ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยชี้ อ๊อฟ ไม่หมิ่นเบื้องสูง
จากกรณี พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)ผบช.น. มีหมายเรียก นายพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ดารานักแสดงชื่อดัง ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้แทนพระองค์ ในงานประกาศรางวัลนาฏราช เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2553 เข้าให้ปากคำ
ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย กล่าวว่า กรณีที่นายพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "พ่อ"ในงานวันนาฏราช ไม่ถือว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยสิ้นเชิง เพราะนายพงพัฒน์ไม่ใช่คนไทยคนแรกที่เรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า"พ่อ" และการที่คนไทยเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่าพ่อ ถือว่าเป็นความใกล้ชิด เป็นการแสดงความผูกพัน ความจงรักภักดีที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการแสดงออกถึงความเคารพยกย่องถวายพระเกียรติ
"ผมเชื่อว่ามีคนไทยอีกไม่น้อยที่เรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าพ่อ ไม่เว้นแม้กระทั่งคุณพ่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อาจจะเรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าพ่อเหมือนกัน เอกสารและหนังสือหลายเล่มก็เขียนคำว่าพ่อ ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้กระทั่งวีซีดีที่จัดทำโดยสำนักพระราชวังชุดบ้านของพ่อ หากตำรวจจะรักษามาตรฐานการทำงาน ก็จะต้องรับฟ้องและดำเนินคดีกับคนไทยทั้งประเทศที่เรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าพ่อ"ดร.อนันต์ กล่าว
ด้าน นางธัญญา โสภณ ภรรยาของนายพงษ์พัฒน์ เปิดเผยว่า เพิ่งทราบเรื่องหมายเรียกตัวจากข่าว แต่ว่าขณะนี้ก็ยังไม่มีหมายเรียกตัวอะไรมาถึง แต่ถ้ามีหมายเรียกมาถึงจริงๆ นายพงษ์พัฒน์พร้อมจะเดินทางไปให้ปากคำตามที่เรียก โดยไม่ขัดข้องใดๆ ทั้งสิ้น และคงไม่ได้เตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษเพราะสิ่งที่พูดก็เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นยังไง
"เราก็อยู่ตรงนี้อยู่แล้วไม่หนี สิ่งที่เราพูดก็เป็นตามความรู้สึกของเราจริงๆ ใครก็รู้ แล้วเราก็คงไม่เตรียมตัวอะไรมาก เพราะเราไม่ได้เป็นคนทำความผิด หรือเป็นผู้ร้ายฆ่าคนตายที่ไหน" นางธัญญากล่าว
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่แน่ใจเรามีคณะที่ปรึกษาอยู่ซึ่งจะดูแลเรื่องนี้ได้ ยังไม่มีใครสรุปว่าการกระทำและคำพูดของนายพงษ์พัฒน์เป็นความผิด แต่ต้องรอดูว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นคืออะไร
ในเรื่องนี้ นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับคณะที่ปรึกษาที่สามารถให้คำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ได้นั้นหมายถึงคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านคดีความมั่นคงของรัฐที่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ ที่นายกฯได้มีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 มีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน และแต่งตั้งให้ปลัดจากทุกกระทรวงร่วมเป็นคณะกรรมการ มีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นเลขานุการ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ตำรวจ ดีเอสไอ และกระทรวงไอซีที เพื่อให้คดีมีความรอบคอบ เป็นธรรม และเกิดความเหมาะสม