เปิดประวัติ "พีท เฮกเซธ" จากห้องส่งรายการทีวีสู่ "ว่าที่ รมต.กลาโหม" สหรัฐฯ

เปิดประวัติ "พีท เฮกเซธ" จากห้องส่งรายการทีวีสู่ "ว่าที่ รมต.กลาโหม" สหรัฐฯ

เปิดประวัติ "พีท เฮกเซธ" จากห้องส่งรายการทีวีสู่ "ว่าที่ รมต.กลาโหม" สหรัฐฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เสนอชื่อให้ พีท เฮกเซธนักจัดรายการช่องข่าว Fox News ผู้ที่เคยอยู่ในกองทัพและได้เหรียญรางวัลของทหาร ให้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ คนต่อไป

การเลือกเฮกเซธ ในครั้งนี้ไม่ได้ถูกคาดหมายมาก่อนจากผู้ติดตามการเมืองสหรัฐฯ จำนวนมาก โดยหน้าที่ดังกล่าวมาพร้อมกับความรับผิดชอบบริหารกองทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

เฮกเซธ ผู้ที่อยู่ในหน่วยเนชันนัลการ์ดของกองทัพบกสหรัฐฯ และเป็นพิธีกรรายการ “Fox and Friends” ช่วงสุดสัปดาห์ สร้างความเป็นที่รู้จักจากการส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ว่าเขาต้องการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในกระทรวงกลาโหม

พิธีกรรายนี้เคยกล่าวว่า เขาต่อต้านนโยบายในกองทัพที่ส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียมกัน และความคำนึงถึงคนทุกภาคส่วน ภายใต้ชื่อโครงการ DEI โดยกล่าวว่าเป็นวาระของพวก "โว้ค" (woke) ที่มักเป็นคำเรียกเชิงตำหนิต่อแนวคิดด้านความหลากหลายทางสังคมของฝ่ายเสรีนิยม

เฮกเซธ ตั้งคำถามถึงบทบาทของผู้หญิงในภารกิจการรบ ซึ่งเป็นงานที่เปิดรับให้สตรีทำได้ในปี 2016 หรือ 8 ปีก่อน ตั้งเเต่นั้นมาผู้หญิงปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยรบ หลังผ่านการทดสอบที่ยากลำบากเช่นเดียวกับผู้ชาย ซึ่งรวมถึงในหน่วย Green Berets ตลอดจนArmy Rangers ในกองทัพบก และ combat-craft crewman ของกองทัพเรือ

ว่าที่ รมต.กลาโหม ผู้นี้ เรียนจบมหาวิทยาลัยระดับท็อปของสหรัฐฯ คือพรินซ์ตันและฮาร์เวิร์ด และเขียนหนังสือ “The War on Warriors” หรือ สงครามต่อนักรบ ซึ่งในงานเขียนนี้เขากล่าวโทษโครงการ DEI ในกองทัพว่าก่อให้เกิดวิกฤตในการรับคนเข้าเป็นทหาร

เขาเขียนว่า "มันมีเลสเบี้ยน (หญิงรักหญิง) ไม่มากพอจากซานฟรานซิสโก ที่อยากเข้าร่วมกับหน่วย Airborne ที่ 82 ไม่ใช่เเค่ไม่มีเลสเบียนมาร่วมงาน การโฆษณางานแบบนั้น ทำให้ผู้ชายที่อายุน้อย รักชาติและเป็นชาวคริสต์ ซึ่งปกติจะรับหน้าที่เหล่านั้น ไม่อยากมาร่วมงานด้วย"

Terry Wyatt / Getty Images

เฮกเซธ ยังเคยส่งสัญญาณว่าอาจดำเนินการต่อผู้นำทางทหารที่สนับสนุนโครงการ DEI เช่น พลเอกซีคิว บราวน์ ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วม

พิธีกรจากช่อง Fox News ผู้นี้เคยบอกกับผู้จัดรายการอีกคนหนึ่ง ชอน ไรอัน ในปีนี้ด้วยว่า "ก่อนอื่นเลย คุณต้องไล่ผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมออก" รวมทั้ง "นายพลคนใดก็ตามที่เกี่ยวข้อง"

เฮกเซธ เคยร่วมสงครามอิรัก และอัฟกานิสถาน รวมทั้งไปทำงานที่อ่าวกวนตานาโม เขาพยายามผลักดันให้กองทัพมีศักยภาพทำลายล้างรุนเเรงมากขึ้น

ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ชมเชยเขาว่า "เข้มแข็ง ฉลาดและเชื่ออย่างแน่วแน่ในเรื่องอเมริกาต้องมาก่อน"

ทั้งนี้ พีท เฮกเซธจะต้องได้รับการอนุมัติจากเสียงส่วนใหญ่ของวุฒิสภา ก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม โดยในเวลานี้พรรครีพับลิกันได้เสียงข้างมากอยู่ อย่างน้อย 3 ที่นั่ง

แหล่งข่าวที่เคยทำงานในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะออกนาม แสดงความชื่นชมต่อความทุ่มเทของเฮกเซธที่มีให้กับกองทัพสหรัฐฯ และทหารผ่านศึกอเมริกัน

อดีตเจ้าหน้าที่ของเพนตากอนรายนี้บอกกับวีโอเอว่า เฮกเซธ "จะต่อสู้เพื่อ (ทหารอเมริกัน) เพราะเขาใส่ใจอย่างมาก"

แหล่งข่าวรายอื่น ๆ ของวีโอเอเเสดงความประหลาดใจต่อการเลือกเฮกเซธมารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม

ก่อนหน้านี้ หลายคนคาดว่าทรัมป์จะเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นเจ้ากระทรวงเพนตากอนจากกลุ่มบุคคลที่คุ้นกับงานด้านความมั่นคงแห่งชาติ และมีตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น สส.ไมค์ โรเจอร์ จากรัฐแอละบามาที่เคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการกิจการเพื่อกองทัพ หรือ สว. ที่เป็นสมาชิกคณะทำงานด้านนี้จากวุฒิสภา เช่น โจนี เอิร์นสต์ จากรัฐไอโอวา และทอม คอตตอนจากอาร์คันซอ โดย สว. ทั้งสองเคยทำงานในกองทัพมาก่อน

ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมอเมริกัน มีเจ้าหน้าที่รวมกันกว่า 2 ล้าน 5 แสนคน และน่าจะใช้งบประมาณปีนี้มากกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์

ในสมัยแรกของการเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ เขามีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับรัฐมนตรีกลาโหม โดยพลเอกจิม แมตทิส เจ้ากระทรวงกลาโหมคนแรกของทรัมป์ ลาออกเพื่อประท้วงวิธีปฏิบัติของทรัมป์ต่อพันธมิตรสหรัฐฯ และไม่เห็นด้วยกับการที่ทรัมป์ตัดสินใจถอนทหารทั้งหมดออกจากซีเรีย

ต่อมา รัฐมนตรีกลาโหมมาร์ค เอสเปอร์ในรัฐบาลทรัมป์ ก็เคยวิจารณ์ทรัมป์ว่า "ไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง" ประธานาธิบดี

ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เพิ่งผ่านมา ทรัมป์บอกกับนักจัดรายการพอดเเคสต์โจ โรแกนว่า ความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดของเขาคือการแต่งตั้ง "คนไม่ดี" มาร่วมรัฐบาล ซึ่งรวมถึงพวก "นีโอคอน" หรืออนุรักษ์นิยมสมัยใหม่

เฮกเซธเคยเป็นผู้อำนวยการบริหาร กลุ่ม Concerned Veterans for America ที่ได้รับการสนับสนุนจากนักธุรกิจตระกูลโค้ค (Koch) ที่ต้องการแปรรูปกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกให้เป็นเอกชนมากขึ้น เขาจึงมักถูกพูดถึงก่อนหน้านี้ว่าอาจได้รับการเสนอชื่อเป็นเจ้ากระทรวงดังกล่าวช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook