รู้จัก งูพิษ 7 ชนิดในประเทศไทย พบบ่อย-คนถูกกัดบ่อยที่สุด ภัยที่ต้องระวังช่วงน้ำท่วม

รู้จัก งูพิษ 7 ชนิดในประเทศไทย พบบ่อย-คนถูกกัดบ่อยที่สุด ภัยที่ต้องระวังช่วงน้ำท่วม

รู้จัก งูพิษ 7 ชนิดในประเทศไทย พบบ่อย-คนถูกกัดบ่อยที่สุด ภัยที่ต้องระวังช่วงน้ำท่วม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้จัก งูพิษ 7 ชนิดในประเทศไทย พบบ่อย-คนถูกกัดบ่อยที่สุด พิษร้ายแรงอาจถึงตายได้ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องระวังช่วงน้ำท่วม

งูพิษรุนแรงในประเทศไทย แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ งูที่มีพิษต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และ งูที่มีพิษผลต่อระบบโลหิต

  • งูที่มีพิษต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ 

พิษของงูจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเป็นอัมพาต จะเริ่มจากกล้ามเนื้อมัดเล็ก ไปจนถึง กล้ามเนื้อมัดใหญ่และสุดท้ายจะเป็นทั้งตัว อาการแรกเริ่ม คือ หนังตาตก ผู้ป่วยลืมตาไม่ขึ้น ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดๆ ว่าผู้ป่วยง่วงนอน ต่อมาจะเริ่มกลืนน้ำลายลำบาก พูดอ้อแอ้ และหยุดหายใจ เสียชีวิต

งูเห่า

งูเห่าในประเทศไทยเป็นงูที่มีพิษร้ายแรงและเป็นหนึ่งในงูที่พบได้บ่อยในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น เช่น ป่า พื้นที่การเกษตร และบางครั้งในเขตชุมชน

งูเห่าจัดเป็นงูที่อันตราย มีนิสัยดุร้าย เมื่อตกใจหรือต้องการขู่ศัตรู มักทำเสียงขู่ฟู่ ๆ โดยพ่นลมออกจากทางรูจมูก และแผ่แผ่นหนังที่อยู่หลังบริเวณคอออกเป็นแผ่นด้านข้างเรียกว่า "แม่เบี้ย" หรือ "พังพาน" ซึ่งบริเวณแม่เบี้ยนี้จะมีลวดลายเป็นดอกดวงสีขาวหรือสีเหลืองนวลเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ เช่น คล้ายตัวอักษรวีหรืออักษรยูหรือวงกลม หรือไม่มีเลยก็ได้ เรียกว่า "ดอกจัน"

มีพิษมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทที่รุนแรง และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่ถูกกัดเสียชีวิต พิษของงูเห่านับว่ามีความร้ายแรงมาก งูเห่ามีสีหลากหลาย เช่น ดำ, น้ำตาล, เขียวอมเทา เหลืองหม่น รวมทั้งสีขาวปลอดทั้งลำตัว ที่เรียกว่า งูเห่านวล หรือ งูเห่าสุพรรณ ซึ่งเป็นความหลากหลายทางสีสันของงูเห่าหม้อ (N. kaouthia) ที่เป็นงูเห่าชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย โดยที่มิใช่สัตว์เผือกด้วย 

งูเห่าเป็นงูที่มีพิษร้ายแรง มีร่องและรูทางออกของน้ำพิษทางด้านหลังของเขี้ยวพิษ เขี้ยวพิษขนาดไม่ใหญ่นักซึ่งผนึกติดแน่นกับขากรรไกรขยับไม่ได้ นอกจากเขี้ยวพิษแล้วอาจมีเขี้ยวสำรองอยู่ติด ๆ กันอีก 1-2 อัน ที่ขากรรไกรล่างไม่มีฟัน นอกจากนี้แล้วในบางชนิดยังสามารถพ่นพิษออกมาจากต่อมน้ำพิษได้อีกด้วย เรียกว่า "งูเห่าพ่นพิษ" ซึ่งหากพ่นใส่ตา จะทำให้ตาบอดได้

งูเห่างูเห่า

 

งูจงอาง

งูจงอาง (King Cobra) เป็นงูพิษที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบได้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอนุทวีปอินเดีย ภาคใต้ของไทยเรียก บองหลา มีความยาวเฉลี่ย 3-4 เมตร แต่สามารถยาวได้ถึง 5-6 เมตร งูจงอางมีพิษที่สามารถทำให้เกิดอัมพาตและเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยพิษของงูจะทำลายระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก และหยุดหายใจในที่สุด

งูจงอางมีนิสัยระมัดระวัง ไม่ก้าวร้าวต่อมนุษย์ แต่ถูกรบกวนหรือคุกคามจะตั้งตัวสู้และอ้าปากขู่ และเมื่อถูกคุกคามจะยกตัวสูงขึ้นตั้งครึ่งหนึ่งของความยาวตัวเพื่อขู่ศัตรู โดยเฉพาะช่วงฤดูผสมพันธุ์ตัวเมียจะก้าวร้าวมากขึ้นเพื่อปกป้องไข่ของมัน งูจงอางมีพฤติกรรมการฉกกัดแบบติดแน่น ไม่กัดฉกเหมือนงูเห่า จึงกัดแล้วจะย้ำเขี้ยว 

แม้ว่าจะเป็นงูที่ลำตัวยาวแต่ก็มีน้ำหนักที่เบากว่างูที่มีความยาวพอกันอย่างงูเหลือมหรืองูหลาม ทำให้งูจงอางนั้นจะมีคล่องแคล่วว่องไวทั้งบนบกและในน้ำ มีลูกตาดำและกลม หัวใหญ่กลมทู่ สามารถแผ่แม่เบี้ยได้เช่นเดียวกับงูเห่า ลำตัวเรียวยาว ว่ายน้ำเก่ง มีหลายสี ที่พบมากที่สุดคือ สีดำและเขียวอมเทา และสีนํ้าตาล ท้องมีสีเหลืองจนเกือบขาว มีสีแดงเกือบส้มที่บริเวณใต้คอ พิษของงูทำให้เหยื่อมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 75% เนื่องจากปริมาณพิษที่ฉีดออกจากเขี้ยวพิษมีมาก 

งูจงอางงูจงอาง

ไขข้อสงสัย งูเห่า-งูจงอาง ต่างกันยังไง ชนิดไหนพิษรุนแรงกว่า ถ้าต่อสู้กันใครชนะ?

งูสามเหลี่ยม

งูสามเหลี่ยม หรือที่เรียกว่า งูทับทางเหลือง (อังกฤษ: Banded krait; ชื่อวิทยาศาสตร์: Bungarus fasciatus ) ลักษณะเด่นของงูชนิดนี้คือ หัวกลม ลำตัวเรียวยาวประมาณ 1 ถึง 2 เมตร และปลายหางทู่ บางครั้งหัวอาจแบนเล็กน้อย ลำตัวมีลักษณะเป็นสันสามเหลี่ยมที่เห็นได้ชัด ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "งูสามเหลี่ยม" งูชนิดนี้เลื้อยช้า แต่มีความปราดเปรียวและว่ายน้ำได้อย่างรวดเร็ว สีลำตัวเป็นปล้องสีดำสลับเหลืองตลอดทั้งตัว และเมื่อกัดจะไม่แผ่แม่เบี้ย

ในประเทศไทย งูสามเหลี่ยมสามารถพบได้ทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคใต้ เช่น บริเวณป่าพรุโต๊ะแดง งูชนิดนี้กินอาหารจำพวกหนู, กบ, ปลา รวมถึงงูชนิดอื่นๆ เป็นอาหาร มักออกหากินในเวลากลางคืน และมักขดตัวนอนตามโคนกอไม้ไผ่ ป่าละเมาะ หรือพงหญ้าริมน้ำ งูสามเหลี่ยมเป็นงูที่ไม่ดุร้ายและไม่ฉกกัด นอกจากจะถูกรบกวนหรือมีการเหยียบโดน ขณะที่มันกำลังไล่จับเหยื่อ

งูชนิดนี้มีพิษที่ทำลายระบบประสาท เมื่อถูกกัด อาจมีอาการชัก ปวดท้อง มีเลือดออกเป็นจุดใต้ผิวหนัง มีเลือดออกตามไรฟัน และอาจไอเป็นเลือด

งูสามเหลี่ยมThai National Parksงูสามเหลี่ยม

 

งูทับสมิงคลา 

งูทับสมิงคลา หรือ งูทับทางขาว (Malayan Krait หรือ Bungarus candidus) มีขนาดเล็กที่สุดในสกุลงูสามเหลี่ยม ลำตัวไม่เป็นสามเหลี่ยมชัดเจน ตามตัวเป็นปล้องดำสลับขาว เป็นงูพิษอันตรายที่พบได้ในประเทศไทย พิษออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทเป็นหลัก ลักษณะมีลายสีขาวสลับกับสีดำ ในบางตัวเกล็ดสีขาวมีสีดำแซม

งูทับสมิงคลาเต็มวัย ความยาวเฉลี่ย 1 - 1.5 เมตร บางตัวมีสีขาวอมเหลืองอ่อนๆ สลับกับสีดำ ท้องมีสีขาว ลายสีดำจะไม่คาดถึงท้องแบบงูสามเหลี่ยม เกล็ดกลางสันหลังเป็นเกล็ดขนาดใหญ่ลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยม 

งูทับสมิงคลาThai National Parksงูทับสมิงคลา

แยกยังไง? งูทับสมิงคลา-งูปล้องฉนวน แฝดคนละฝา ตัวนึงมีพิษรุนแรง อีกตัวไม่มีพิษเลย

  • งูที่มีพิษผลต่อระบบโลหิต

งูที่มีพิษต่อระบบเลือด พิษของงูจะไปทำให้เลือดในร่างกายไม่แข็งตัว เลือดออกไม่หยุด เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในสมอง ปัสสาวะมีเลือดปน เลือดออกตามไรฟัน  สังเกตได้ว่างูพิษระบบเลือดจะมีส่วนแก้มที่ป่องออกเนื่องจากมีต่อมพิษอยู่ ทำให้ส่วนหัวดูใหญ่เมื่อเทียบกับลำคอ มีลักษณะคล้ายหัวลูกศร

งูกะปะ 

งูกะปะ (Malayan pit viper) เป็นงูพิษที่มีอันตรายต่อระบบเลือด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Calloselasma rhodostoma ซึ่งเป็นงูเพียงชนิดเดียวในสกุล Calloselasma โดยไม่มีชนิดย่อย จัดอยู่ในวงศ์งูแมวเซา (Viperidae)

งูกะปะมีหัวเป็นรูปสามเหลี่ยม คอเล็ก ลำตัวอ้วน และหางสั้น มีลายด้านข้างลำตัวคล้ายหลังคาบ้าน สีลำตัวเป็นสีเทาอมชมพูมีลายสีน้ำตาลเข้ม เกล็ดมีขนาดใหญ่ และมีจมูกงอนขึ้นข้างบน งูชนิดนี้ออกหากินในช่วงพลบค่ำและกลางคืน โดยเฉพาะช่วงที่มีความชื้นสูง เช่น หลังฝนตก มักอาศัยในพื้นที่ดินทรายที่มีใบไม้หรือเศษซากไม้เพื่อการซ่อนตัว สีสันและลวดลายของมันทำให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้ดี แม้จะไม่ปราดเปรียว แต่เมื่อฉกกัดจะทำได้อย่างรวดเร็ว ในตัวที่มีสีคล้ำ เรียกว่า "งูปะบุก"

งูกะปะกระจายพันธุ์อยู่ในภูมิภาคอินโดจีนไปจนถึงแหลมมลายู ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค แต่พบมากที่สุดในภาคใต้ งูชนิดนี้ปรับตัวให้สามารถอยู่ในพื้นที่ทำการเกษตร เช่น สวนยางพาราหรือสวนปาล์มน้ำมัน จึงมีรายงานผู้ถูกงูกะปะกัดอยู่บ่อยครั้ง นับเป็นงูที่มีอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุดในประเทศไทย พิษของงูกะปะส่งผลต่อระบบเลือด ทำให้เลือดออกผิดปกติ ภายใน 10 นาทีหลังถูกกัด บริเวณรอบแผลจะบวมขึ้นอย่างรวดเร็วจนแขนหรือขาทั้งข้างบวมภายใน 1 ชั่วโมง เลือดจะไหลจากรอยเขี้ยวอย่างต่อเนื่อง และบริเวณที่บวมจะมีสีเขียวคล้ำ ผิวหนังจะพองขึ้นและมีเลือดปนออกมา ในไม่กี่วันหลังจากถูกกัด บริเวณแผลจะเน่าและมีกลิ่นเหม็น ผู้ถูกกัดอาจเสียชีวิตจากความดันโลหิตต่ำที่เกิดจากการเสียเลือด จัดเป็น 1 ใน 7 งูพิษที่มีความสำคัญทางการแพทย์และพิษวิทยา

งูกะปะThai National Parksงูกะปะ

งูแมวเซา 

งูแมวเซา (Daboia siamensis) เป็นงูพิษที่มีพิษร้ายแรงต่อระบบเลือด มีรูปร่างอ้วนป้อม ลำตัวและหางสั้น เมื่อถูกรบกวนจะขดตัวและส่งเสียงขู่คล้ายแมวหรือเสียงยางรั่ว โดยสูบลมเข้าลำตัวจนพองแล้วพ่นลมออกทางรูจมูก เป็นงูที่สามารถฉกกัดได้อย่างรวดเร็วแม้จะอยู่ในท่าขดตัว ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนอมเทา มีลายวงกลมสีน้ำตาลเข้มตลอดทั้งตัว หัวมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมและมีลายดำคล้ายลูกธนู เกล็ดเล็กละเอียดและมีสัน เขี้ยวพิษยาว สามารถเติบโตได้ถึง 120–166 เซนติเมตร

งูชนิดนี้ชอบอาศัยในที่ราบแห้ง ๆ เชิงเขา ดินปนทราย หรือในโพรงดินและซอกหิน มักไม่ย้ายถิ่นที่อยู่บ่อย ๆ ออกหากินในเวลากลางคืน โดยเฉพาะสัตว์ขนาดเล็กเช่น หนูหรือสัตว์เลื้อยคลาน งูแมวเซาออกลูกเป็นตัว ครั้งละ 20–30 ตัว และผสมพันธุ์ช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ก่อนจะออกลูกในช่วงฤดูร้อน

พิษของงูแมวเซามีผลต่อการแข็งตัวของเลือด โดยไปกระตุ้นการสลายไฟบริโนเจน ซึ่งทำให้เลือดออกง่าย พิษยังทำลายไตและเซลล์เม็ดเลือดแดงโดยตรง เมื่อถูกกัด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและบวมอย่างรวดเร็ว บริเวณรอยเขี้ยวจะมีเลือดไหลและเกิดอาการบวมภายใน 15–20 นาที ซึ่งสามารถขยายไปทั่วบริเวณในเวลา 12–24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีอาการเลือดออกในร่างกาย ไอมีเลือดปน ถ่ายอุจจาระสีดำ ปัสสาวะเป็นเลือด และอาจเสียชีวิตจากความดันโลหิตต่ำและไตวายเฉียบพลันร่วมด้วย

งูแมวเซางูไทย ใจกล้างูแมวเซา

งูเขียวหางไหม้ 

งูเขียวหางไหม้ เป็นงูในสกุล Trimeresurus วงศ์งูแมวเซา (Viperidae) ซึ่งมีรูปร่างโดดเด่น หัวยาวใหญ่เป็นรูปสามเหลี่ยม คอเล็ก ลำตัวอ้วนสั้น และปลายหางมีสีแดงสดหรือแดงคล้ำใกล้เป็นสีน้ำตาล ทำให้ได้ชื่อว่า "หางไหม้" ลำตัวมีสีเขียวอมเหลืองสด บางตัวอาจมีสีเขียวอมน้ำเงิน ผู้ที่ถูกกัดจะมีอาการปวดทันที จากนั้นบวมอย่างรวดเร็วใน 3-4 วันแรก และยุบบวมใน 5-7 วัน อาจมีเลือดออกเล็กน้อยจากรอยเขี้ยว หากมีอาการแทรกซ้อนถือว่าเป็นอาการหนัก

งูเขียวหางไหม้มีนิสัยดุ มักฉกกัดเมื่อถูกรบกวน ชอบอาศัยตามกองไม้ กระถางต้นไม้ หรือกอหญ้า ออกหากินตอนกลางคืน ทั้งบนต้นไม้และพื้นดิน กินนก จิ้งจก ตุ๊กแก สัตว์ฟันแทะ และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกเป็นอาหาร เมื่องูนอนบนกิ่งไม้จะใช้ลำตัวและหางรัดพันยึดกิ่งไม้แน่น งูชนิดนี้ออกลูกเป็นตัวครั้งละ 8-12 ตัว แต่บางชนิดอาจออกลูกเป็นไข่

งูเขียวหางไหม้พบได้ทั่วภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก ในประเทศไทยพบได้ชุกชุมในภาคกลาง เขตกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล และภาคตะวันออก เช่น งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง (T. trigonocephalus), งูเขียวหางไหม้ลายเสือ (T. purpureomaculatus), งูหางแฮ่มกาญจน์ (T. kanburiensis), และงูปาล์ม (T. puniceus) นอกจากนี้ยังมีงูเขียวหางไหม้ภูเก็ต (T. phuketensis) ที่เพิ่งค้นพบใหม่ในป่าดิบชื้น จังหวัดภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ. 2552 

งูเขียวหางไหม้ท้องเหลืองThai National Parksงูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง

รู้จัก 5 งูเขียวไม่อันตราย คนเข้าใจผิดว่ามีพิษ แยกดีๆ เขียวไหน อย่าทำร้ายน้อง

การปฐมพยาบาล

ถ้าถูกงูกัดอย่าเพิ่งตกใจ ให้ตั้งสติให้มั่น ดูลักษณะของงูหรือถ่ายรูปงูถ้าทำได้ และร้องขอความช่วยเหลือ ไม่แนะนำให้ขันชะเนาะ (Tourniquet) เพราะ ไม่สามารถป้องกันการดูดซึมพิษงูได้ และ ถ้ารัดแน่นเกินไปอาจทำให้เกิดเนื้อเน่าตายได้ แต่ควรรีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด และขยับส่วนที่ถูกกัดให้น้อยเฉพาะเท่าที่จำเป็น เพื่อลดการดูดซึมพิษงู

ถ้าถูกงูเห่าพ่นพิษเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก

ผู้ป่วยที่ถูกงูระบบประสาทกัด อาจเป็นอัมพาตทั่วตัวคล้ายกับเสียชีวิตแล้ว ไม่ควรหยุดการช่วยเหลือ ให้รีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อช่วยการหายใจโดยเร็วที่สุด

การรักษา

แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย และตรวจเลือด บางรายยังไม่มีอาการของพิษเมื่อมาถึงโรงพยาบาลจึงต้องสังเกตอาการต่อจนกว่าจะพ้นระยะอันตราย การให้เซรุ่มต้านพิษงูมีประโยชน์แต่ก็ความเสี่ยงต่อการแพ้ และบางครั้งงูพิษกัดแต่ไม่ปล่อยพิษทำให้ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ แม้จะถูกงูพิษกัด แพทย์จึงเลือกให้เซรุ่มเฉพาะรายตามความเหมาะสมโดยไม่จำเป็นต้องให้เซรุ่มทุกราย เซรุ่มต้านพิษงูจะช่วยเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรง และเลือดออก ให้ดีขึ้นได้ แม้ผู้ป่วยจะได้เซรุ่มแล้วบางรายยังอาจเกิดเนื้อเน่าตาย หรือ ไตวาย ต่อมาภายหลังได้ จึงอาจต้องอาศัยการรักษาอื่นๆร่วมด้วย เช่น การผ่าตัดตัดเนื้อตายออก การให้สารน้ำหรือการล้างไต เพื่อป้องกันและรักษาภาวะไตวาย เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook