คลังเตรียมตัดสินใจรูปแบบจัดเก็บภาษีบุหรี่
กรมสรรพสามิตเสนอ รมว.คลัง พิจารณาปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคำนวณภาษีบุหรี่ใหม่ หวังให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ซึ่งมีผลบังคับใช้ให้สมาชิกทยอยลดการจัดเก็บภาษีนำเข้าให้เหลือร้อยละ 0-5 นับแต่ต้นปี 2553 ทั้งในส่วนบุหรี่ที่ผลิตในประเทศและบุหรี่นำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน จึงได้เสนอให้นายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคำนวณด้วยการยกเลิกการคำนวณภาษีบุหรี่จากราคาหน้าโรงงานและราคานำเข้า (C.I.F.) สำหรับบุหรี่นำเข้า มาเป็นการคำนวณจากราคาขายส่งช่วงสุดท้ายหรือราคาขายปลีกเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ จากการหารือกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศหลายรายแล้ว มีความเห็นสอดคล้องกัน และเป็นรูปแบบที่ดีขึ้นจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งได้ ทั้งนี้ เพื่อให้แนวทางในการจัดเก็บภาษีเน้นดูการจำหน่ายในประเทศ ไม่ได้ดูว่าจะเป็นบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศหรือผลิตในประเทศ โดยยืนยันว่าหลักเกณฑ์ใหม่ไม่ได้ให้อำนาจอธิบดีประกาศราคา หากเห็นว่าระดับราคาไม่เหมาะสมเป็นธรรม เพราะเกรงว่าอำนาจจะตกอยู่กับอธิบดีมากเกินไป เนื่องจากมีวิธีปฏิบัติอยู่ 4-5 ขั้นตอนตามหลัก WTO ส่วนรูปแบบและหลักเกณฑ์ใหม่จะออกมาอย่างไรต้องรอให้กระทรวงการคลังพิจารณา
แต่หลังจากได้ปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตบุหรี่ด้วยวิธีคำนวณจากหน้าโรงงานและราคานำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 85 จากเดิมจัดเก็บร้อยละ 80 โดยมีเพดานภาษีร้อยละ 90 และเมื่อเพิ่มภาษีทำให้บุหรี่มีราคาแพง อาจกระทบต่อการสูบบุหรี่น้อยลง ทำให้บริษัทผู้ผลิตบุหรี่หันมาผลิตบุหรี่ยี่ห้อใหม่ หรือนำเข้าบุหรี่จากประเทศเพื่อนบ้าน ราคาถูกมาจำหน่ายเพื่อเสียภาษีน้อยลง โดยบุหรี่ดังกล่าวเดิมมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 1 ได้เพิ่มมาเป็นร้อยละ 3-4 แม้จะมีการแจ้งเสียภาษีอย่างถูกต้องก็ต้องติดตามดูพฤติกรรมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำตลาดกับผู้มีรายได้น้อย และอาจทำให้มีบุหรี่เถื่อนไหลเข้ามามากขึ้น
จากการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมา ได้จัดกลุ่มให้แต่ละพื้นที่เน้นความสำคัญในการปราบปรามสินค้าเถื่อนอย่างเข้มงวด เช่น ภาคใต้ เน้นควบคุมดูแลปราบปรามน้ำมันเถื่อน ภาคตอนล่างและภาคกลางตอนบน เน้นดูแลสุราเถื่อน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือคุมเข้มการนำเข้าบุหรี่เถื่อน เพราะยังมีผู้กระทำผิดกับสินค้าเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง