (อก)

ประวัติ : ในพุทธประวัติเล่าว่าพระอินทร์ทรงดีดพิณสามสายถวายแด่พระมหาบุรุษ ในขณะที่พระองค์แสวงหาหนทางแห่งการหลุดพ้น ทำให้พระองค์เห็นชัดในพระทัยว่า การปฏิบัติย่อหย่อนเกินไป และการปฏิบัติที่เคร่งครัดจนเกินไปนั้น (กาม-สุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยคา) มิใช่วิธีที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นแน่นอน ทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทาเท่านั้น จึงจะเป็นหนทางแห่งการตรัสรู้ เปรียบดังพิณสามสายที่พอดีไม่หย่อนไม่ตึงเกินไป จึงจะให้เสียงที่ไพเราะเสนาะโสต

พระพุทธรูปปางสดับพิณสามสาย หนังสือเรื่อง พุทธประวัติ ฉบับ พระพุทธรูป 80 ปางพระพุทธรูปปางสดับพิณสามสาย

  • ปางนาคาวโลก

ปางนาคาวโลก เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาห้อยเยื้องมาข้างหน้าวางไว้ที่พระเพลา (ตัก) ด้านซ้าย พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระองค์ตามปกติ บางแบบพระหัตถ์ซ้ายห้อยมาข้างหน้า พระหัตถ์ขวาห้อยลงตามปกติ เอี้ยวพระวรกายผินพระพักตร์เหลียวไปข้างหลัง บางแบบพระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก)

พระพุทธรูปปางนาคาวโลกพระพุทธศาสนาพระพุทธรูปปางนาคาวโลก

ประวัติ : วันหนึ่งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระชนมายุ 79 พรรษาแล้ว ทรงนำเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จออกจากรุงเวสาลี พร้อมรับสั่งว่า การเห็นกรุงเวสาลีครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนา คือ เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย การตรัสเช่นนี้ถือเป็นมรณญาณ เป็นลางบอกให้ทราบว่าพระพุทธองค์ใกล้ปรินิพพานแล้ว และทรงทราบด้วยพระญาณว่า แม้มหาชนทั่วไปก็ไม่อาจเห็นเมืองเวสาลีอีก เพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน กองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูจะเข้ายึดเมืองเวสาลีเพราะกษัตริย์ลิจฉวีไม่ได้ตั้งมั่นในอาปริหานิยธรรมที่พระพุทธองค์ประทานสำหรับใช้ปกครองร่วมกัน ซึ่งเคยต้านทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูไว้ได้ถึง 2 ครั้ง การทอดพระเนตรครั้งนี้ เรียกว่า "นาคาวโลก" คือการเหลียวมองอย่างพญาช้าง สถานที่นี้มีผู้สร้างเจดีย์เอาไว้เรียกว่า "นาคาวโลกเจดีย์"

พระพุทธรูปปางนาคาวโลกล้านนาศาสตร์

นอกจากนี้แล้ว ก่อนหน้านี้ยังเคยมีประเด็นดราม่า กรณีภาพพระพุทธรูปคล้ายปางสมาธิ ประทับอยู่บนฐานกลีบบัว แต่มีรูปปั้นหญิงสาวเปลือยกายนั่งคร่อมบนตักในท่ากอด ขาทั้งสองข้างแนบส่วนเอวของพระพุทธรูป มือโอบคล้องกอดคอ หันหน้าชนกันกับพระพุทธรูป ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกอินเตอร์เน็ต 

จากการตรวจสอบสืบหาข้อมูลพบว่า พระพุทธรูปดังกล่าวเป็นปางหนึ่งของนิกายตันตระยาน ซึ่งนิกายพุทธที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู มักมีการสร้างรูปปั้นหรือพระพุทธรูปรูปร่างประหลาด อิงจารีตวรรณกรรมและปรัชญาทางศาสนา เป็นนิกายที่แพร่หลายในประเทศอินเดีย เนปาล และทิเบต หรือศัพท์ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ยับยุม (Yab-Yum)

สำหรับพระพุทธรูปปางดังกล่าว ไม่ได้ปรากฏในพุทธประวัติเช่นปางอื่นๆ โดยความหมายคือ ตัวแทนระหว่างปัญญา (เพศชาย) และความเมตตา (เพศหญิง) ที่ต้องมีควบคู่กัน เพื่อให้บรรลุธรรมที่แท้ หรือ เป็นแนวคิดเรื่องหนทางสู่นิพพาน โดยการเสพกิเลสทุกชนิดจนเกิดความเบื่อหน่าย ก่อนจะคลายกิเลสและหลุดพ้นในที่สุด

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook