รู้จัก "ปอบตาพวง" ธี่หยด 2 ปอบตัวแรกที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ ตำนานแห่งอุตรดิตถ์
เปิดตำนาน "ปอบตาพวง" ตำนานของอุตรดิตถ์ ปอบตัวแรกที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่ ร.ศ.111
เรื่องราวของ ปอบตาพวง เป็นเรื่องเล่าที่ถูกบันทึกในหนังสือ “วชิรญาณวิเศษ” เป็นหนังสือชุดซึ่งพิมพ์ระหว่างปี 2427 ถึง 2448 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เผยแพร่ในนามหอพระสมุดวชิรญาณ เนื้อหาของหนังสือชุดนี้จะเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนา วรรณคดี ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ พระราชพิธี การต่างประเทศ การท่องเที่ยว สุภาษิต คำสอน และตำราวิชาการด้านต่าง ๆ
โดยบันทึกของปอบตาพวง เกิดขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน ร.ศ.111 หรือช่วงปี พ.ศ. 2435 ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ในวชิรญาณ เล่มที่แปด แผ่นที่สิบ ใช้ชื่อเรื่องว่า “อำนาจผีปอบ” ถือเป็นปอบตัวแรกที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของไทย
เป็นเรื่องราวของชายต่างถิ่น นามว่า “ตาพวง” จากคำบอกเล่าน่าจะเป็นชาวลาว ที่ล่องแพมาขึ้นที่ท่าเรือวัดปากฝาง แขวงเมืองอุตรดิตถ์ เมื่อเจ้าอาวาสวัดเห็นตาพวงไม่มีที่อยู่อาศัยจึงอนุญาติให้ใช้พื้นที่ว่างบริเวณวัด ปลูกกระท่อมอยู่อาศัย ในเอกสารบรรยายรูปลักษณ์ของ "ตาพวง" ไว้ว่า
"ผมหงอกขาวทั้งศีรษะ รูปร่างแหละผิวเนื้อเกลี้ยงเกลาผิดกว่าปรกติลาวโดยมาก ใครได้เห็นแกแม้แต่หนเดียว ถึงจะไปเจอที่ไหนอีก ก็เปนต้องจำได้ ทั้งท่วงทีก็กล้าหาญ"
เวลาต่อมาคนแถวนั้นล้มป่วยขึ้นมาอย่างไม่ทราบสาเหตุไล่ๆ กัน 3 คน อาการแน่นิ่งเซื่องซึม จนต้องพึ่งพาหมอผี ก่อนจะถูกระบุสาเหตุว่าเกิดจาก “ปอบเข้า” ด้วยความที่ตาพวงเป็นคนต่างถิ่น เก็บเนื้อเก็บตัวไม่สุงสิงกับใคร เลยถูกมองว่าเป็นผีปอบ ทำให้ชาวบ้านเชื่อกันสุดใจ พากันรวมตัวไปเผากระท่อมขับไล่ตาพวงช่วงกลางวันแสก ๆ โดยมีพระสงฆ์ร่วมเผาด้วย
คืนก่อนที่จะพาตาพวงไปสืบสวนที่เมืองลับแล ตาพวงหายตัวออกจากเมืองอุตรดิตถ์ ระหกระเหเร่รอนไปไหนก็ไม่มีใครทราบได้ และข้อเท็จจริงว่าตาพวงเป็น ผีปอบ ตามคำกล่าวหาของชาวบ้านจริงหรือไม่ ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
ทางมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ อธิบายว่า ความเชื่อเรื่องปอบนั้นเป็นกลไกการสร้างความเชื่อของคนในชุมชน เนื่องจากไม่วางใจบุคคลแปลกหน้าหรือแม้แต่กระทั่งคนในชุมชนเดียวกันเอง ที่มีพฤติกรรมแปลกออกไป ซึ่งในสมัยโบราณ บุคคลที่โดนกล่าวหาว่าเป็น ปอบ จะถึงกับถูกขับไล่ให้ออกจากชุมชนที่อยู่อาศัย