สตง.วุ่น คุณหญิงจารุวรรณ-พิศิษฐ์ ต่างอ้างยังมีอำนาจ
คุณหญิงจารุวรรณ บุกขอชี้แจงกลางวง เถียงกลางห้องแถลงข่าวต่อหน้าสื่อ
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แถลงว่า ในช่วงวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้นำเรื่องกรณีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.ได้ต่อไปหรือไม่ เนื่องจากมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงการจ่ายบำเหน็จตอบแทนและเงินเดือน หากยังทำหน้าที่ต่อไปจะได้รับเงินเดือนหรือไม่
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ในกรณีดังกล่าวที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีได้วินิจฉัย ว่า คุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งแล้ว จึงได้ทำหนังสือถึงส่วนราชการทุกหน่วยงานให้รับทราบเรื่องดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความสับสนในการตรวจรับงาน
ทั้งนี้ ในระหว่างนายพิศิษฐ์ แถลงข่าว คุณหญิงจารุวรรณได้เดินเข้ามาในห้องแถลงและขอชี้แจง โดยยืนยันว่า การอยู่ในตำแหน่งไม่ได้ยึดติดอำนาจหน้าที่ แต่เพื่อต้องการรักษาความถูกต้องของกฎหมาย เนื่องจากต้องรักษาการในตำแหน่งไปจนกว่าจะมีการคัดเลือกผู้ว่าการ สตง.คนใหม่ได้แล้วเสร็จ และไม่ยอมรับการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจาก สตง.เป็นหน่วยงานอิสระ จึงขอให้นายพิศิษฐ์ ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นผู้ชี้ขาด เพราะเห็นว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีอำนาจชี้ขาดเรื่องดังกล่าว และเห็นว่านายพิศิษฐ์ไม่มีอำนาจรักษาการผู้ว่าการ สตง. เนื่องจากได้ลงนามยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง นายพิศิษฐ์ ให้รักษาการผู้ว่าการ สตง.
ขณะที่นายพิศิษฐ์ ยืนยันว่า หนังสือดังกล่าวไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะคุณหญิงจารุวรรณ ได้ลงนามหลังจากหมดวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้นำเอกสารต่าง ๆ มาแจกให้สื่อมวลชนรับทราบด้วย
ด้านคุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงปัญหาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. ของคุณหญิงจารุวรรณ ว่า กฤษฎีกาได้ส่งความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า คุณหญิงจารุวรรณ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.ไปแล้ว ดังนั้นหากคุณหญิงจารุวรรณ ลงนามในหนังสือหรือคำสั่งใด ๆ ที่เป็นเอกสาร ต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ขณะเดียวกันยังเห็นว่า หาก สตง.ยังมีปัญหา ควรยื่นให้ศาลปกครองวินิจฉัย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่.