ย้อนที่มา พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 ภาพคุ้นตาคนไทย ที่มีติดแทบทุกร้านอาหาร
วันปิยมหาราช ย้อนที่มา พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 ทรงทอดปลาทู ภาพคุ้นตาคนไทย ที่มีติดแทบทุกร้านอาหาร
เชื่อว่าคนไทยเกือบทั้งประเทศต่างเคยพบเห็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ เรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความอุ่น ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 ในขณะทรงโสร่งสบายๆ ประทับหน้าเตาถ่าน และทรงกำลังทำอะไรบางอย่างในกระทะด้วยพระองค์เอง ซึ่งพระบรมฉายาลักษณ์นี้ถือเป็นภาพมงคล ที่ร้านอาหารทั่วประเทศไทย รวมทั้งร้านอาหารไทยในต่างประเทศมักจะนำติดประดับไว้ในร้านเพื่อบูชาเสมอ และคนไทยไม่น้อยที่เชื่อกันว่า หากร้านใดมีภาพนี้ติดอยู่ การันตีได้ว่าเป็นคนไทยแท้ รสชาติถูกปากแน่นอน
ภาพนี้ถูกถ่ายไว้ได้ในขณะที่พระองค์ประทับ ณ บริเวณ พระตำหนักเรือนต้น อยู่ในพระราชวังดุสิต ริมบึงน้ำที่เรียกกันว่า "อ่างหยก" ตรงกันข้ามกับพระที่นั่งวิมานเมฆ และมีพระประสงค์จะเสวยปลาทู ซึ่งเป็นพระกระยาหารที่โปรดปรานอย่างมาก อีกทั้งจะหาใครทอดได้ถูกพระราชหฤทัยนั้นก็ยาก มีเพียงแต่เจ้าจอมเอิบเท่านั้นที่ทอดได้อร่อย ไม่เหม็นคาว
เรื่องนี้ถึงขั้นมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ สั่งให้รับเจ้าจอมเอิบออกไปทอดปลาทู เมื่อมีพระราชประสงค์จะเสวยพระกระยาหารแบบปิคนิคที่พลับพลาทุ่งพญาไท ว่า… “เรื่องทอดปลาทู ข้าอยู่ข้างจะกลัวมาก ถ้าพลาดไปแล้ว ข้ากลืนไม่ลง ขอให้จัดตั้งเตาทอดปลาที่สะพานต่อเรือนข้างหน้าข้างใน บอกกรมวังให้จัดรถให้นางเอิบออกไปทอดปลา”
แต่ ณ คราวนี้ ทรงลองทอดด้วยพระองค์เอง อีกทั้งยังรับสั่งให้เจ้าจอมเอิบสลับหน้าที่ไปเป็นช่างภาพ ฉายพระรูปเก็บเอาไว้ เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีข้าราชบริพารคนไหนใช้กล้องเป็นนัก มีแต่เพียงเจ้าจอมเอิบ พระสนมคนโปรดที่สามารถใช้กล้องและสามารถล้างรูปได้ด้วย
ประวัติเจ้าจอมเอิบ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงมีพระมเหสี, พระราชา และพระสนม ถึง 92 คน แต่ที่ทรงโปรดปรานมากที่สุดคนหนึ่งคือ เจ้าจอมเอิบ ผู้มีสิริโฉมงดงามและเก่งในหลายเรื่อง
เจ้าจอมเอิบ อยู่ในกลุ่มเจ้าจอมก๊ก อ. (คือพี่น้องมีชื่อด้วยพยัญชนะ อ) คือลูกสาวสกุลบุนนาค ที่ได้เป็นฝ่ายใน เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ซึ่งเป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ก่อนหน้านี้ท่านได้เป็นเจ้าเมืองเพชรบุรี เจ้าจอมเอิบได้รับเลือกเป็นนางมยุรฉัตรเข้าในกระบวนแห่โสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตร์สุขุมพันธุ์ เสร็จงานแล้วถวายตัวเป็นข้าฝ่ายใน พ.ศ.2434 ขณะนั้นอายุได้ 12 ปี และได้อยู่ในวังกับเจ้าจอมมารดาอ่อนผู้เป็นพี่สาวจนได้เป็นเจ้าจอม เนื่องจากเจ้าจอมเอิบนั้นเป็นผู้ที่มีสิริโฉมงดงามที่สุดในบรรดาพี่น้อง
กล่าวกันว่าท่านเจ้าจอมเอิบนั้นมีคุณสมบัติตรงตามตำราหญิงงามอันเป็นที่นิยมแห่งยุคสมัยนั้นทีเดียว กล่าวคือที่หน้าตาที่อ่อนหวานงดงามเยือกเย็น
กล่าวกันอีกว่าท่อนแขนของท่านเจ้าจอมเอิบนั้นงดงามกลมกลึงราวกับลำเทียน จึงเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพิเศษ ได้ตามเสด็จไปแปรพระราชฐานประพาสหัวเมืองเหนือ เมื่อ พ.ศ.2444 หรือไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน เมื่อ พ.ศ.2445 และเสด็จประพาสต้นเมื่อ พ.ศ.2447 เป็นผู้ถวายงานอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งสิ้นรัชกาล เช่นเดียวกับเจ้าจอมเอี่ยมผู้เป็นพี่สาวแท้ๆ