เปิดประวัติศาสตร์ "มะแขว่น" สมุนไพรล้านนา ก่อนมาเป็นอาวุธลับพระสนมใน "แม่หยัว"
เปิดประวัติศาสตร์ "มะแขว่น" สมุนไพรล้านนา สู่อาหารตำรับชาววัง ก่อนมาเป็นอาวุธลับพระสนมใน "แม่หยัว"
หากใครได้ดูซีรีส์ แม่หยัว ใน EP.3 จะมีการพูดถึง "สมุนไพร" ที่นำมาใส่น้ำพริก ทำให้พระสนมตกเลือดจนแท้ง เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการขับเลือด ซึ่งสมุนไพรที่ว่านั้นคือ "มะแขว่น"
มะแขว่น เป็นพืชสมุนไพรของร้อน สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลว่า มีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปเอเซียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงคาบสมุทรอินโดจีน และเกาะต่างๆในทวีปนี้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินีตอนใต้ ส่วนในประเทศไทยพบมากในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ในพื้นที่สูงประมาณ 200-1000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ต้องการอากาศค่อนข้างเย็น
มะแขว่น ถือเป็นราชาเครื่องเทศของล้านนา เป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นของจังหวัดภาคเหนือหลายจังหวัด ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดน่าน ถึงกับมีการ จัดงานมะแขว่นขึ้นทุกปี มะแข่วนมีความต้องการใช้ในการบริโภคประจำวันโดยเป็น เครื่องเทศหรือเป็นส่วนประกอบของอาหารพื้นเมืองภาคเหนือหลากหลายชนิด ผลผลิต มะแขว่น ได้จากทั้งการเก็บจากป่า และการปลูกที่แพร่หลายไปไม่น้อย
มะแขว่นเป็นไม้ขนาดกลาง สูงประมาณ 5-10 เมตร มีหนามอยู่รอบลำต้นและ กิ่ง ต้นอ่อนจะมีสีแดงแกมเขียว ลักษณะของใบเป็นใบประกอบ แต่ละใบจะมีใบย่อย 10-25 ใบ ช่อดอกเป็นช่อแบบกลุ่มย่อย มีสีขาวอมเทายาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียอยู่คนละต้น ผลมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร เปลือกของ ผลสีเขียวเมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผลแก่จัดจะแตกออก เมล็ดกลมเรียบ เมื่อแก่ จัดจะมีสีดำเข้มเป็นมัน มีกลิ่นหอมฉุนคล้ายผักชี มีรสเผ็ดเล็กน้อย เป็นพืชตระกูลเดียวกับ พริกไทยเสฉวน ส่วนผสมที่ใช้ในการทำหม่าล่า
องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน
สรรพคุณทางยาแผนโบราณ
ใช้รากและ เนื้อไม้เป็นยาขับลมในลำไส้ ลมขึ้นเบื้องสูง ทำให้หน้า มืดตาลาย วิงเวียน ลดความดัน เป็นยาขับโลหิตระดูของสตรี แต่ไม่ใช้กับหญิงมีครรภ์ ใบแก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน เมล็ดสามารถสกัดน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน บำรุง โลหิต บำรุงหัวใจ ขับลม การใช้ในตำรายาจีน แก้ปวด ท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาเจียน แก้ท้องเสีย และแก้อาการปวดไส้เลื่อน
ประโยชน์ทางอาหาร
ใบอ่อนกินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกปลาร้า ลาบ ก้อย ผลแห้ง ใช้เป็นเครื่องเทศผสมกับลาบ หลู้ ยำต่างๆ และเป็นเครื่องแกงแค ใส่เป็น เครื่องผสมแกงอ่อมไก่ แกงอ่อมเนื้อ ดับกลิ่นคาวทำให้ มีกลิ่นหอมรับประทานอร่อยมาก โดยเฉพาะหากใครเป็นช่างคนสังเกตและชอบรับประทานกุ้งอบวุ้นเส้น จะพบว่ามีเม็ดดำๆถูกใส่ผสมลงไปด้วย ซึ่งหลายคนมักจะเข้าใจว่าเป็นเม็ดพริกไทยดำ เพราะจะมีกลิ่นหอมและเผ็ดร้อนเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วคือเมล็ดแห้งของมะแขว่นชาวจีนนิยมใช้ปรุงอาหาร แทนพริกไทยดำอย่างกว้างขวาง นิยมเรียกในหมู่คนจีนว่า พริกหอม หรือ ชวงเจียว มีขายตามร้านเครื่องยาจีนทั่วไป ในประเทศมาเลเซีย อินเดีย และพม่า ใช้เมล็ดแห้งของมะแขว่นเป็นเครื่องเทศปรุงอาหารอย่างแพร่ หลาย ชาวเขาบนดอยสูงของประเทศ ไทยจะรู้จักมะแขว่นเป็นอย่างดี
สรรพคุณทางสมุนไพร
ใบ ขยี้อุดฟันแก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน เมล็ดกินแก้ลมวิงเวียน บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ ขับ ปัสสาวะ บำรุงธาตุ ถอนพิษฟกบวม แก้หนองใน รากกับเนื้อไม้ต้มน้ำดื่มขับลมในลำไส้ แก้ลมเบื้องบน หน้ามืดตาลาย วิงเวียน และขับระดู
มะแขว่น ในประวัติศาสตร์
มะแขว่น หรือ บ่าแขว่น มะแข่น ภาคกลางเรียก หมากแคน ลูกระมาด มะหมากมาด มีความเป็นมาช้านานในตำรับอาหารล้านนา แต่ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่มีการบันทึกเกี่ยวกับเครื่องเทศชนิดนี้เอาไว้
กาพย์เห่ชมเครื่องว่าง บทพระราชนิพนธ์ ร.6 กล่าวตอนหนึ่งว่า
“ขนมจีบเจ้าช่างทำ ทั้งน้ำพริกมะหมาดแกม
มะเฟืองเป็นเครื่องแกล้ม รสเหน็บแนมแช่มชูกัน”
น้ำพริกมะหมาดหรือลูกหมากมาด ใช้ลูกหมากมาดมาบดละเอียดเป็นเครื่องปรุง เป็นตำรับที่พระราชชายาดารารัศมี เจ้าหญิงจากเมืองเหนือนำมาเผยแพร่ ซึ่ง ร.5 ทรงโปรดนำไปเป็นเสบียงเสวยเมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปด้วย
น้ำพริกเผาปลากุเลาลูกหมากมาด เป็นอาหารขึ้นหน้าขึ้นตาของชาววัง ปรากฏอยู่ใน “ตำราอาหารของหลานแม่ครัวหัวป่าก์ จีบ บุนนาค” ส่วน หนังสือเรื่อง “น้ำพริก” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านกล่าวถึงไว้ในตอนท้ายว่า “ผมเองเคยรับประทานน้ำพริกเผาลูกมะมาดของแม่บางที่ตลาดบางลำพูมาเป็นเวลาช้านาน แต่เดี๋ยวนี้ก็หารับประทานไม่ได้เสียแล้ว เพราะใครไม่ทราบไปชวนแม่บางให้ลงทุนสร้างภาพยนตร์ไทย น้ำพริกเผาก็เลยหารับประทานไม่ได้มาจนบัดนี้”