หมอมาเตือนเอง แนะสังเกตกลิ่นปาก 5 ประเภท บางกลิ่นอาจเป็นสัญญาณมะเร็ง

หมอมาเตือนเอง แนะสังเกตกลิ่นปาก 5 ประเภท บางกลิ่นอาจเป็นสัญญาณมะเร็ง

หมอมาเตือนเอง แนะสังเกตกลิ่นปาก 5 ประเภท บางกลิ่นอาจเป็นสัญญาณมะเร็ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หมอออกมาเตือนเอง แนะสังเกต "กลิ่นปาก" 5 ประเภท อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรค กลิ่นบางชนิดอาจเป็นสัญญาณมะเร็ง

กลิ่นปากไม่ใช่เรื่องตลก หลายคนจึงพกหมากฝรั่งหรืออมลูกอมไว้เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้กลิ่นปากทำให้ความประทับใจลดลงเมื่อต้องพูดคุย แต่การแก้ปัญหาชั่วคราวไม่ใช่ทางออกถาวร หากมีกลิ่นปากเรื้อรังควรต้องให้ความสำคัญกับมันจริงจัง โดยแพทย์จากไต้หวันได้ระบุถึงกลิ่นปาก 5 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็เป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ ที่ควรเฝ้าระวัง

เว็บไซต์ HK01 รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ หวง เซียน แพทย์ชาวไต้หวัน ได้โพสต์ผ่านแฟนเพจของเขาว่า กลิ่นปากอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ เขาได้ระบุถึงกลิ่นปาก 5 ประเภท ที่แต่ละกลิ่นก็สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

1. กลิ่นเหมือนกำมะถัน

คุณหมอหวงระบุว่า กลิ่นปากเหมือนกำมะถันมักเกิดจากสารประกอบซัลไฟด์ ซึ่งมักพบในผู้ที่มีสุขอนามัยในช่องปากไม่ดี, โรคเหงือกอักเสบ หรือ โรคปริทันต์ เมื่อแบคทีเรียในช่องปากย่อยอาหารที่เหลือหรือเซลล์ที่ตายแล้วในปาก จะปล่อยก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ออกมา ทำให้เกิดกลิ่นเหมือนกำมะถัน การวิจัยยังพบว่า หากไม่รักษาโรคเหงือกอักเสบเรื้อรัง อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจได้อีกด้วย

2. กลิ่นเปรี้ยว

หากมีกลิ่นปากเปรี้ยว อาจเป็นสัญญาณของกรดไหลย้อน เมื่อกรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาถึงหลอดอาหารและถึงปาก จะทำให้เกิดกลิ่นเปรี้ยวในปาก ผู้ป่วยมักจะรู้สึกแสบร้อนที่กลางอกและไม่สบายในหลอดอาหาร หากมีอาการกรดไหลย้อนเรื้อรัง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้อีกด้วย

3. กลิ่นขม

หากมีกลิ่นปากขม อาจเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ตับ ผู้ป่วยโรคตับอาจมีอาการตัวเหลืองและน้ำดีคั่งไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะปล่อยกลิ่นขมเฉพาะออกมา บางการศึกษาชี้ว่า ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังมักมีอาการกลิ่นปากเกิดขึ้นบ่อยกว่าคนทั่วไป

4.กลิ่นผลไม้หวาน/กลิ่นผลไม้เน่า

หากมีการเปลี่ยนแปลงเป็นกลิ่นหวานหรือเหมือนผลไม้เน่า อาจเป็นสัญญาณของการเกิดภาวะกรดคีโตซิสในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงและขาดอินซูลิน การที่ร่างกายต้องสลายไขมันเพื่อสร้างคีโตนจะทำให้เกิดกลิ่นปากแบบนี้

5. กลิ่นคาวปลา

กลิ่นปากเหมือนกลิ่นคาวปลาอาจเกี่ยวข้องกับโรคทางเมตาบอลิซึมที่เรียกว่า Trimethylaminuria หรือ โรคกลิ่นคาวปลา ซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถเผาผลาญสารไตรเมทิลามีน (Trimethylamine) ในร่างกายได้ จึงทำให้ของเหลวในร่างกายและลมหายใจมีกลิ่นเหมือนคาวปลา โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ผู้ป่วยสามารถลดอาการได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร

นายแพทย์หวง เซียน ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า กลิ่นปากไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของการทำความสะอาดช่องปากไม่เพียงพอเท่านั้น แต่ยังอาจเผยให้เห็นถึงสัญญาณสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย การจดจำกลิ่นปากต่าง ๆ ทำให้เราตรวจพบและรักษาโรคที่อาจเกิดขึ้นได้เร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นเปรี้ยว ขม หรือกลิ่นคาว ร่างกายกำลังส่งสัญญาณถึงเรา

ทั้งนี้ หากพบว่ามีลมหายใจผิดปกติอย่างต่อเนื่อง ขอแนะนำให้ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุดเพื่อรักษาสุขภาพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook