เกิดอะไรขึ้น? นักวิจัยกังวล เกาหลีใต้ กำลังเผชิญภาวะวิกฤต "กิมจิ" หายไปจากประเทศ
สำนักข่าว รอยเตอร์ส รายงานว่า คุณภาพและปริมาณของกะหล่ำปลีในเกาหลีใต้ ที่นำมาใช้ทำเมนูยอดนิยมอย่าง "กิมจิ" กำลังลดลง จากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
กิมจิ กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนักวิทยาศาสตร์, เกษตรกร และ ผู้ประกอบอาหาร ต่างกล่าวว่า คุณภาพและปริมาณของกะหล่ำปลีดองที่นำมาทำเป็นอาหารยอดนิยมนี้กำลังลดลง เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น
เนื่องจากกะหล่ำปลีจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่เย็นกว่า และมักปลูกในพื้นที่ภูเขา ซึ่งอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญในการปลูกกะหล่ำปลีนั้นแทบจะไม่เคยสูงเกิน 25 องศาเซลเซียส
แต่การศึกษาแสดงให้เห็นว่า สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามพืชผลเหล่านี้อย่างมาก จนทำให้เกาหลีใต้อาจไม่สามารถปลูกกะหล่ำปลีได้ในอนาคตจากความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น
อี ยอง-กยู นักพยาธิวิทยาพืชและนักไวรัสวิทยา กล่าวว่า "เราหวังว่าคำทำนายเหล่านี้จะไม่เป็นจริง กะหล่ำปลีชอบสภาพอากาศเย็นและปรับตัวให้เข้ากับช่วงอุณหภูมิที่แคบมาก อุณหภูมิที่เหมาะสมคือระหว่าง 18 ถึง 21 องศาเซลเซียสเท่านั้น"
ในไร่นาและในครัว ทั้งเชิงพาณิชย์และในครัวเรือน เกษตรกรและผู้ผลิตกิมจิต่างสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยมีการทำกิมจิจากผักชนิดอื่นๆ เช่น หัวไชเท้า, แตงกวา และ ต้นหอม แต่ที่ได้รับความนิยมยังคงเป็นกิมจิที่ทำจากกะหล่ำปลี
อี ฮา-ยอน ผู้ได้รับตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านกิมจิจากกระทรวงเกษตร อธิบายถึงผลกระทบของอุณหภูมิที่สูงขึ้นว่า รากของกะหล่ำปลีจะเละและเน่าเสีย
เธอเสริมว่า "หากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป เราอาจต้องเลิกทำกิมจิกะหล่ำปลีในช่วงฤดูร้อน"
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติของรัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่า พื้นที่ปลูกกะหล่ำปลีบนที่สูงในปีที่แล้วมีพื้นที่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว โดยลดลงจาก 8,796 เฮกตาร์ (เกือบ 55,000 ไร่) เหลือเพียง 3,995 เฮกตาร์ (เกือบ 25,000 ไร่)
ขณะที่ตามรายงานของสำนักงานพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านการเกษตรของรัฐ ระบุว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดการณ์ว่า พื้นที่เพาะปลูกจะลดลงอย่างมากภายใน 25 ปีข้างหน้า เหลือเพียง 44 เฮกตาร์ (275 ไร่) และภายในปี 2090 จะไม่มีการปลูกกะหล่ำปลีบนพื้นที่สูงอีกเลย
นักวิจัยระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้น ฝนตกหนักที่คาดเดาไม่ได้ แมลงศัตรูพืชที่ควบคุมได้ยากขึ้น และฤดูร้อนที่อบอุ่นและยาวนานขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้พืชผลลดลง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมกิมจิของเกาหลีใต้ ซึ่งเดิมทีกำลังต่อสู้กับการนำเข้ากิมจิราคาถูกจากจีนอยู่แล้ว
ข้อมูลศุลกากรที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 ก.ย. แสดงให้เห็นว่า การนำเข้ากิมจิจากต่างประเทศจนถึง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2024 เพิ่มขึ้น 6.9% เป็น 98.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 พันล้านบาท) ในปีนี้ ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากจีน ทำให้นักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งพัฒนาพันธุ์กะหล่ำปลีที่สามารถเติบโตได้ในสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น และทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและการติดเชื้อ
เกษตรกรอย่าง คิม ซี-กัป วัย 71 ปี ที่ทำงานในไร่กะหล่ำปลีทางตะวันออกของคังนึงมาตลอดชีวิต กลัวว่าพันธุ์กะหล่ำปลีเหล่านี้จะมีราคาแพงกว่า และอาจมีรสชาติที่ไม่ค่อยดี เผยว่า "เมื่อเราเห็นรายงานที่บอกว่า ในอนาคตจะมีช่วงเวลาที่เกาหลีใต้ไม่สามารถปลูกกะหล่ำปลีได้อีกต่อไป มันเป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่าเศร้าในเวลาเดียวกัน"
"กิมจิกำลังจะกลายเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถนำมาเสิร์ฟบนโต๊ะได้อีกแล้ว เราจะทำอย่างไรหากสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง?"
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ