รพ.จุฬาฯ จัดทีมแพทย์เริ่มรักษา “ปิ๊ก น้ำหวาน” แล้ว พบปัญหาสำคัญ 11 รายการ

รพ.จุฬาฯ จัดทีมแพทย์เริ่มรักษา “ปิ๊ก น้ำหวาน” แล้ว พบปัญหาสำคัญ 11 รายการ

รพ.จุฬาฯ จัดทีมแพทย์เริ่มรักษา “ปิ๊ก น้ำหวาน” แล้ว พบปัญหาสำคัญ 11 รายการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รพ.จุฬาฯ ระดมทีมแพทย์ร่วมวิเคราะห์และรักษาอาการ "ปิ๊ก น้ำหวาน" พบปัญหาสำคัญ 11 รายการ เช่น โรคอ้วนขั้นรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วน และแผลกดทับบริเวณก้นกบและสะโพก คณะแพทย์ให้การรักษาเบื้องต้น ติดตั้งเครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพต่างๆ ให้ออกซิเจนทางจมูก และจำกัดปริมาณอาหารที่รับประทาน ให้มีปริมาณวันละ 1,000 กิโลกรัมแคลอรี ผู้ป่วยรู้ตัวดี

รพ.จุฬาลงกรณ์ แจ้งความคืบหน้าอาการ นายอรรณพณ แดงค้ำคุณ หรือ ปิ๊ก น้ำหวาน คนไข้ในพระอุปถัมภ์ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งพักรักษาอยู่ห้องไอซียูอายุรกรรม ตึกคัคณางค์ (ชั้น 3) ของโรงพยาบาลว่า รศ.นพ.สมพงษ์ สุวรรณวลัยกร รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริการ รพ.จุฬาฯ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคต่อมไร้ท่อ พร้อมด้วยคณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้ร่วมดูแลรักษา ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ได้แก่ อายุรแพทย์ เฉพาะทางด้าน โรคต่อมไร้ท่อ - โรคปอด - โรคหัวใจ - โรคโลหิตวิทยา - โรคตับและทางเดินอาหาร - โรคโภชนาการ - โรคความผิดปกติของการนอนหลับ และ ศัลยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน การผ่าตัดสำหรับโรคอ้วน - รังสีแพทย์ และ "แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู" ได้ร่วมกันวิเคราะห์และให้การรักษาผู้ป่วย รวมทั้ง ฝ่ายการพยาบาล ที่ได้ร่วมมือจัดทำจัดเตียงขนาดใหญ่พิเศษ พร้อมห้องพักและทีมพยาบาลสำหรับผู้ป่วยรายนี้

ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยรายนี้ ได้แก่ 1.โรคอ้วนในขั้นรุนแรง ( Morbid Obesity ) ซึ่งหมายถึง การมีปริมาณไขมันในร่างกายมาก จนเกิดโทษต่อร่างกาย อันจะเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ง่าย ปัจจุบัน ใช้เกณฑ์น้ำหนักตัว โดยมี ค่าดัชนีมวลน้ำหนัก ( BMI ) มากกว่า 30 kg/m2 (น้ำหนักแท้จริงของผู้ป่วยรายนี้ ยังไม่สามารถชั่งโดยตรงได้ แต่คาดว่าไม่ต่ำกว่า 320 กิโลกรัม ) 2.ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วนที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะหายใจไม่พอ โดยปอดมีการเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ เป็นเหตุให้เกิด ภาวะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่งค้างในเลือด และก๊าซออกซิเจนในเลือดมีปริมาณลดลง 3.ภาวะความดันโลหิตในปอดสูง ซึ่งเป็นผลมากจากภาวะขาดก๊าซออกซิเจนในเลือดเป็นเวลานาน 4.ภาวะหัวใจหัวใจวายซีกขวา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจาก ภาวะความในโลหิตในปอดที่สูงเป็นเวลานาน จนเป็นเหตุให้ตัวบวม 5.ภาวะซีด โลหิตจาง 6.แผลกดทับบริเวณก้นกบและสะโพก 7.กล้ามเนื้ออ่อนแรง 8.การทำงานของตับผิดปกติ มีน้ำดีคั่งในกระแสเลือด 9.การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ แข็งตัวช้ากว่าปกติ 10.สงสัยว่าจะมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำของร่างกายท่อนล่างและ 11.สงสัยว่าจะมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด

คณะแพทย์ให้การรักษาเบื้องต้นด้วยการติดตั้งเครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพต่างๆ ได้แก่ ความดันชีพจร คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด และ อัตราการหายใจ เป็นต้น กับทั้งยังได้ ให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วยทางจมูก เพื่อรักษาระดับออกซิเจนในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม มีการให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำ และจำกัดปริมาณอาหารที่รับประทาน ให้มีปริมาณวันละ 1,000 กิโลกรัมแคลอรี นอกจากนี้ ยังให้การพยาบาล ด้วยการพลิกตัวผู้ป่วย เพื่อป้องกันภาวะแผลกดทับ

สำหรับสภาพผู้ป่วยขณะปัจจุบันรู้ตัวดี,ถามตอบได้ แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพักนอนหลับ เริ่มเคลื่อนไหว แขนขาได้มากขึ้น มีกำลังมากขึ้น หายใจได้ลึกขึ้น รู้สึกเบื่ออาหาร ทานได้น้อย โดยวันนี้ ( 30 ส.ค.) คณะแพทย์ได้ดำเนินการ ติดตามผล พร้อมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และ การรักษาต่างๆ ได้แก่ การตรวจติดตามการทำงานของตับ การตรวจติดตามการแข็งตัวของเลือด การตรวจภาวะการหายใจ และนอนกรน ( Sleep test ) การรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง และการใช้เตียงลม เพื่อป้องกันแผลกดทับ สำหรับแผนการรักษาในขั้นต่อไป จะดำเนินการส่งตรวจ " MRI " ของ สมอง - ช่องทรวงอก - ช่องท้อง การประเมินภาวะลิ่มเลือดอุดตัน การเตรียมการผ่าตัดกระเพาะอาหารด้วยการส่องกล้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook