สสช.เผยปี 53 ข้าราชการไทยมีหนี้เฉลี่ยครัวละกว่า 870,000 บาท
สสช.เผยปี 53 ครอบครัวข้าราชการทุกประเภทและระดับตำแหน่ง มีหนี้สินเฉลี่ยครัวละกว่า 872,388 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 49 ที่มีหนี้สินเฉลี่ยเพียง 657,449 บาท
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยถึงผลสำรวจภาวะการครองชีพของข้าราชการพลเรือนสามัญประจำปี 2553 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากข้าราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทุกประเภทและระดับตำแหน่งที่ตกเป็นตัวอย่างทั่วประเทศ รวม 12,886 ราย ไม่รวมข้าราชการประเภททั่วไป ระดับทักษะพิเศษ พบว่า ครอบครัวข้าราชการทุกประเภทและระดับตำแหน่ง มีหนี้สินร้อยละ 84.1 ของจำนวนครอบครัวข้าราชการทั้งหมด โดยมีหนี้สินเฉลี่ย 872,388 บาท ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2549 ที่มีจำนวนครอบครัวข้าราชการที่เป็นหนี้เพียงร้อยละ 81.6 และมีหนี้สินเฉลี่ยเพียง 657,449 บาท
ส่วนรายได้นั้นมีเฉลี่ยเพียงเดือนละ 43,650 บาท ขณะที่มีรายจ่ายเฉลี่ยเดือนละ 32,386 บาท เมื่อเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน พบว่าครอบครัวข้าราชการมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าค่าใช้จ่าย และทั้งรายได้และค่าใช้จ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือรายได้เพิ่มจาก 36,276 บาท ในปี 2549 เป็น 41,139 บาท ในปี 2551 และเพิ่มเป็น 43,650 บาท ในปี 2553 ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มจาก 30,223 บาท ในปี 2549 เป็น 32,411 บาท ในปี 2551 ส่วนปี 2553 ลดลงเล็กน้อย คือ 32,386 บาท ขณะที่หนี้สินต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 18.1 เท่า ในปี 2549 เป็น 20 เท่า ในปี 2553
ทั้งนี้ จากผลสำรวจยังพบว่าครอบครัวข้าราชการต้องการให้รัฐเพิ่มเงินเดือนเป็นสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 91.9 รองลงมา คือ ต้องการให้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานเอกชนได้ มีสัดส่วนร้อยละ 47.8 โดยสามารถเบิกได้ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก อีกร้อยละ 44.4 ต้องการให้เพิ่มค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับการเดินทางไปราชการ และ ร้อยละ 44 ต้องการให้ยกเลิกค่าเช่าบ้านแต่ให้ได้รับเงินช่วยเหลือเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยแทน และยังต้องการให้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลโดยวิธีจ่ายตรงไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน การจัดโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อที่อยู่อาศัย และการเบิกเงินช่วยเหลือการศึกษาบุตรเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าเล่าเรียน เป็นต้น