เปิดตำนาน "หลวงปู่ศุข" ทำไมพระเครื่องถึงดัง? กรมหลวงชุมพรฯ ยังฝากตัวเป็นศิษย์

เปิดตำนาน "หลวงปู่ศุข" ทำไมพระเครื่องถึงดัง? กรมหลวงชุมพรฯ ยังฝากตัวเป็นศิษย์

เปิดตำนาน "หลวงปู่ศุข" ทำไมพระเครื่องถึงดัง? กรมหลวงชุมพรฯ ยังฝากตัวเป็นศิษย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เปิดตำนาน "หลวงปู่ศุข" วัดปากคลองมะขามเฒ่า “กรมหลวงชุมพรฯ” เลื่อมใสฝากตัวเป็นศิษย์ ปัจจุบันพระเครื่องราคาหลักล้าน

ประวัติหลวงปู่ศุข

หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า หรือ พระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2390 มรณภาพ พ.ศ. 2466 เป็นพระภิกษุสงฆ์สังกัดมหานิกาย ดำรงตำแหน่งอดีตเจ้าคณะอำเภอวัดสิงห์และอดีตเจ้าอาวาสวัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท

หลวงปู่ศุข นามเดิมว่า “ศุข” เป็นบุตรคนโต มีพี่น้อง 9 คน เกิดในสกุล เกษเวช เป็นชาวชัยนาท ปีเกิดตรงกับปีฉลูปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) นามสกุลนี้ภายหลังใช้ว่า เกษเวชสุริยา ภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านมะขามเฒ่า ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท บิดาชื่อน่วม มารดาชื่อทองดี ประกอบอาชีพค้าขาย และทำสวน

ศุข เกษเวช ในวัยเด็กขณะว่ายน้ำแข่งขันกับเพื่อน มารดามาตามให้ขึ้นจากน้ำ ได้พูดประชดประชันคาดโทษว่า “หากไม่ขึ้นมาละก็ ไม่ต้องขึ้นมาอีกเลย” ขณะนั้นมีเรือโยงแล่นผ่าน ท่านจึงเกาะเรือมาด้วย ผ่านจังหวัดต่างๆ จนมาขึ้นที่ย่านวัดโพธิ์ทอง จังหวัดนนทบุรี (ปัจจุบันคือวัดโพธิ์บางเขน) และได้แต่งงานอยู่กินกับหญิงสาวชื่อว่า “สมบุญ” ประกอบอาชีพค้าขาย มีบุตรด้วยกัน 1 คน

เมื่อถึงวัย 22 ปี ท่านต้องการบวชทดแทนคุณบิดามารดา ที่วัดโพธิ์ทองล่าง โดยพระครูเชย จันทสิริ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออุปสมบทแล้วก็ได้เป็นศิษย์ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านวิปัสสนาและพุทธาคมจากพระอธิการเชย จันทสิริ เมื่อเรียนวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนเวทมนตร์คาถา ต่อมาท่านได้กราบลาพระอุปัชฌาย์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสามง่าม ปทุมวัน เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมเพิ่มเติม และย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร บางลำพู ณ ที่นี่ท่านได้พบกับหลวงพ่อเงิน พุทฺธโชติ วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร ได้ศึกษาวิชาต่าง ๆ ร่วมกันท่านทั้งสองจึงมีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2435 ท่านได้ธุดงธ์เข้าเขตชัยนาทมาจำพรรษาอยู่ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่าซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน ท่านได้บูรณะซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมขึ้นมาใหม่ ชาวบ้านต่างพากันเลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติและพระเวทวิทยาคมของท่าน ท่านได้ศิษย์เอกคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยได้ถ่ายทอดวิชาอาคมต่าง ๆ ให้พระองค์จนหมด รวมถึงมีตำนานเกี่ยวกับกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ที่ได้นำผ้าเจียดจากหลวงปู่ศุขไปแจกให้แก่ทหารเรือ เพื่อทำการทดลองอาคม โดยมี ยัง หาญทะเล นักมวยไทยที่มีชื่อเสียงในยุคมวยคาดเชือก เขาเป็นลูกศิษย์ และเป็นทหารคนสำคัญของกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  เป็นผู้รับอาสาทดลอง

หลวงปู่ศุข ได้รับสมณศักดิ์เป็น เจ้าคณะอำเภอคนแรกของอำเภอวัดสิงห์ หลวงปู่ศุขอาพาธด้วยโรคชราตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 มรณภาพเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ตรงกับปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริอายุได้ 76 ปี นับพรรษาได้ 54 พรรษา

กรมหลวงชุมพรฯ ฝากตัวเป็นศิษย์

นาวาตรี หลวงรักษาราชทรัพย์ (รักษ์ เอกะวิภาต) บันทึกว่า เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ เสด็จประพาสตากอากาศทางเหนือ เรือพระประเทียบได้จอดพักที่ศาลาวัดปากคลองมะขามเฒ่า พระองค์ทรงเห็นหลวงปู่ศุขลงมาดูเด็กวัดตัดหญ้าบริเวณดงกล้วย ท่านเอาหัวปลีที่กองอยู่มาลูบคลำสักครู่ก็วางลง หัวปลีนั้นก็กลายเป็นกระต่ายวิ่งเพ่นพ่าน กระต่ายตัวหนึ่งวิ่งมาถึงที่พระองค์ประทับ เมื่อทรงจับกระต่ายนั้นก็กลับกลายเป็นหัวปลีดังเดิม

จากนั้นกรมหลวงชุมพรฯ จึงเสด็จไปทรงนมัสการหลวงปู่ศุข ทั้งสองสนทนากันอยู่จน 4-5 ทุ่ม จึงเสด็จกลับลงเรือ วันรุ่งขึ้นก็เสด็จไปสนทนากับหลวงปู่ศุขอีกจนลืมอาหารกลางวันไปทั้งคู่ เมื่อทรงเลื่อมใสในหลวงปู่ศุข กรมหลวงชุมพรฯ ก็ฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่ศุขเองก็รักใคร่เมตตาพระองค์จึงถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้

เมื่อหลวงปู่ศุขลงมากรุงเทพฯ คราวใด ก็จะมาจำวัดที่วังนางเลิ้งของกรมหลวงชุมพรฯ เป็นประจำกรมหลวงชุมพรฯ ทรงปลูกเรือนพักไว้รับรองท่านโดยเฉพาะ

คราวหนึ่งพระโอรส 3 องค์ ของกรมหลวงชุมพรฯ ที่ไปบรรพชาเป็นสามเณรแก้บนที่หายป่วย มีพระอาจารย์พริ้ง เจ้าอาวาสวัดมะกอก เป็นพระอุปัชฌาย์ ลาสิกขาเสด็จกลับมาประทับที่วัง พอดีกับหลวงปู่ศุขลงมาพักที่วังกรมหลวงชุมพรฯ จึงให้พระโอรสบรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้ง โดยให้หลวงปู่ศุขเป็นพระอุปัชฌาย์ พอครบ 7 วันก็ลาสิกขา

กรมหลวงชุมพรฯ เองก็เสด็จวัดปากคลองมะขามเฒ่าแทบทุกปี และทรงเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ตอนพระพุทธเจ้าทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกริยา และแม่ธรณีบีบมวยผม บนผนังพระอุโบสถวัดปากคลองมะขามเฒ่า

ความที่ครู-ศิษย์คู่นี้ ต่างเป็นผู้พากเพียรใฝ่หาวิชาความรู้ ทั้งยังมีอุปนิสัยมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวเช่นเดียวกัน จึงเป็น “กัลยาณมิตร” แก่กัน เมื่อ หลวงปู่ศุข ทราบข่าวกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์ที่หาดทรายรี เมื่อกลางปี 2466 ท่านเสียใจมาก จากนั้นก็เริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ และมรณภาพในปลายปีเดียวกัน

ตำนานหลวงปู่ศุข

ตำนานเล่าว่า หลวงปู่ศุขได้ฝากตัวเป็นศิษย์ เรียนด้าน “รสายนเวท” หรือการเล่นแร่แปรธาตุ และเรื่องวิชาไสยศาสตร์ ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ปรากฏหลายครั้ง ศิษยานุศิษย์ที่เคยเห็นก็นำมาเล่าต่อกัน เช่น เรื่องการผูกหุ่นพยนต์ให้ล่องหนหายตัว การเดินบนผิวน้ำ การสะเดาะโซ่ตรวน ปลุกเสกผงวิเศษทำพระพิมพ์ พระเครื่องหลวงปู่ศุขจึงได้รับความนิยม

ตำนานอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หลวงปู่ศุข ที่มีลูกศิษย์นำมาเล่าต่อๆ กัน (โปรดใช้วิจารณญาณ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล) นอกจากตำนานเสกหัวปลีเป็นกระต่ายแล้ว ยังเสกทหารเป็นจระเข้ให้กรมหลวงชุมพรฯ ทอดพระเนตร

เรื่องเล่าที่ถูกเล่าขานกันมากที่สุด ก็คือการรูดใบมะขาม ท่องคาถาเสกให้เป็นตัวต่อ ทำให้การปลุกเสกพระเครื่องหลวงปู่ศุขทุกรุ่นที่ทำมาจากผงต่างๆ จึงได้รับความนิยม เชื่อว่าสามารถคุ้มครองภัยได้ตามความเชื่อของผู้ครอบครอง

กิตติศัพท์ในความขลังประสิทธิในพระพิมพ์สี่เหลี่ยมของท่านจึงค่อยๆ เผยแพร่จากปากหนึ่งไปสู่อีกปากหนึ่ง ในเวลาไม่ช้าไม่นาน คุณวิเศษของท่านจึงค่อยๆ โด่งดังขจรขจายไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลัก การขนส่งสินค้า ตลอดจนการทำมาค้าขาย จะขึ้นล่องจะต้องอาศัยสายน้ำ เจ้าพระยาเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เพราะในสมัยนั้นถนนหนทางทางบกยังทุรกันดาร พอตกเพลาพลบค่ำพ่อค้าพ่อขายเรือเล็กเรือใหญ่จะมาอาศัยนอนค้างแรมที่แพหน้าวัดของท่าน เพื่ออาศัยบารมีของท่านช่วยป้องกันขโมยขโจร ที่จะมาประทุษร้ายต่อเลือดเนื้อชีวิตและทรัพย์สิน ถ้าจะเปรียบไปแล้วหน้าวัดของท่านจึงเป็น เสมือนหนึ่งเป็นชุมทางที่สำคัญนี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยเสริมส่งให้เกียรติคุณของท่านแผ่ขยายไปทั่วทุกภาคของประเทศชื่อเสียงของท่านจึงเป็นที่รู้จักกันดี

การที่ท่านทำพระเครื่องรางของขลัง ได้ประสิทธิ์ มี ฤทธิ์ มีเดช ทั้งๆ ที่อักษรเลขยันต์พื้นๆ นั้น เป็นเพราะอำนาจจิตที่ท่านได้ฝึกฝนมานั้น กล้าแกร่งยิ่งนัก โดยเฉพาะกสิณธาตุทั้งสี่ มี ดิน น้ำ ลม ไฟ นั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญ เป็นบ่อเกิดแห่งอำนาจอิทธิฤทธิ์ทางใจเลยทีเดียว สำหรับการสำเร็จวิชาชั้นสูงเรียกว่า มายาการ คือความเชื่อถือและการปฏิบัติ ที่มุ่งหมายให้เกิดผลด้วยการ ใช้พลังหรืออำนาจเหนือธรรมชาติ เช่นของขลัง พิธีกรรม หรือ หลีกลี้ลับ บังคบให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ เช่น ท่านเสกใบมะขาม ให้เป็น ตัวต่อ ตัวแตน เสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย ตลอดจนการผูกหุ่นพยนต์ด้วยฟางข้าว เสกคนให้เป็นจระเข้เป็นต้น มันเป็นมายาการชั้นสูง คือการบังคับให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ แท้ที่จริงแล้วใบมะขามก็ยังคงเป็นใบมะขาม หัวปลี ก็ คงเป็นหัวปลี และหุ่นฟาง ก็คงเป็นหุ่นฟางเหมือนเดิม เว้นแต่อำนาจจิตของท่านทำให้เราเห็นไปเอง

วัตถุมงคลหลวงปู่ศุข

พระเครื่องหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ถือเป็นพระเครื่องยอดนิยมที่นักสะสม หรือเซียนพระต่างๆ ต้องมีเก็บไว้ในครอบครอง เพราะด้วยตำนาน เรื่องเล่า ความศักดิ์สิทธิ์ด้านพุทธคุณที่เล่าต่อกันมาทำให้พระเครื่องหลวงปู่ศุข ติดอันดับพระเครื่องที่มีมูลค่าเช่าบูชาสูงสุดเป็นอันดับต้นๆ ของวงการพระเครื่องไทย เรื่องเล่าพุทธคุณของหลวงปู่ศุขเป็นตำนานพื้นบ้านของภาคกลาง จนกระทั่งได้ถูกดัดแปลงมาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่องภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง

พระเครื่องหลวงปู่ศุข อาทิ

พระหลวงปู่ศุข (พระครูวิมลคุณากร) สี่เหลี่ยม พิมพ์ประภามณฑล ข้างรัศมี วัดปากคลองมะขามเฒ่าสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยพระหลวงปู่ศุข (พระครูวิมลคุณากร) สี่เหลี่ยม พิมพ์ประภามณฑล ข้างรัศมี วัดปากคลองมะขามเฒ่า

  • พระพิมพ์สี่ซุ้มรัศมี มีหลายพิมพ์ มีทั้งจารอักขระและไม่มีจาร วัตถุมงคลรุ่นแรก หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เกิดขึ้นเมื่อมารดาของหลวงปู่ได้ถึงแก่กรรมและได้จัดฌาปนกิจศพ และในงานนี้เองหลวงปู่ ท่านได้สร้างวัตถุมงคลในรูปพระพิมพ์สี่เหลี่ยมซุ้มรัศมีออกแจกเป็นของที่ระลึกเป็นครั้งแรก ปัจจุบัน เรียกกันว่าพระพิมพ์สี่เหลี่ยมประภามณฑล เมื่อผู้ที่ได้รับแจกพระเครื่องจากท่านไปได้ปรากฏอภินิหารทางอยู่ยงคงกระพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกันเขี้ยวงา คือสุนัขกัดไม่เข้า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ ที่บังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง สมัยก่อน พระวัดปากคลองมะขามเฒ่าเนื้อตะกั่ว จะมีแขวนอยู่ในคอเด็กในท้องถิ่นเกือบจะทุกคน แล้วถ้าไปขอพรหลวงปู่ศุข ท่านมักจะถามว่า "เอ็งมีลูกกี่คน" ท่านจะให้ครบทุกคน

พระนาคปรกใบมะขาม หลวงปู่ศุขสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยพระนาคปรกใบมะขาม หลวงปู่ศุข

  • พระนาคปรกใบมะขาม พระประเภทหนึ่งซึ่งมีพุทธคุณลือเลื่อง และมีศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรียกสั้นๆ ว่า “ปรกใบมะขาม” เนื่องจากรูปพระพุทธนั้นเป็นพระนาคปรก ส่วนองค์พระมีขนาดรูปทรงเหมือนใบมะขาม มีขนาดใหญ่กว่าใบมะขามจริง แต่ก็ยังถือว่าเล็กมากอยู่ดีในบรรดา ‘พระปรกใบมะขาม’ ที่ขึ้นชื่อลือเลื่องนิยมกันแพร่หลายนั้น อาทิ พระปรกใบมะขาม หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท พระชุดนี้สร้างโดยวัดอนงคาราม ธนบุรี ในปี พ.ศ.2463 แต่เนื่องจากปลุกเสกและมีหลวงปู่ศุขเป็นเจ้าพิธี จึงเรียกกันว่า "ปรกหลวงปู่ศุข" มีพระเกจิอาจารย์หลายท่านร่วมปลุกเสก อาทิ สมเด็จพระสังฆราช(แพ) วัดสุทัศน์ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม ซึ่งรุ่นแรกหาได้ยากมาก

เหรียญหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. 2466รังสรรค์ ต่อสุวรรณ/Rangsan Torsuwan fanpageเหรียญหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. 2466

  • เหรียญหลวงปู่ศุขรุ่นแรก 2466 ที่สร้างขึ้นหลังจากหลวงปู่ศุขมรณภาพ คือเหรียญรุ่น 2466 เป็นเนื้อโลหะ ทำมาจากเหรียญสตางค์แดงมาหลอม

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook