คอป.เตรียมเสนอนายกฯ ทบทวนใช้โซ่ตรวนผู้ต้องหา

คอป.เตรียมเสนอนายกฯ ทบทวนใช้โซ่ตรวนผู้ต้องหา

คอป.เตรียมเสนอนายกฯ ทบทวนใช้โซ่ตรวนผู้ต้องหา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอป.เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนใช้โซ่ตรวนผู้ต้องหา ทั้งคดีการเมืองและอาญา เชื่อรับลูก พร้อมเห็นพ้องหยิบยกกรณีเจ้าหน้าที่เรียก "พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง" ถูกเรียกสอบปากคำกรณีพูดในงานนาฏราช เพราะเห็นเป็นเรื่องความผิดปกติ

นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แถลงภายหลังการประชุม คอป. ว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าจะเสนอให้กรมราชทัณฑ์ปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติในการตีตรวนผู้ต้องขังทั้งคดีการเมืองและคดีอาญาเนื่องจากเห็นว่า ในมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ราชทันฑ์ พ.ศ. 2497 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง เว้นแต่เป็นบุคคลที่น่าจะทำอันตรายต่อชีวิต หรือร่างกายของตนเองและผู้อื่น เป็นบุคคลวิกลจริต บุคคลที่น่าจะพยายามหลบหนีการควบคุม ขณะเดียวกันยังไม่สอดคล้องตามมาตรฐานของสหประชาชาติ

นายคณิต กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย แต่ควรเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องหา เพื่อสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อีกทั้งแนวทางนี้ต้องเป็นการแก้ไขทั่วไป เพื่อให้เกิดผลสำหรับผู้ต้องขังรายอื่นๆ ด้วยไม่ใช่เพียงแต่แกนนำคนเสื้อแดงเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ปรองดองของคนในชาติอย่างแท้จริง

"จะทำความเห็นดังกล่าวเสนอ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเท่าที่ทราบก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีไม่ขัดข้องและพร้อมรับลูก" นายคณิต กล่าว

นายคณิต กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมการ คอป. จะศึกษารากเหง้าของปัญหาเริ่มจากการปฏิรูปการเมืองปี 2540 ซึ่งอาจมีการทำวิจัยหาข้อมูลด้วย นอกจากนี้ คอป. มีความเห็นที่จะหยิบยกกรณีที่เจ้าหน้าที่เรียก นายพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง นักแสดงชื่อดัง สอบปากคำกรณีที่พูดในงานนาฏราชด้วย เพราะเห็นเป็นเรื่องความผิดปกติ

ด้านนายกิตติพงศ์ กิติยารักษ์ กรรมการ คอป. และปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากมีความเห็นในเรื่องนี้ออกไป ผู้ที่เกี่ยวข้องจะไปพิจารณาเพื่อดำเนินการและเรื่องนี้ถือเป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการเลือกใช้เครื่องพันธนาการที่เหมาะสมกับผู้ต้องหาและสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่การออกแบบสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาและทบทวนเรื่องการใช้โซ่ตรวน พร้อมยืนยันว่า คอป.ไม่ได้เสนอความเห็นเพื่อเลือกปฏิบัติต่อผู้ใดผู้หนึ่ง แต่มองภาพใหญ่ว่าการปรองดอง ต้องเริ่มตั้งแต่สร้างบรรยากาศไม่ให้มีการคุกคามเกินกว่าเหตุ

น.พ.รณชัย คงสกนธ์ คณะกรรมการ คอป. กล่าวว่า การดำเนินการของ คอป.ในขั้นต่อไป คือปฏิรูปและเยียวยาประชาชน 3 กลุ่ม คือ ผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งร่างกายและจิตใจ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งก่อนและหลังการชุมนุม และชุมชนโดยรวม ซึ่งจะมีแนวทางดำเนินการ 10 แนวทาง เช่น ตรวจเยี่ยมผู้ที่ได้รับผลกระทบ เดินสายไปยังหมู่บ้านต่างๆ จัดเสวนารับฟังความเห็น โดยจะมีการดำเนินการ 13 กิจกรรม ภายในเวลา 3 เดือน และจะมีการรายงานผลทุก 3 เดือนด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook