ยอดใช้ไฟฟ้าเขตนครหลวงขยายตัวสูงตามภาวะเศรษฐกิจ
กฟน.คาดยอดใช้ไฟฟ้าในพื้นที่จะขยายตัวร้อยละ 9 จากครึ่งแรกของปี ขยายตัวร้อยละ 12 มั่นใจกำไรสิ้นปีทะลุ 6,193 ล้านบาท จาก 6 เดือนแรกทำกำไรแล้ว 4,996 ล้านบาท ย้ำสนใจร่วมทุน 3 จี โดยใช้โครงข่ายไฟเบอร์ออปติก แต่ต้องดูกฏหมายให้ชัดเจนก่อน
นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยในโอกาสครบรอบ 52 ปี โดยเปิดเผยถึง ผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2553 กฟน.มีรายได้รวม 77,592 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 72,596 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4,996 ล้านบาท หน่วยจำหน่ายไฟฟ้า 22,762 ล้านหน่วย มีสินทรัพย์รวม 142,213 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 7,965 ล้านบาท คาดกำไรสุทธิทั้งปีประมาณ 6,193 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น และสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มดีขึ้น ทั้งภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก
นอกจากนี้ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ส่งผลทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2553 อยู่ที่ 8,076 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดของ กฟน.
"การใช้ไฟฟ้าครึ่งแรกของปีโตถึงร้อยละ 12 หรือกว่า 2.2 หมื่นล้านหน่วย ตามภาวะเศรษฐกิจโดยอุตสาหกรรมขยายตัวสูงสุด ทำให้ กฟน.ปรับเป้าหมายการขยายตัวของปีนี้เป็น 45,500 ล้านหน่วยหรือขยายตัวร้อยละ 9 จากเป้าหมายเดิมร้อยละ 1.5" ผู้ว่าการ กฟน.ระบุ
ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยต่อไปว่า กฟน.เดินหน้าสู่การดำเนินธุรกิจหลักอย่างมั่นคง มีแผนลงทุนที่สำคัญในการพัฒนาระบบไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 กฟน.มีงบประมาณลงทุนดำเนินการ 24,430.9 ล้านบาท มีแผนการจ่ายเงินลงทุนภายในปีนี้ประมาณ 7,359.7 ล้านบาท สำหรับแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า แผนงานเปลี่ยนระบบสายป้อนอากาศเป็นสายป้อนใต้ดิน (ถนนพหลโยธิน สุขุมวิท และ พญาไท )
สำหรับการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง กฟน.ได้เร่งดำเนินการในหลายธุรกิจ เช่น โครงข่ายใยแก้วนำแสง จากการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ขณะนี้ กฟน.ให้บริการโครงข่าย โดยการให้เช่า /ใช้ / เชื่อม เส้นใยแก้วนำแสงตามความเร็ว (Speed) ในการใช้งาน ธุรกิจบริการสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้งานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และ กฟน.ยังสนใจจะเข้าร่วมทุนในโครงข่าย 3 จี ที่กำลังอยู่ในระหว่างการเปิดประมูลในขณะนี้ แต่คงต้องดูด้านกฏหมายให้ชัดเจนว่าจะเข้าร่วมทุนได้หรือไม่ ซึ่งหากได้จะสร้างรายได้มหาศาล แต่หากไม่ได้ กฟน.คงจะได้เพียงค่าเช่าโครงข่ายเท่านั้น โดยโครงการ กฟน.มีทั้งหมด กว่า 10,000 วงจรกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3,192 ตารางกิโลเมตร
ปัจจุบัน กฟน.มีผู้ใช้ไฟฟ้า 2.97 ล้านราย แบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบออกเป็น 18 เขต และ 13 สาขาย่อย ทุกแห่งผ่านการรับรองมาตรฐานสากล (ISO 9000:2000 ) พร้อมนำระบบ e -service เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระค่าไฟฟ้ารวมถึงขอใช้ไฟฟ้าทางอินเทอร์เน็ต มีการพัฒนาศูนย์ข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า Call Center 1130 ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ เฉลี่ยเดือนละกว่า 1 แสนราย นอกจากนี้ กฟน.ยังนำระบบ CRM-CEM เข้ามาใช้โดยคำนึงถึงลูกค้าเป็นศูนย์กลางการให้บริการ พร้อมนำระบบ GIS มาใช้ในงานบริการลูกค้าเพื่อความสะดวก รวดเร็ว นอกจากนี้ กฟน.ยังได้นำระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) เข้ามาใช้ในปฏิบัติงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้ลดระยะเวลาในการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า