นักวิชาการ ระบุซิลเวอร์นาโน อาจเป็นพิษต่อร่างกาย
(27 ส.ค.) กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหัวข้ออภิปราย 'นาโนเทคโนโลยีกับความปลอดภัยต่อสุขภาพ' ปัจจุบันทั่วโลกพยายามนำเทคโนโลยีนาโนมาเป็นส่วนผสมที่ใช้กับผลิตภัณฑ์มากว่า 1,015 รายการ จากบริษัทผู้ผลิต 485 แห่ง และมากกว่า 54% ใช้วัสดุชนิดนาโนของซิลเวอร์หรือโลหะเงิน พบมากในผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคต่าง ๆ เช่นการบรรจุอาหาร สิ่งทอที่ต้านทานการเกิดกลิ่น อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมไปถึงผ้าปิดแผล
ทั้งนี้ 'ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี' นักวิชาการฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มมีการพูดถึง ความเสี่ยงในการใช้อนุภาคซิลเวอร์นาโนของผู้บริโภค เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าอนุภาคซิลเวอร์หรือโลหะเงินนั้นจะซึมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์เข้าสู่กระแสเลือดและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะซิลเวอร์นาโนอาจทำลายแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศด้วย
นอกจากนี้ยังมีวัสดุนาโนชนิดไทเทเนียมไดออกไซด์ ที่ใช้เป็นส่วนผสมของสารกันแดด เป็นตัวป้องกันแสงแดด ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของสารสีที่ปลอดภัยไม่ใช่สารมีพิษ อย่างไรก็ตามต้องศึกษาถึงผลดีผลเสียเพิ่มเติม เพื่อเราจะได้ใช้เทคโนโลยีนาโนได้อย่างปลอดภัย ดร.สุจิตรา กล่าวปิดท้าย
ด้าย 'ภญ.ลักษณา ลือประเสริฐ' ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เคมี) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันนาโนเทคโนโลยีมีความเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะในวงการธุรกิจและการประกอบการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตประเภทต่าง ๆ เช่นอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร และเครื่องสำอาง เป็นต้น ประชาชนจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงผลทั้งด้านดีและด้านเสียของนาโน และภาครัฐควรมีการกำหนดนโยบายในการควบคุมการพัฒนานาโนเทคโนโลยีให้เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค