เปิดภาพสัตว์ปริศนา ไม่ใช่กล้วยตาก แต่เป็น "ตัวกล้วยตาก" พบเพิ่มอีก 2 ชนิดในไทย
เปิดเผยภาพสัตว์ปริศนา ไม่ใช่กล้วยตากที่กินได้ แต่เป็น "ตัวกล้วยตาก" หรือ "ทากเปลือยบก" พบเพิ่มอีก 2 ชนิดที่ประเทศไทย
เฟซบุ๊ก Animal Systematics Research Unit, CU ของหน่วยปฏิบัติการซิสเทมาติคส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการโพสต์ถึงงานวิจัยใหม่ ตัวกล้วยตากชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด มีรายละเอียดดังนี้
ตัวกล้วยตาก หรือ ทากเปลือยบก (land slug) เป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มหอยฝาเดียว แต่ร่างกายมีการลดรูปเปลือกไปจนหมด ไม่หลงเหลือเปลือกให้เห็นอีกเลย สัตว์กลุ่มนี้มีชื่อเรียกที่แตกต่างในหลายภาคของประเทศไทย เช่น คนในภาคอีสานเรียกว่าแมงลิ้นหมาหรือตัวลิ้นหมา คนในภาคเหนือเรียกว่าขี้ตืกฟ้า คนในภาคใต้เรียกว่าทากฟ้า และคนในภาคกลางเรียกว่าตัวกล้วยตากหรือทากดิน มักพบอาศัยตามกองใบไม้ผุพัง ใต้ขอนไม้ หรือบริเวณที่มีวัตถุปิดคลุมหน้าดิน ทั้งในแหล่งธรรมชาติและแหล่งที่ถูกรบกวนโดยมนุษย์
คณะนักวิจัยนำโดยนางสาวบวรลักษณ์ มิตรเชื้อชาติ นิสิตระดับปริญญาเอกภายใต้การดูแลของ ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหา หน่วยปฏิบัติการซิสเทแมติกส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาตัวกล้วยตากในสกุล Valiguna crispa ทั้งหมดในประเทศไทย
โดยปัจจุบันได้รายงานทั้งหมด 3 ชนิด มีชนิด Valiguna siamensis (Martens, 1867) หรือตัวกล้วยตากสยาม มีการกระจายทั่วประเทศไทย รวมถึงในประเทศเมียนมาและลาว
Facebook / Animal Systematics Research Unit, CU
นอกจากนี้ เนื่องจากหน้าตาภายนอกของตัวกล้วยตากมีความคล้ายคลึงกันมาก จึงต้องอาศัยข้อมูลอวัยวะภายในและแผนภูมิต้นไม้เชิงวิวัฒนาการจากข้อมูลดีเอ็นเอในการแยกชนิด ทำให้ค้นพบตัวกล้วยตากชนิดใหม่อีก 2 ชนิด ดังนี้
1. Valiguna semicerina Mitchueachart & Panha, 2024 ตัวกล้วยตากหลังเกลี้ยง พบได้ที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย และยังพบได้ในประเทศกัมพูชาและเมียนมา
2. Valiguna crispa Mitchueachart & Panha, 2024 ตัวกล้วยตากถ้ำขมิ้น พบได้แค่ที่ถ้ำขมิ้น จ.สุราษฎร์ธานี
Facebook / Animal Systematics Research Unit, CU
งานวิจัยนี้ได้เพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับทากเปลือยบกในวงศ์ Veronicellidae โดยชี้ให้เห็นว่ายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหลากหลายทางสัณฐานวิทยาและพันธุกรรมของทากเปลือยบกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ได้รายชื่อชนิดที่ครอบคลุมใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพต่อไปได้ในอนาคต