เปิดประวัติ "ไข่พะโล้" ชื่อนี้ได้แต่ใดมา เมนูยอดฮิตคนไทย ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่อาหารไทย
เปิดประวัติ "ไข่พะโล้" ชื่อนี้ได้แต่ใดมา เมนูยอดฮิตคนไทย ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่อาหารไทย
พะโล้ เป็นการปรุงอาหารแบบจีนที่แพร่หลายไปทั่วประเทศจีน และได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยด้วย โดยยืมคำศัพท์ภาษาจีนว่า 拍滷 ซึ่งอ่านว่า "พะล่อ" ในภาษาจีนฮกเกี้ยน และ "พะโล่ว" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว
พะโล้เป็นการนำน้ำตาลทรายแดงไปเคี่ยวบนกระทะ จากนั้นจึงค่อยใส่เครื่องปรุงรสต่างๆ อย่างซีอิ๊ว เครื่องเทศ และเนื้อสัตว์ หรือวัตถุดิบอื่นๆ แล้วเคี่ยวจนสุก โดยคำว่า "โล่ว" ในภาษาจีนแต้จิ๋วนั้น ตรงกับคำว่า "หลู่" ในภาษาจีนกลาง หมายถึงน้ำแกงสีเข้ม ใส่เครื่องเทศ เกลือ ซีอิ๊ว และใช้การปรุงเนื้อสัตว์ให้มีสีออกน้ำตาลอมแดง
พะโล้ในจีนแต่เดิมแบ่งเป็นพะโล้ภาคเหนือและพะโล้ภาคใต้ ส่วนของพะโล้ภาคใต้แบ่งเป็นพะโล้เสฉวน พะโล้กวางตุ้ง พะโล้แต้จิ๋ว พะโล้แคะ ซึ่งในกลุ่มนี้ พะโล้เสฉวนมีชื่อเสียงที่สุดโดยเฉพาะพะโล้ซี่โครงหมู พะโล้ในแต่ละเมืองมีเอกลักษณ์ต่างกันไป เช่น พะโล้ที่เมืองซูโจวรสหวานนำ ของมณฑลซานตงสีออกแดงและเค็มนำ ของเสฉวนหอมและเผ็ด และพะโล้แบบแต้จิ๋วที่เป็นพะโล้แดงและมีกลิ่นหอม
สูตรเครื่องเทศหรือเครื่องพะโล้มีได้หลายแบบ พะโล้ที่ดีจะปรุงให้ได้ 5 รสโดยใช้เครื่องเทศจีน 5 ชนิด (ผงห้าเครื่องเทศ อบเชย ยี่หร่า กานพลู โป๊ยกั๊ก และเม็ดพริกไทยเสฉวน) พะโล้ที่ทำโดยคนไทยจะปรับให้ปรุงง่ายขึ้น ใส่เครื่องเทศจีนเพียงไม่กี่อย่าง โดยมากนิยมใส่โป๊ยกั้กและอบเชย สำคัญเลยคือต้องใส่สามเกลอ (รากผักชี กระเทียม พริกไทย) ให้มีความหอม ใช้น้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลมะพร้าว ส่วนเนื้อสัตว์อื่นๆ มีทั้งหมูสามชั้น ไก่ บางสูตรใส่เต้าหู้ลงไปด้วย
เรื่องเล่าเหลือเชื่อของ "พะโล้"
ตำนานไข่พะโล้ (ที่ต้องใช้วิจารณญาณ) เริ่มต้นจากความแค้นของเจ้าพ่อไผ่สุ่ยเอี้ยที่มีต่อภรรยาชื่อ ไผ่เสี่ยวเมิ่น และชายชู้ของนางชื่อว่า ฮัวซวี่เฉิน เพราะเจ้าพ่อไผ่สุ่ยเอี้ยทั้งรักและทะนุถนอมภรรยาคนนี้มาก แต่นางกลับหักหลัง
เจ้าพ่อไผ่สุ่ยเอี้ยจึงโกรธมาก เลยสาปให้ทั้งคู่กลายเป็นเป็ด และนำเป็ดไปต้มกับซีอิ๊วหวาน และเครื่องเทศหลายชนิด จนกลายเป็นเมนูพะโล้ หลังจากนั้น หากใครอยากขอพรจากเจ้าพ่อไผ่สุ่ยเอี้ย ก็ต้องต้มเป็ดพะโล้มาถวาย จนเต็มศาลไปหมด ต่อมาผู้คนเริ่มเบื่อเป็ดพะโล้ เป็นที่มาของคำว่าเซ็งเป็ด จึงได้นำไข่ หมู และเต้าหู้มาใส่แทนเป็ด