เมื่อลูกกำลังเล่น คุณเป็นพ่อแม่สไตล์ไหน?

เมื่อลูกกำลังเล่น คุณเป็นพ่อแม่สไตล์ไหน?

เมื่อลูกกำลังเล่น คุณเป็นพ่อแม่สไตล์ไหน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การดูแลลูกขณะที่ลูกกำลังเล่น น่าจะเป็นกิจกรรมที่พ่อแม่เคยมีประสบการณ์กันมาแล้วทั้งนั้น และเป็นช่วงเวลาที่หลายคนแอบกระซิบมาว่า ภายใต้ความสนุกโลดโผนของคุณลูก อาจจะเป็นช่วงเวลาแห่งความว้าวุ่นของพ่อแม่อยู่ก็เป็นได้ แต่ถ้าลองสังเกตดู ก็อาจจะพบว่า  แต่ละบ้านก็มีสไตล์การดูแลในขณะที่ลูกกำลังเล่นแตกต่างๆกัน ซึ่งวิธีการพูดและปฏิบัติในสถานการณ์นั้นๆ ของพ่อแม่สามารถส่งผลต่อวิธีการเล่นและสิ่งที่ลูกจะได้รับจากการเล่นได้นะ

อยากรู้มั้ยว่าคุณเป็นพ่อแม่สไตล์ไหนเวลาที่ปล่อยให้ลูกเล่น มาลองตอบคำถามข้างล่างนี้กันดีกว่า

●     เมื่อถึงเวลาที่ลูกเลือกว่าจะเล่นอะไรดี คุณจะ

พ่อแม่สไตล์ห่วง : ห่วงการตัดสินใจของลูก ก็เลยช่วยเลือกให้

พ่อแม่สไตล์ปล่อย: ปล่อยตามใจให้ลูกเลือกเล่นเองเต็มที่

พ่อแม่สไตล์สนับสนุน: ปล่อยให้ลูกเลือกเองก่อน แล้วพ่อแม่ค่อยช่วยเสริม

●     เมื่อเห็นลูกเล่นอะไรที่ดูเสี่ยง เช่น ปีนต้นไม้ คุณจะ

พ่อแม่สไตล์ห่วง : ห่วงความปลอดภัยเลยรีบห้ามไม่ให้ปีน

พ่อแม่สไตล์ปล่อย: ปล่อยให้ลูกทำไปเลย ไม่เคยห้าม

พ่อแม่สไตล์สนับสนุน: ไม่ห้าม แต่คอยสังเกตและช่วยเหลือเมื่อจำเป็น

●     เมื่อลูกเกิดปัญหาขณะเล่น เช่น หกล้ม หรือทะเลาะกัน คุณจะ

พ่อแม่สไตล์ห่วง: รีบเข้าไปช่วยและแก้ปัญหาให้ทันที

พ่อแม่สไตล์ปล่อย: ไม่เข้าไปยุ่ง ไม่ต้องแนะนำอะไร

พ่อแม่สไตล์สนับสนุน: รอดูวิธีแก้ปัญหาของลูกก่อนแล้วค่อยให้คำแนะนำ

สถานการณ์เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ให้คุณลองทบทวนว่า โดยส่วนใหญ่คุณจะเลือกวิธีการใด ซึ่งถ้าลองจัดกลุ่มคำตอบของทั้งสามตัวเลือกนี้ เราจะเห็นลักษณะของพ่อแม่ 3 สไตล์  ไม่ว่าจะเป็น  สไตล์ห่วง  สไตล์ปล่อย และ สไตล์สนับสนุน ที่แตกต่างกัน

แต่ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่สไตล์ไหน เชื่อว่าสิ่งที่ทุกบ้านน่าจะมีเหมือนกันก็คือความตั้งใจที่อยากให้เด็กๆ ได้เติบโตมาแข็งแรง มีความสุข  มีพัฒนาการสมวัย มีทักษะการเรียนรู้ที่ดี   ซึ่งช่วงเวลาการเล่นของลูกจะได้สิ่งเหล่านี้มาเต็มๆ ได้ หากคุณพ่อคุณแม่ช่วยสนับสนุน “การเล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์” ให้ลูกได้เลือกเล่นในแบบที่ตัวเองสนใจ ได้ออกแบบเอง กำหนดเองว่าเขาอยากเล่นอะไร จะเล่นอย่างไร เพื่อให้เด็กมีความคิดริเริ่ม ได้ลอง ได้เรียนรู้ ได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง จนเกิดทักษะการคิดและทำให้รู้จักตัวเอง โดยพ่อแม่ก็ยังคงอยู่ใกล้ๆ คอยช่วยสนับสนุนแนะนำ แต่ไม่ชี้นำหรือคอยห้ามคอยกำกับ

และไม่ว่าคำตอบของคุณจะออกมาเป็นพ่อแม่สไตล์ไหน เราก็สามารถปรับและเสริมอีกนิด เพื่ออัปเกรดให้เป็นพ่อแม่ในสไตล์ของตัวเองที่ช่วยสนับสนุนให้ลูกได้เล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์ได้

พ่อแม่สไตล์ห่วง

เสริมอีกนิดเพื่ออัปเกรด

คุณพ่อคุณแม่สไตล์นี้มักจะมีความห่วงใย ใส่ใจ คอยช่วยเหลือดูแลลูกอยู่เสมอ ซึ่งเป็นเรื่องดีมากๆ ที่คุณให้ความสำคัญกับลูกและมีช่วงเวลาคุณภาพกับลูก แต่บางครั้งก็อาจจะเผลอเข้าไปช่วยเหลือ หรือคิดแทนลูกมากจนเกินไป หรือห่วงใยมากไป จนเผลอดุเผลอห้ามอยู่บ่อยๆ จนลูกไม่ได้ฝึกทักษะการตัดสินใจ การแก้ปัญหาด้วยตัวเอง รวมถึงการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

●     ถอยห่างออกมาสักหน่อย เปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกเองและสร้างสรรค์การเล่นของตัวเอง

●     ลองปล่อยให้ลูกเล่นอย่างอิสระ โดยตั้งข้อกำหนดในการเล่นร่วมกันก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการเล่นที่ปลอดภัย

●     เมื่อลูกเกิดปัญหาควรรอดูการตัดสินใจแก้ปัญหาของลูกก่อน ไม่รีบเข้าไปช่วยหรือชี้นำคำตอบให้ทันที

●     เปลี่ยนการห้ามการดุ เป็นคำพูดเชิงบวกเพื่อจะได้ไม่ขัดขวางกระบวนการคิดสร้างสรรค์

พ่อแม่สไตล์ปล่อย

เสริมอีกนิดเพื่ออัปเกรด

คุณพ่อคุณแม่สไตล์นี้มักจะให้ความสำคัญกับความมีอิสระเสรีของลูก ปล่อยให้ลูกเล่นเต็มที่แบบไม่มีข้อห้ามหรือข้อจำกัด  ข้อดีก็คือลูกได้ฝึกทักษะการคิดสร้างสรรค์และการตัดสินใจต่าง ๆ อย่างเต็มที่ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ถ้าเผลอปล่อยมากไป ไม่ได้อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็กได้

●     ขยับเข้าไปใกล้อีกนิด ให้อิสระได้ แต่ก็ต้องอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ เพื่อจะได้ช่วยเหลือแนะนำในยามจำเป็น หรือบางทีลูกอาจจะอยากได้กำลังใจ หรือตัวช่วย หรือยากชวนพ่อแม่เล่นด้วยกัน คุณจะได้เข้าไปได้ในจังหวะที่เหมาะสม

●     อย่าลืมว่า คำว่าอิสระมาพร้อมกับการตั้งข้อกำหนดร่วมกันกับลูกก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการเล่นที่ปลอดภัย ทั้งกับตัวเอง และไม่รบกวนผู้อื่น 

พ่อแม่สไตล์สนับสนุน

เสริมอีกนิดเพื่ออัปเกรด

คุณพ่อคุณแม่สไตล์นี้จะมีแนวทางเดียวกับการเล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์ คือ ปล่อยให้เด็กเล่นอย่างที่เขาอยากเล่น แต่ก็ยังอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่ โดยพ่อแม่คอยสังเกตอยู่ใกล้ๆ เปิดโอกาสให้ลูกได้คิดด้วยตัวเองก่อน แล้วค่อยแนะนำช่วยเหลือเมื่อเห็นว่าจำเป็น ถึงห่วง แต่ก็ปล่อย และคอยสนับสนุน

 

●     เตรียมสภาพแวดล้อมที่พร้อมสำหรับการเล่นอิสระไม่ว่าจะเป็นการพาไปพื้นที่ธรรมชาติให้เล่นกับสนามกว้างได้เล่นดินเล่นทราย หรือเตรียมวัสดุอุปกรณ์ไว้สำหรับการเล่นภายในบ้าน เช่น ลังกระดาษ หรือวัสดุเหลือใช้ต่างๆ

●     ช่วยส่งเสริมศักยภาพของลูกให้เพิ่มขึ้นได้ด้วยการตั้งคำถามปลายเปิดให้ลูกคิดต่อยอดในแต่ละสถานการณ์

●     สังเกตว่าลูกชอบอะไร และ คอยสนับสนุนอุปกรณ์ กำลังใจ หรือข้อมูล  เพื่อให้ลูกได้ต่อยอดไอเดียตามความชอบและความสนใจ ได้เติมเต็มศักยภาพจากการเล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์

และหากพ่อแม่ผู้ปกครองอยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์ หรือ Free Play และวิธีส่งเสริมพัฒนาการและทักษะต่างๆให้กับลูกผ่านการเล่น เรียนรู้ได้ที่ คลิก https://creativehealthcampaign.thaihealth.or.th/microsite/healthyfamily/children/08003/content/4223?cx_trackid=UWr4PLtI9TepCBTRao3V&utm_source=website

 กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส  เพิ่มเติมได้ที่ :

Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.
Line : @thaihealththailand
Tiktok: @thaihealth
Youtube: SocialMarketingTH
Website : Social Marketing Thaihealth

 

[Advertorial]

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook