โฆษก ทร. แจงเหตุเรือรบเมียนมา ยิงเรือประมงไทย เร่งประสานช่วยเหลือ 4 คนไทยที่ถูกจับ

โฆษก ทร. แจงเหตุเรือรบเมียนมา ยิงเรือประมงไทย เร่งประสานช่วยเหลือ 4 คนไทยที่ถูกจับ

โฆษก ทร. แจงเหตุเรือรบเมียนมา ยิงเรือประมงไทย เร่งประสานช่วยเหลือ 4 คนไทยที่ถูกจับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โฆษก ทร. แจงเหตุเรือรบเมียนมา ยิงเรือประมงไทย จับกุมลูกเรือ เร่งประสานปล่อยตัว 4 คนไทย

พลเรือเอก พาสุกรี วิลัยรักษ์  โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยถึงกรณี เรือรบเมียนมาใช้อาวุธต่อเรือประมงไทย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ทัพเรือภาคที่ 3 / ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 ได้รับแจ้งจากเรือมหาลาภธนวัฒน์ 4 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เวลา 00.45 น. ว่าขณะที่เรือกำลังทำการประมง ร่วมกับกลุ่มเรือประมงบริเวณพื้นที่ ด้านทิศตะวันตกของเกาะพยาม จังหวัดระนอง กลุ่มเรือประมงได้ถูกเรือรบเมียนมาทำการใช้อาวุธ

โดยตัวเรือได้รับความเสียหายน้ำเข้าเรือปริมาณมาก และมีผู้บาดเจ็บ จำนวน 2 คน โดยเรือรบเมียนมาได้เข้าจับกุมเรือประมงไทยจำนวน 1 ลำ คือ เรือ ส เจริญชัย 8 โดยมีลูกเรือจำนวน 31 คน ถูกจับกุมไปยังเกาะย่านเชือกประเทศเมียนมา 

ในการนี้ ทัพเรือภาคที่ 3 โดย พลเรือโท สุวัจ ดอนสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่  3 ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 ได้สั่งการให้ เรือ ต.274 ให้การช่วยเหลือเรือประมงที่ได้รับความเสียหายรวมถึง เข้าค้นหาและช่วยเหลือลูกเรือประมง ดวงทวีผล 333 ที่ได้รับบาดเจ็บ และพลัดตกน้ำ ซึ่งผลการค้นหาพบว่ามีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย  คาดว่าเกิดจากการสำลักน้ำขณะโดดน้ำหนี และผู้รับบาดเจ็บสองราย คือ นายศรีเพ็ชร อายุ 44 ปี ทำหน้าที่ ไต๋เรือ มหาลาภธนวัฒน์ 4 ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ และลูกเรือชาวเมียนมาไม่ทราบชื่อ ได้รับบาดเจ็บจากการ ถูกกระแสไฟฟ้าช็อตตามร่างกาย

โดยได้นำผู้บาดเจ็บทั้ง 2 ราย  มาส่งท่าเทียบเรือน้ำลึก จ.ระนอง เพื่อเข้าทำการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดระนองต่อไป โดยมอบให้ศูนย์ประสานงานชายแดนทางทะเลไทยเมียนมา ส่งกำลังพลเข้าไปร่วมสังเกตการณ์และช่วยเหลือในการนำส่ง  
   
โดยสรุป ได้ช่วยเหลือเรือประมงทั้งหมดจำนวน 2 ลำ ประกอบด้วย เรือดวงทวีผล 333 มีลูกเรือ 29 คน ( เสียชีวิต 1 คน ) และ เรือมหาลาภธนวัฒน์ 4 มีลูกเรือ 33 คน (บาดเจ็บ 2 คน) 

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า ในส่วนของ การดำเนินการในขั้นตอนต่อไปคือการประสานงานตามกลไกของคณะกรรมการ ในการเจรจานำเรือและลูกเรือประมงกลับสู่ประเทศไทย โดยในส่วนของ ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3  ได้สั่งการให้ ศูนย์ประสานงานประมงชายแดนทางทะเลไทย - เมียนมา ติดต่อประสานงานกับ ผู้บังคับการสถานีเรือ 58  เกาะย่านเชือก ประเทศเมียนมา เพื่อติดตามสถานการณ์เรือประมงและลูกเรือที่ถูกจับกุม ซึ่งทราบว่าเรือรบเมียนมาได้ดำเนินการจับกุมเรือประมงไทยจำนวน1 ลำจริง   

โดยทางการเมียนมากล่าวอ้างว่ามีกลุ่มเรือประมง จำนวนประมาณ 15 ลำ เข้าไปทำการประมงในเขตน่านน้ำเมียนมา และจากการตรวจสอบพบว่า เรือประมงทั้ง 15 ลำ เป็นเรือจาก อ.คุระบุรี จ.พังงา ที่เข้ามาหากินทำการประมงในเขตน่านน้ำของ จ.ระนอง ซึ่งอาจไม่ชำนาญพื้นที่บริเวณดังกล่าว

ทั้งนี้ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจทหารราบที่ 25/ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย - เมียนมา จังหวัดระนอง (ประธาน TBC ฝ่ายไทย) จะมีการประชุมร่วมกับกับคณะกรรมการชายแดนไทยส่วนท้องถิ่นไทย - เมียนมา จังหวัดเกาะสอง (ประธาน TBC ฝ่ายเมียนมา) เพื่อพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงที่ถูกจับกุม พร้อมทั้งขอให้ปล่อยตัวลูกเรือสัญชาติไทยทั้ง 4 คนพร้อมเรือประมงกลับประเทศไทย นอกจากนี้เลขานุการ TBC ฝ่ายไทย ได้มีการประสานงานทางข้างไปยังเลขานุการ TBC ฝ่ายเมียนมาแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานกับผู้บัญชาการยุทธศาสตร์ จังหวัดเกาะสอง

โฆษกกองทัพเรือกล่าวต่อไปว่า ทัพเรือภาคที่ 3  ยังคงจัดกำลัง ลาดตระเวนในพื้นที่ และยืนยันการรักษาอธิปไตยในน่านน้ำไทย เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับชาวประมงที่ทำกินโดยสุจริต โดยศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 ได้เพิ่มเติมกำลังโดย จัดเรือ ต.993  ออกเรือลาดตระเวนในพื้นที่ เพื่อรักษาความปลอดภัยในเขตน่านน้ำไทย กับให้ หน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ที่ 451   ทำการตรวจการณ์  พลอตเป้าติดตามเรือในพื้นที่ และทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป้าให้กับเรือที่ปฏิบัติการในพื้นที่เพื่อแจ้งเตือนให้กลุ่มเรือประมงในพื้นที่ได้รับทราบและหลีกเลี่ยงการทำการประมงในพื้นที่ที่อาจไม่ปลอดภัย พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ

โดยประสานให้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประชาสัมพันธ์จังหวัดระนอง ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดระนอง ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดระนอง  สมาคมประมงจังหวัดระนอง  รวมถึงเครือข่ายประมงในพื้นที่  ประชาสัมพันธ์ให้เรือประมงไทย ทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย โดยไม่เข้าไปทำการประมงในพื้นที่ที่มีความความเสี่ยงเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิด  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook