รู้จัก "โรคพิษสุนัขบ้า" ติดเชื้อแล้วตายเกือบทุกราย ไม่มีทางรักษา แต่ป้องกันได้

รู้จัก "โรคพิษสุนัขบ้า" ติดเชื้อแล้วตายเกือบทุกราย ไม่มีทางรักษา แต่ป้องกันได้

รู้จัก "โรคพิษสุนัขบ้า" ติดเชื้อแล้วตายเกือบทุกราย ไม่มีทางรักษา แต่ป้องกันได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้จัก "โรคพิษสุนัขบ้า" ติดเชื้อแล้วตายเกือบทุกราย ไม่มีทางรักษา แต่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือ โรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อในระบบประสาทจากสัตว์สู่คน มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตเกือบทุกราย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา แต่ทั้งนี้โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน

แม้ในปัจจุบัน โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ หากผู้ที่ติดเชื้อได้รับวัคซีน Post-Exposure Prophylaxis (PEP) หลังจากถูกสุนัขหรือสัตว์อื่นๆ กัด แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ตระหนักถึงอันตราย ปล่อยปละละเลย ไม่มาพบแพทย์ ไม่รับการฉีดวัคซีน จึงทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะไม่มีใครรอดชีวิตจากการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า หรือถ้าหากมีปาฏิหาริย์รอดมาได้ก็ต้องอยู่ในอาการโคม่าหลายอาทิตย์และได้รับความความเสียหายทางระบบประสาทอย่างรุนแรงซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีในการฟื้นฟู

  • คนติดโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ชนิดใดบ้าง

โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น แมว ค้างคาว วัว ลิง ชะนี กระรอก กระต่าย รวมถึงหนู เป็นต้น แต่พบว่าสุนัขและแมวเป็นสัตว์ที่นำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนได้บ่อยที่สุด โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกกัด ข่วนหรือเลียบริเวณที่มีบาดแผลรอยถลอกหรือรอยขีดข่วนบาดแผล หรือถูกเลียบริเวณเยื่อบุตา หรือปาก เป็นต้น นอกจากนี้ การชำแหละซากสัตว์หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้

  • อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคนเป็นอย่างไร

หลังได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผู้ป่วยจะแสดงอาการป่วยโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ในบางรายอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีอาการก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวนและความลึกของบาดแผลรวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด อาการของโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวายนอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการเจ็บ เสียวแปล๊บคล้ายเข็มทิ่ม หรือคันอย่างมากบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเพาะของโรคระยะนี้มีเวลาประมาณ 2-10 วัน

2. ระยะที่มีอาการทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน วุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง กลืนลำบาก รวมถึงกลัวน้ำ อาการจะมากขึ้นหากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-7 วัน

3. ระยะท้าย ผู้ป่วยอาจมีภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคม่า และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

  • ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อถูกสัตว์กัด

1. รีบล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง นานอย่างน้อย 15 นาที ล้างทุกแผลและล้างให้ลึกถึงก้นแผล แล้วเช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อบริเวณแผล เช่น ยาโพวิโดนไอโอดีน เป็นต้น

2. จดจำลักษณะและสังเกตอาการสัตว์ที่กัด รวมทั้งสืบหาเจ้าของ เพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าและสังเกตอาการสัตว์ที่กัดเป็นเวลา 10 วัน ถ้าสบายดีไม่น่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจ

3. ไปพบแพทย์ทันทีพร้อมนำสมุดวัคซีนหรือประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักไปด้วย เพื่อรับการป้องกันรักษาที่ถูกต้อง ถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า เช่น ถูกกัดหรือข่วน แพทย์จะพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงวัคซีนป้องกันบาดทะยักและยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ในกรณีที่มีโอกาสติดโรคพิษสุนัขบ้าสูง แพทย์อาจพิจารณาให้อิมมูโนโกลบุลินซึ่งมีภูมิต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าร่วมด้วย โดยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจะฉีดประมาณ 3-5 ครั้ง เป็นวัคซีนมีความปลอดภัยสูงสามารถฉีดได้ทุกวัย รวมทั้งในเด็กและสตรีมีครรภ์ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีประสิทธิภาพสูงหากไปรับการฉีดตามแพทย์นัดทุกครั้ง

  • จะป้องกันพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร

เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ไม่มียาที่ใช้ในการรักษา และถ้าติดเชื้อจะเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมีแนวทางในการป้องกันดังนี้

1. ควบคุมไม่ให้สัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามกำหนด และฉีดซ้ำทุกปี ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปในที่สาธารณะ ทุกครั้งที่จะนำสุนัขออกนอกบ้านควรอยู่ในสายจูง ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง

2. หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสัตว์กัด โดยไม่แหย่หรือรังแกให้สัตว์โมโห รวมทั้งไม่ยุ่งหรือเข้าใกล้สัตว์ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ

3. ถ้าถูกสัตว์กัดแล้ว ควรปฎิบัติตามคำแนะนำข้างต้น

4. พิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ สัตวแพทย์ ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงและขายสัตว์ เป็นต้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่มีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอาจทำให้การเข้าถึงวัคซีน การตรวจทางน้ำเหลือง รวมถึงการมารับวัคซีนกระตุ้นตามนัดทำได้ยากลำบาก หรืออาศัยอยู่บนพื้นที่ที่มีแหล่งรังของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ป่า รวมถึงเด็กที่เลี้ยงสุนัขและแมวเป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า และเมื่อถูกสัตว์กัดจะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก 1-2 ครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook