ป.ป.ช.เผย 4 รมต. "มาร์ค 1" มีสิทธิตกเก้าอี้ พัวพันพระวิหาร

ป.ป.ช.เผย 4 รมต. "มาร์ค 1" มีสิทธิตกเก้าอี้ พัวพันพระวิหาร

ป.ป.ช.เผย 4 รมต. "มาร์ค 1" มีสิทธิตกเก้าอี้ พัวพันพระวิหาร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
4 รมต. "มาร์ค 1" มีสิทธิตกเก้าอี้ ป.ป.ช.เร่งสางพระวิหาร หากถูกชี้มูลความผิด ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที เผยคดี จักรภพ - เสนาะ ชัดเจนปีนี้ เล็งสอบปากคำคดี 7 ต.ค. เสร็จต้นเดือน ก.พ. รับเจอโรคเลื่อนบ่อย เหตุผู้น้อยเกรงใจไม่กล้าซัดทอด "นาย" ปัดช่วยเหลือ ประชาธิปัตย์ นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 มกราคม ถึงการทำงานของ ป.ป.ช.ในปีที่ผ่านมาว่า พอใจในระดับหนึ่ง แม้หลายคนรู้สึกว่าการทำงานของ ป.ป.ช.ล่าช้า ไม่ยุติธรรม แต่ได้มีการปรับรูปแบบการทำงานใหม่ที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 มกราคมนี้ โดยจะต้องมีกรอบระยะเวลาในการทำคดี กำหนดเป็นตารางและมีรายงานความคืบหน้าที่ชัดเจน เช่น คดีทั่วไปจะเสร็จภายในเวลา 6 เดือน คดีซับซ้อน 8 เดือน โดยจะทำงานเร่งในปีหน้า ซึ่งจะมีการเพิ่มบุคลากรจาก 500 คน เป็น 800 คนด้วย อย่างไรก็ตาม การชี้ขาดบางคดีอาจไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ดังนั้น จึงอยากให้ใช้ความอดทนที่จะต้องรอฟังศาลหรืออัยการเป็นผู้ตัดสินในขั้นสุดท้าย และอย่าคิดว่าทุกอย่างจะจบที่ ป.ป.ช. นายวิชา กล่าวว่า สำหรับแผนงานปี 2552 จะมีความชัดเจนคดีการทุจริตกรณีการจัดงานพืชสวนโลกที่ได้รวบรวมข้อมูลเสร็จแล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องถอดถอนนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เข้าไปเกี่ยวพันในสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวน เช่น รายการความจริงวันนี้ ที่สอบอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ คดีสนามกอล์ฟอัลไพน์ ที่เกี่ยวข้องกับนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช และข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพียงแต่ต้องสอบเพิ่มเติมให้เกิดความชัดเจน "ป.ป.ช.ไม่ได้เลือกปฏิบัติกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา กับรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ แต่ถือเป็นความบังเอิญในการตรวจสอบที่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก พรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกตรวจสอบเช่นกัน ป.ป.ช.ไม่ได้ทำข้างเดียว" นายวิชา กล่าว นายวิชา กล่าว่า คดีที่เกี่ยวพันกับฝ่ายการเมืองที่น่าจะมีความคืบหน้ามากที่สุด และน่าจะเดินหน้าต่อไปได้ คือคดีปราสาทพระวิหาร ที่ 28 อดีตรัฐมนตรีถูกกล่าวหาเรื่องมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เนื่องจาก ป.ป.ช.ได้ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีทั้งคณะที่ถูกกล่าวหา แก้ข้อกล่าวหามาก่อนสิ้นปี 2551 แล้ว นายวิชากล่าวว่า เข้าใจว่านางสมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช.ที่รับผิดชอบคดีดังกล่าว จะรวบข้อมูลพยานหลักฐานได้แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ส่งรายละเอียดมายัง ป.ป.ช.ชุดใหญ่ คงต้องรออีกเล็กน้อย ก่อนที่ที่ประชุม ป.ป.ช.จะมาฟังและร่วมประเมิน ว่าพยานหลักฐานที่รวบรวมได้เพียงพอไหม "ส่วนคดีสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม จะมีการไต่สวนอย่างต่อเนื่อง โดยในต้นเดือนมกราคมนี้ ได้นัดพยานไว้หลายปาก คงจะได้เรียกพยานมาให้ถ้อยคำ ซึ่งเราพยายามเชิญคนที่เกี่ยวข้อง และมีส่วนรู้เห็น หรือคนที่เราคิดว่า น่าจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้มาให้ถ้อยคำ ซึ่งเชิญไปหลายคน ก็จะพยายามที่จะให้รู้ผลว่า เราควรจะต้องแจ้งข้อกล่าวหากับใครหรือไม่ คาดว่ากระบวนการให้ถ้อยคำน่าจะแล้วเสร็จในปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อให้ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาได้ทราบและมาชี้แจงข้อกล่าวหาได้" นายวิชา กล่าว นายวิชา กล่าวว่า ป.ป.ช.ได้รายละเอียดของคดีส่วนหนึ่งแล้วจากผลสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แต่เป็นส่วนที่ ป.ป.ช.ต้องเชิญมาสอบเพิ่มเติมอีก เพราะที่มีการให้ถ้อยคำไว้กับ กสม.เป็นแง่ของการบอกเล่า ไม่ใช่ระบบการไต่สวนตามหลัก ป.ป.ช. จึงต้องมายืนยันข้อมูลบางส่วน นายวิชา กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการกับฝ่ายการเมือง คงสุดแล้วแต่ว่าฝ่ายการเมืองจะมาให้ถ้อยคำหรือไม่ ถือเป็นสิทธิ แต่ ป.ป.ช.ก็มีเกณฑ์ที่จะเชิญมาในบางคนที่เห็นว่าสมควรมาให้ถ้อยคำ ก็พยายามติดต่อไป เพราะมีหลายประเด็นที่สงสัยอยู่ เพราะ ป.ป.ช.เป็นองค์กรที่จะต้องส่งต่อข้อมูลฟ้องร้องต่อศาล ข้อมูลจึงต้องครบถ้วนรัดกุม ไม่สามารถทำแบบบันทึกไว้เฉยๆ ได้ "พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. ถือเป็นผู้ที่ถูกร้องและกล่าวหา เราจึงต้องยึดโยงรอพยานหลักฐานให้ชัดเจนบ่งชัด ก่อนที่ตัดสินใจว่าสมควรเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาหรือไม่ ส่วน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯในขณะนั้น แม้ไม่ได้ถูกกล่าวหา แต่มีพยานพาดพิงถึง ป.ป.ช.คงจะเรียกมาให้ถ้อยคำด้วย สำหรับนายสมชายนั้น ถูกกล่าวหาด้วยเช่นกัน แต่ทุกอย่างต้องดำเนินการโดยรอบคอบครบถ้วน ก่อนจะตัดสินใจชี้มูลความผิด เพราะถ้าพยานหลักฐานยังไม่ครบถ้วน แล้วไปเร่งร้อนสอบและพยายามตั้งข้อกล่าวหา เมื่อไปถึงอัยการแล้วตีตก ศาลไม่รับแล้วจะยุ่ง" นายวิชา กล่าว กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า หากมีการชี้มูลความผิด สำหรับข้าราชการปฏิบัติก็ดำเนินการได้ทันที ส่วนฝ่ายการเมืองที่พ้นตำแหน่งไปแล้วก็ไม่มีปัญหา สามารถดำเนินการทางอาญาได้ด้วยการฟ้องทางอาญา เหมือนกับที่ผ่านมา ที่ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการฟ้องอาญาไปแล้วหลายคน อาทิ นายวัฒนา อัศวเหม นายรักเกียรติ สุขธนะ หรือแม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แม้พ้นตำแหน่งไปแล้วก็ยังโดน นายวิชา กล่าวว่า ยอมรับว่ามีอุปสรรคเกี่ยวกับการเชิญพยานบุคคลมาให้ถ้อยคำ ที่มักจะมีการเลื่อนตลอด เพราะคดีที่เกี่ยวกับตัวผู้บังคับบัญชาที่ถูกกล่าวหา ลูกน้องที่ต้องมาให้ถ้อยคำก็รู้สึกเกรงใจ รู้สึกถูกบีบบังคับ ที่ผ่านมา ป.ป.ช.เจอมาเยอะ แต่ก็พยายามดำเนินการในลักษณะของการขอความร่วมมือก่อน ถ้าขอไม่ได้ ถึงจะใช้วิธีการบังคับ และถ้าไม่มาชี้แจงถือว่าผิดกฎหมาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับชื่อรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสมชาย ที่ถูกกล่าวหาคดีปราสาทพระวิหาร และยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด อาจต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 55 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. และมาตรา 271-274 ของรัฐธรมนูญ 2550 ได้แก่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร.ต. (หญิง) ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ หรือไอซีที และ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook