หมอมาเตือนเอง 7 พฤติกรรมกิน "หม้อไฟ" ที่ทำร้ายไต มี 3 ไตก็เอาไม่อยู่
เปิด 7 พฤติกรรมกินหม้อไฟ ที่หมอเตือนว่าเป็น "ระเบิดเวลา" ต่อสุขภาพไต มี 3 ไตก็เอาไม่อยู่
นพ.หง หย่งเซียง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต ชาวไต้หวัน ได้ออกมาเตือนเรื่องการกินหม้อไฟพร้อมพฤติกรรมเสี่ยง 7 อย่าง อาจทำให้ "มีถึง 3 ไตก็ยังไม่พอ" พฤติกรรมที่ว่าคือ ชอบหม้อไฟรสเผ็ดร้อน ซอสเข้มข้นติดมัน ชอบกินบุฟเฟต์หม้อไฟ กินนานแถมดื่มน้ำซุปเยอะ ใช้ภาชนะปนกันระหว่างอาหารดิบและสุก อิ่มจนจุกแต่ยังต้องกินเส้นกับไอศกรีม และแม้กระทั่งการเก็บน้ำซุปกลับไปต้มต่อที่บ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็น "ระเบิดเวลา" ต่อสุขภาพไต
นพ.หง ได้รวบรวม 7 พฤติกรรมเสี่ยงจากการกินหม้อไฟที่ส่งผลร้ายต่อไต มีดังนี้
ระเบิดเวลา 1 : หม้อไฟหมาล่า
น้ำซุปหมาล่าไม่ได้มีเพียงพริกเป็นส่วนประกอบหลักเท่านั้น แต่ยังมีการใส่น้ำสต็อก เครื่องยาจีน รวมถึงเครื่องปรุงเข้มข้นอย่างซาซาจัง ผงกะหรี่ ชีส เนย และเต้าหู้ยี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้น้ำซุปมีปริมาณโซเดียมสูง ไขมันอิ่มตัวสูง และแคลอรีสูง โดยแคลอรีในน้ำซุปหนึ่งชามอาจสูงถึง 800 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่าข้าวสวย 3 ถ้วย
นอกจากนี้ หากดื่มน้ำซุปหมาล่าเพียง 2 ชาม ปริมาณโซเดียมจะพุ่งสูงถึง 4,942 มิลลิกรัม ซึ่งเกินกว่าค่าแนะนำต่อวันอย่างมหาศาล ส่งผลกระทบต่อไตอย่างรุนแรง และทำให้หม้อไฟหมาล่าถูกจัดให้เป็นตัวการทำร้ายไตอันดับหนึ่งในบรรดาน้ำซุปทั้งหมด
ระเบิดเวลา 2: ชอบเติมซอสเข้มข้น
แค่น้ำซุปและวัตถุดิบในหม้อไฟก็ทำให้ปริมาณแคลอรี ไขมัน โซเดียม และน้ำตาลพุ่งสูงอยู่แล้ว หากยังเลือกซอสปรุงรสเข้มข้น เช่น ซาซาจัง ซอสงา ซอสเต้าหู้ ซอสสลัด หรือซอสถั่วเหลือง และเติมหลายครั้งในมื้อเดียว ยิ่งสะสมเป็นระยะเวลานาน ไตก็ต้องรับภาระหนักจนเสื่อมสภาพได้ในที่สุด
ดังนั้นการเลือกซอสควรยึดหลัก "ยิ่งเบายิ่งดี" ซอสที่มีรสอ่อน เช่น ซีอิ๊วบางๆ น้ำส้มสายชูดำ น้ำส้มสายชูขาว สามารถเติมได้อย่างสบายใจ หรือเลือกเครื่องปรุงจากธรรมชาติ เช่น ต้นหอม กระเทียมสับ ผักชี หัวไชเท้าขูด หรือหอมใหญ่สับ ก็เป็นตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า
ระเบิดเวลา 3: ชอบกินหม้อไฟแบบบุฟเฟต์
มีการสำรวจพบว่า การกินหม้อไฟบุฟเฟต์ในมื้อเดียวสามารถรับแคลอรีสูงถึง 3,900 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่าข้าวสวย 14 ถ้วย หากกินแบบนี้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง อาจน้ำหนักขึ้นถึง 5.3 กิโลกรัมเลยทีเดียว
นอกจากแคลอรีจะสูงลิ่ว ปริมาณโซเดียมในมื้อบุฟเฟต์หม้อไฟยังพุ่งถึง 6,600 มิลลิกรัม ซึ่งมากเกินกว่าที่ร่างกายควรได้รับในหนึ่งวัน เมื่อกินเสร็จ หลายคนมักแก้กระหายด้วยน้ำหวานหรือเบียร์ ซึ่งไม่เพียงทำร้ายไตอย่างหนัก แต่ยังเสี่ยงให้เกิดอาการโรคเกาต์กำเริบอีกด้วย
ระเบิดเวลา 4: กินหม้อไฟนานเกินไป
การต้มหม้อไฟนานๆ โดยเติมวัตถุดิบและปล่อยให้น้ำเดือดต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำซุปมีความเข้มข้นของสารตกค้างเพิ่มขึ้น ทั้งสารเติมแต่งอาหาร โซเดียม โลหะหนัก ฟอสเฟต และไนเตรต โดยเฉพาะไนไตรต์ที่ความเข้มข้นจะเริ่มพุ่งสูงหลังผ่านไป 30 นาที และหากต้มต่อเกิน 90 นาที ความเข้มข้นอาจเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า
ไนไตรต์ในปริมาณเกินขนาดสามารถทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน อาการรวมถึงภาวะขาดออกซิเจนและหายใจลำบาก นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ไนไตรต์จะถูกแบคทีเรียในลำไส้ย่อยสลายจนกลายเป็นไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่อาจนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงมะเร็งตับ ลำไส้ และกระเพาะอาหาร
ยิ่งหากกินหม้อไฟไปพร้อมกับดื่มแอลกอฮอล์ ไตก็จะต้องทำงานหนักเกินขีดจำกัด เสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร
ระเบิดเวลา 5: ใช้ภาชนะเดียวกันสำหรับอาหารดิบและสุก
หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์ท้องเสียหลังจากกินหม้อไฟหมาล่า ซึ่งนอกจากความเผ็ดจัดและปริมาณไขมัน โซเดียม น้ำตาลที่สูงเกินไปแล้ว พฤติกรรมการกินที่ไม่สะอาดก็เป็นสาเหตุสำคัญ เช่น การกินอาหารดิบที่ยังไม่สุก การใช้ตะเกียบหรือช้อนเดียวกันสำหรับอาหารดิบและสุก หรือไม่ใช้ตะเกียบกลางและช้อนกลางในการแบ่งอาหาร
ทุกครั้งที่เกิดอาการท้องเสียหรือกระเพาะอาหารอักเสบ ไม่เพียงแต่ระบบทางเดินอาหารที่ได้รับความเสียหาย แต่ไตยังต้องทำงานหนักในการควบคุมน้ำและสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ ทำให้การอักเสบในระบบทางเดินอาหารกลายเป็นภาระหนักต่อไต และก่อให้เกิดความเสียหายระยะยาวได้
ดังนั้นควรแยกอุปกรณ์สำหรับอาหารดิบและสุกให้ชัดเจน รวมถึงใช้ช้อนกลางและตะเกียบกลางทุกครั้ง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ
ระเบิดเวลา 6: ต้องจบหม้อไฟด้วยบะหมี่หรือไอศกรีม
แม้จะอิ่มจนแน่น แต่หลายคนยังยืนยันว่าหม้อไฟจะไม่สมบูรณ์หากไม่ได้เติมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป วุ้นเส้น หรือปิดท้ายด้วยไอศกรีม 2 ลูก ซึ่งเพียงบะหมี่ 1 ชามกับไอศกรีม 2 ลูกก็เทียบเท่ากับพลังงาน 1 มื้อเต็ม นอกจากแคลอรีที่เกินจำเป็นแล้ว บะหมี่ที่ดูดซับน้ำซุปที่ต้มมานานกว่า 2 ชั่วโมงซึ่งเต็มไปด้วยสารเคมีตกค้างและโซเดียม จะเพิ่มภาระให้กับไตอย่างหนัก
การต้มหม้อไฟนานเกินไปไม่เพียงเพิ่มความเข้มข้นของสารตกค้างในน้ำซุป แต่การบริโภคในปริมาณมากยังส่งผลต่อระบบย่อยอาหารและไตอย่างรุนแรง การปิดท้ายด้วยไอศกรีมที่มีน้ำตาลสูงก็ยิ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับร่างกายโดยไม่จำเป็น
ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการเติมอาหารที่ดูดซับน้ำซุปมากเกินไปในช่วงท้าย และเลือกจบมื้อด้วยของเบาๆ เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า
ระเบิดเวลา 7: เก็บน้ำซุปหม้อไฟกลับไปต้มต่อ
นอกจากเสี่ยงต่อการปนเปื้อนแบคทีเรียจากอาหารที่ทานแล้ว น้ำซุปหม้อไฟยิ่งต้มนานก็ยิ่งไม่เหมาะสำหรับดื่ม ยังคิดจะเก็บกลับไปต้มต่ออีกหรือ?