รฟท.แจงคำสั่งศาลปกครองสูงสุดยังไม่ชี้ขาดเรื่องค่าธรรมเนียม

รฟท.แจงคำสั่งศาลปกครองสูงสุดยังไม่ชี้ขาดเรื่องค่าธรรมเนียม

รฟท.แจงคำสั่งศาลปกครองสูงสุดยังไม่ชี้ขาดเรื่องค่าธรรมเนียม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข้อพิพาทโฮปเวลล์ กระทรวงคมนาคม และรฟท. ที่ศาลให้รฟท.ชดเชยเงินคืนค่าเลิกสัญญาและค่าลงทุนให้กับโฮปเวลล์เกือบ 1.2 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างไต่สวน ยังไม่มีวินิจฉัยเรื่องค่าธรรมเนียม

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าข้อพิพาทระหว่างบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศ) จำกัด กับกระทรวงคมนาคม และ รฟท. โดยยืนยันว่า ศาลปกครองสูงสุดยังไม่ได้มีคำสั่งชี้ขาดคำร้องที่กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ยื่นคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ต่อศาลปกครอง ตามที่อนุญาโตตุลาการตัดสินให้ รฟท.ต้องชดเชยเงินคืนค่าเลิกสัญญาและค่าลงทุนก่อสร้างคืนแก่โฮปเวลล์ จำนวนเงินเกือบ 12,000 ล้านบาท เมื่อปี 2551 โดยคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดวันนี้เป็นเพียงประเด็นเรื่องของค่าธรรมเนียมวางศาลในคดีดังกล่าว วงเงิน 12,388,749 ล้านบาท ซึ่ง รฟท.เคยยื่นคัดค้านเรื่องค่าธรรมเนียมวางศาล โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยังไม่วินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าธรรมเนียม จนกว่าคดีข้อพิพาท ระหว่างโฮปเวลล์และกระทรวงคมนาคมกับ รฟท.จะได้ข้อยุติ โดยระหว่างนี้ คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างไต่สวน จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นเรื่องค่าธรรมเนียมวางศาล อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมจำนวนดังกล่าว รฟท.ได้นำไปวางศาลไว้แล้ว ตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น

ส่วนประเด็นในการต่อสู้คดีนั้น รฟท.ก็จะเดินหน้าต่อสู้คดีต่อไป ในประเด็นเรื่องความถูกต้องของการตัดสินของอนุญาโตตุลาการต่อไป ซึ่งเชื่อว่าคดีจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีข้อพิพาทระหว่าง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) กับกระทรวงคมนาคมและ รฟท. มาจากการยกเลิกสัญญาโครงการก่อสร้างลงทุนกิจการเดินรถไฟชุมชน และระบบการขนส่งทางถนน โดยเก็บค่าผ่านทางบนที่ของการรถไฟฯ หรือโครงการโฮปเวลล์ ตามที่โฮปเวลล์ได้เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับ รฟท.ในโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2533 ต่อมามีการทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2534 สัญญาสัมปทานกำหนดให้บริษัท โฮปเวลล์ ชำระค่าตอบแทนเป็นค่าใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟฯ และให้เป็นผู้ดำเนินการจัดหาเงินลงทุนออกแบบก่อสร้างประกอบการ และบำรุงรักษาระบบดังกล่าวเองตลอดอายุสัมปทานซึ่งมีกำหนดเวลา 30 ปี นับแต่วันที่สัญญามีผลบังคับใช้ คือวันที่ 6 ธ.ค.2534

ภายหลังสัญญามีผลบังคับใช้ บริษัทโฮปเวลล์ ได้ปฏิบัติตามสัญญา โดยชำระค่าตอบแทนตามสัญญาให้แก่การรถไฟฯ ซึ่งคิดถึงวันเสนอข้อพิพาทเป็นเงินทั้งสิ้น 2,850 ล้านบาท และยังส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หมายเลข 10/34/51881 ลงวันที่ 6 ธ.ค.2534 จำนวน 500 ล้านบาทให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองเพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญา บริษัทโฮปเวลล์เข้าดำเนินการก่อสร้างและเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

ต่อมาวันที่ 27 ม.ค.2541 กระทรวงคมนาคม และ รฟท.มีหนังสือบอกเลิกสัญญาสัมปทาน และห้ามมิให้บริษัท โฮปเวลล์เข้าไปดำเนินการก่อสร้างใด ๆ ในพื้นที่สัมปทานอีกต่อไป รวมทั้งริบเงินค่าตอบแทนสัญญาที่บริษัท โฮปเวลล์จ่ายให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองไว้ทั้งหมดจำนวน 2,850 ล้านบาท และริบหลักประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยโฮปเวลล์ได้โต้แย้งการบอกเลิกสัญญา พร้อมยื่นคำเสนอข้อพิพาทเพื่อเรียกร้องให้ต่างฝ่ายต่างได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม อันเนื่องมาจากการเลิกสัญญา ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ชำระเงินค่าตอบแทนที่บริษัทชำระไปตามสัญญาสัมปทาน จำนวน 2,850 ล้านบาท คืนให้แก่บริษัท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่การรถไฟฯ ได้รับเงินดังกล่าวในแต่ละงวดจากบริษัท คิดถึงวันที่ 24 พ.ย.2547 เป็นดอกเบี้ยทั้งสิ้น 2,293,510,274 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยคิดถึงวันเสนอข้อพิพาท 5,143,510,274 บาท รวมทั้งส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หมายเลข 10/34/51881 ลงวันที่ 6 ธ.ค.2534 จำนวน 500 ล้านบาท คืนแก่บริษัท ให้ชดใช้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าว เป็นเงินจำนวน 38,125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมแต่ละงวดให้แก่ธนาคารกรุงเทพ คิดถึงวันที่ 24 พ.ย.2547 เป็นดอกเบี้ยจำนวน 14,496,081 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 52,621,081 บาท และให้ชดใช้เงินลงทุนและชดใช้ค่าการงานที่บริษัทกระทำลงไปในการปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัท จำนวน 14,818,176,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นลงทุน และค่าใช้จ่ายดังกล่าว นับแต่วันที่มีการลงทุน และหรือเกิดบรรดาค่าใช้จ่ายดังกล่าว คิดถึงวันที่ 24 พ.ย.2547 เป็นดอกเบี้ยรวมจำนวน 8,320,353,120 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 23,138,530,070 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ให้แก่บริษัทโฮปเวลล์ เป็นเงินทั้งสิ้น 28,334,661,425 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 17,706,301,950 บาท นับจากวัดถัดจากวันเสนอข้อพิพาท (24 พ.ย.2547) เป็นต้นไป จนกว่าจะร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินดังกล่าวให้กับบริษัทโฮปเวลล์แล้วเสร็จ

ต่อมา กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ได้ยื่นคำคัดค้านคำเสนอข้อพิพาทและคำคัดค้านเพิ่มเติมว่า คำเสนอข้อพิพาทของบริษัทโฮปเวลล์ขาดอายุความ เนื่องจากพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 51 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ เนื่องจากสัญญาได้เลิกกันแล้ว จึงไม่ต้องระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ และผู้คัดค้านทั้งสองได้เลิกสัญญาสัมปทานตามกระบวนของกฎหมาย เนื่องจากบริษัทไม่ทำการสำรวจ ออกแบบ ก่อสร้าง ระบบการขนส่งทางรถไฟ และถนนยกระดับภายในระยะเวลาอันควร หรือตามแผนการดำเนินงานจนเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านมีเหตุอันควรเชื่อว่าบริษัทจะไม่สามารถก่อสร้างระบบฯ ให้เสร็จภายในกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญานี้ได้

ข้อเรียกร้องของบริษัทจึงเป็นกรณีที่มิใช่ข้อพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับสัญญาสัมปทาน แต่เป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตามกระบวนการของกฎหมาย จึงไม่อาจดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ตามสัญญาสัมปทานข้อ 31 ได้ อีกทั้งบริษัทไม่มีสิทธิ์เรียกค่าเสียหายจากผู้คัดค้านทั้งสองได้ เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาสัมปทานข้อ 28 ก่อน รวมทั้งไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินที่นำมาใช้ในการก่อสร้างในพื้นที่สัมปทาน และผู้คัดค้านทั้งสองไม่ต้องชดใช้ค่าก่อสร้างให้แก่บริษัทโฮปเวลล์เพื่อกลับคืนสู่สถานะเดิม

พร้อมระบุว่า ไม่ใช่ความผิดของผู้คัดค้านทั้งสอง เมื่อบริษัทดำเนินการล่าช้าและพยายามเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงของการเจรจา จนเป็นที่คาดหมายได้ว่าบริษัทไม่สามารถจะดำเนินการตามแผนงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาได้ ผู้คัดค้านทั้งสองจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาตามกระบวนการของกฎหมาย โดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา ขอให้ยกคำเสนอข้อพิพาท ให้บริษัทรับผิดชอบจ่ายค่าป่วยการให้แก่อนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาด และจำนวนเงินค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการตัดสินชี้ขาดชั้นอนุญาโตตุลาการทั้งหมด

คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาคำเสนอข้อพิพาทและคำคัดค้านแล้ว และวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกัน หรือแทนกันคืนเงินค่าตอบแทนที่ผู้เรียกร้องชำระให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง จำนวน 2,850 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ได้รับเงินในแต่ละงวดจากผู้เรียกร้อง จนกว่าจะชำระสำเร็จ ให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หมายเลข 10/34/51881 ให้แก่ผู้เรียกร้อง

ให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันคิดถึงวันเสนอข้อพิพาท จำนวน 38,749,800 บาทให้แก่ผู้เรียกร้อง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ผู้เรียกร้องได้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมในแต่ละงวดให้แก่ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ ดอกเบี้ยต้องคิดไม่เกิน 5 ปี ในแต่ละงวดที่ผู้เรียกร้องชำระให้แก่ธนาคาร รวมทั้งให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินในการก่อสร้างโครงการ จำนวน 9,000 ล้านบาท แก่บริษัทโฮปเวลล์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 9,000 ล้านบาท นับแต่วันชี้ขาดจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยต่อมา กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ และคดียังอยู่ระหว่างไต่สวนในขณะนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook